ด่วน! มติศาลรธน.ไฟเขียว ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ วางเงื่อนไขทำประชามติ 2 ครั้ง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 มีนาคม ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ คำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1)
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาจากคำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) สืบเนื่องจากที่ประชุมรัฐสภา มีมติด้วยเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เห็นชอบให้พิจารณาญัตติด่วนที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เสนอให้รัฐสภาพิจารณา เพื่อขอมติให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง ( 2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256(1)
ประกอบกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ผู้เกี่ยวข้อง คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรธ. ทำความเห็นเป็นหนังสือต่อกรณีปัญหาดังกล่าว เสนอต่อศาลเพื่อมาประกอบการวินิจฉัย รวมทั้งคาดว่าจะมีการพิจารณาคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำและความเห็นต่อศาล เป็นข้อมูลรวม 7 หน้า เพื่อยืนยันว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) บัญญัติไว้ชัดเจน ว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สำหรับประเด็นที่ทำให้ประธานรัฐสภา ต้องส่งเรื่องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นกรณีสมาชิกรัฐสภามีความเห็นต่างกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่ากรณีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่าง หรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นสามารถทำได้ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2562 ไม่ได้กำหนดให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติเพียงให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็คือการแก้ไขเป็นรายมาตราเท่านั้น