รีเซต

แบงก์Q3กำไรลดลง41% หวั่นสึนามิNPLถล่มQ4

แบงก์Q3กำไรลดลง41% หวั่นสึนามิNPLถล่มQ4
ทันหุ้น
1 ตุลาคม 2563 ( 08:00 )
242
แบงก์Q3กำไรลดลง41% หวั่นสึนามิNPLถล่มQ4

ทันหุ้น -สู้โควิด –สำรวจงบแบงก์ไตรมาส 3/2563 คาดกำไรสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 41% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 19% จากไตรมาสก่อน นำโดย KBANK-BBL-KKP-TISCO เพราะไตรมาส 2/2563 มีการตั้งสำรองฯ เผื่อไปแล้ว จับตาไตรมาส 4  มีโอกาสที่ทุกธนาคารจะกลับมาเร่งตั้งสำรองเพิ่มเติมอีก เหตุเห็นสัญญาณ NPL ของลูกหนี้ที่ชัดเจนมากขึ้นหลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือ

 

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุถึง คาดกำไรสุทธิรวมไตรมาส 3/2563 ของกลุ่มธนาคารจะอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 41% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 19% จากไตรมาสก่อน ซึ่งการลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน เกิดจาก 1.การตั้งสำรองฯ ที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง เพราะธนาคารจะเร่งตั้งสำรองฯ เพิ่มก่อนที่จะหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงเดือนตุลาคม และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมากกว่าคาด,

 

2.รับผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเต็มไตรมาส และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รวมถึง Soft Loan ซึ่งทำให้ NIM มีการปรับตัวลดลง และ 3.มีกำไรพิเศษจากการขาย SCBLife ในช่วงไตรมาส 3/2562 จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท

 

*เติบโตจากไตรมาสก่อน

 

ขณะที่การเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เกิดจาก BBL และ KBANK มีการตั้งสำรองฯที่ลดลงเพราะไตรมาส 2/2563 ตั้งสำรองฯ ในระดับที่สูงมากราว 1.3.-2 หมื่นล้านบาท จากระดับปกติที่ 5-8 พันล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 3/2563 คาดว่า BBL และ KBANK จะยังตั้งในระดับสูงที่ราว 0.8-1.2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากที่มีการคลายล็อคดาวน์ ทำให้ Banassurance และกองทุนรวมเพิ่มขึ้นได้

 

ทั้งนี้ กำไรสุทธิไตรมาส 3/2563 คาดว่าไม่มีธนาคารไหนที่เติบโตได้จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่มีธนาคารที่เติบโตได้จากไตรมาสก่อน คือ KBANK, BBL, KKP และ TISCO เพราะไตรมาส 2/2563 มีการตั้งสำรองฯ เผื่อไปแล้ว แต่อย่างไรก็ดี คาดว่าในไตรมาส 4/2563 มีโอกาสที่ทุกธนาคารจะกลับมาเร่งสำรองฯ เพิ่มเติมอีกเพราะจะเห็นสัญญาณของลูกหนี้ที่ชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่หมดมาตรการช่วยเหลือ

 

*ภาพรวมสินเชื่อยังโต

 

ภาพรวมของสินเชื่อไตรมาส 3/2563 คาดว่า จะเติบโตได้ 6.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 0.2% จากไตรมาสก่อนหรือ +5.6% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทำให้ไม่มีการชำระหนี้คืน ประกอบกับสินเชื่อเช่าซื้อมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากงาน Motor Show ในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ธนาคารเริ่มหันมาปล่อยสินเชื่อบ้านเพิ่มมากขึ้นเพราะความเสี่ยงน้อย แต่สินเชื่อรายใหญ่มีการชำระคืนออกมาบ้างในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน

 

ในส่วนของ NPLs รวมในไตรมาส 3/2563 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.61% จากไตรมาส 2/2563 ที่ 3.44% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นไม่มากแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง เพราะมีมาตรการ ธปท. ช่วยเหลือโดยยังไม่นับลูกหนี้ที่ไม่จ่ายหนี้ช่วง 6 เดือนนี้ (เม.ย.-ต.ค.63) เป็น NPLs นอกจากนี้เชื่อว่า หลายธนาคารจะกลับมาเร่ง Write-Off และขาย NPLs อย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมไม่ให้ NPLs เพิ่มขึ้นมากเกินไป อย่างไรก็ดีคาดว่า NPLs จะเร่งตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส1/2564 หลังจากมาตรการช่วยเหลือจาก ธปท. หมดลง

 

*BBL ราคาพื้นฐาน 120 บ.

 

ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนเป็น “เท่ากับตลาด” แม้ว่า Valuation จะถูกเทรดที่ระดับเพียง 0.4-0.5 เท่า ต่ำสุดในรอบ 15 ปี แต่หลังหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้คาดว่าจะเกิดหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น และจะเห็น NPLs ทำจุด Peak ในช่วงไตรมาส 1/2564 ทำให้เชื่อว่าราคาหุ้นของกลุ่มธนาคารในระยะ 1- 3 เดือนนี้จะยังอยู่ในระดับต่ำแบบนี้ต่อไป โดยคาดว่า Timing ที่ดีในการเข้าซื้อน่าจะเป็นช่วง NPL ทำจุด Peak ในช่วงไตรมาส 1/2564

 

ทั้งนี้ ยังคงเลือก BBL เป็น Top pick ในการลงทุนระยะยาว ราคาเป้าหมายที่ 120.00 บาท อิง PBV ปี 2563 ที่ 0.53 เท่า(-2SD below 10-yr average PBV) จาก 1.ความแข็งแกร่งด้านงบดุล, 2.มีความเสี่ยงต่ำและมีความต้านทานต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้ดีจาก Coverage ratio ที่สูงที่สุดในกลุ่มที่ระดับ 171% ทำให้มี Downside ต่ำจากการสำรองฯที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นในปีนี้เหมือนธนาคารอื่นๆ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง