รีเซต

ฮือฮา! พายุงวงช้างโผล่กลางทะเลตราด

ฮือฮา! พายุงวงช้างโผล่กลางทะเลตราด
TNN ช่อง16
11 เมษายน 2564 ( 16:16 )
629
ฮือฮา! พายุงวงช้างโผล่กลางทะเลตราด

วันที่ 11 เมษายน 2564ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น.ของวันนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ awirut mameechai โพสต์คลิปวิดีโอ เป็นวินาทีที่พายุงวงช้างก่อตัวขึ้นกลางทะเลตราด ห่างชายฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นเวลานานกว่า 30 นาที 


จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปสอบถามทราบชื่อว่า นาย อวิรุทธ์ มามีชัย อายุ 32 ปี เจ้าของเพจเกาะกระดาดอันซีนไทยแลนด์ทะเลตราด เป็นผู้โพสต์คลิปวิดีโอดังกล่าว นายอวิรุทธ์ บอกว่า เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ผ่านมา มีพายุงวงช้างก่อตัวอยู่กลางทะเลตราด ห่างจากฝั่ง 1 กิโลเมตร ใกล้เคียงกับบ้านอ่าวช่อ ต.อ่าวใหญ่ อ.เมือง จ.ตราด ตนจึงหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาบันทึกภาพไว้ ซึ่งขณะถ่ายอยู่นั้นชาวบ้านที่อยู่ปลายสะพานต่างก็วิ่งหนีออกมา เนื่องจากพายุได้เคลื่อนตัวเข้ามาใกล้ชายฝั่ง ผ่านไป 30 นาที พายุงวงช้างได้สลายตัวลงกลางทะเลตราด หลังจากนั้นได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก


พายุงวงช้าง เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ มักจะเกิดขึ้นในทะเล จะเห็นบ่อยกว่าในแหล่งน้ำจืด มีลักษณะเหมือนงวงช้างสีดำขนาดใหญ่เชื่อมต่อระหว่างท้องฟ้ากับผืนน้ำ ทำให้น่ากลัว ส่วนใหญ่ที่พบมีความยาวประมาณ 10-600 เมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ตั้งแต่ 1-10 เมตร ช่วงเวลาที่เกิดจะมีฝนฟ้าคะนองร่วมด้วย โดยลักษณะที่ปรากฎอาจเห็นงวงช้างเพียงอันเดียว หรือจะเกิดพร้อมกันหลายอันก็ได้ หมุนด้วยอัตราความเร็ว 20-80 เมตรต่อวินาที สามารถเคลื่อนที่ได้แต่ช้า ถ้าความเร็วลมในพายุมีสูงก็อาจทำให้เรือเล็กๆ ล่มได้ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ควรหนีไปในทิศทางตรงกันข้ามกับพายุ แต่ที่เคยเกิดในประเทศไทย ยังไม่พบความอันตราย 


เหตุการณ์นี้จะปรากฎอยู่ประมาณ 2-30 นาที จากนั้นก็จะสลายตัวไปในอากาศอย่างรวดเร็ว ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นจากความแตกต่างของอุณหภูมิอากาศที่กระจายอยู่ในบริเวณเดียวกันเป็นหย่อม ๆ และอุณหภูมิที่แตกต่างกันเหล่านั้นถูกดูดเข้าไปอยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งมากเป็นพิเศษ ทำให้อากาศที่อยู่ติดกับผืนน้ำยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้อากาศโดยรอบไหลเข้ามาแทนที่ จึงเกิดลมพัดวนบิดเป็นเกลียวขึ้นไปในบริเวณที่มวลอากาศเย็นเคลื่อนผ่านเหนือผิวน้ำที่อุ่นกว่า เมื่ออากาศขยายตัว และเย็นลงจนถึงจุดหนึ่ง ไอน้ำก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำจำนวนมาก ทำให้เราเห็นเหมือนพายุหมุน มีลักษณะคล้ายงวงช้าง เชื่อมผืนน้ำและเมฆ



เครดิตภาพ awirut mameechai

ข่าวที่เกี่ยวข้อง