อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ผู้เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพ ทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมที่มีส่วนสำคัญที่เปลี่ยนแปลงพัฒนาชีวิตประจำวันให้เข้าโลกาภิวัตน์ในทางที่ดีขึ้น สะดวกขึ้น ประหยัดต้นทุนขึ้นมากมาย แน่นอนว่าชีวิตที่ผ่านมาของไอน์สไตน์ต้องไม่ธรรมดา แนวความคิดที่ผ่านมาในชีวิตของเขาเองก็ไม่ได้ราบรื่นไปซะทุกเรื่อง ไอน์สไตน์จึงตกผลึกข้อคิดเตือนใจออกมาในรูปของคำคม หรือ Quote หลากหลายหมวด ทันตแพทย์สม สุจีรา ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวม Quote ดังกล่าวแล้วขยายความให้เข้ากับบริบทชีวิตของคนไทยมากขึ้น นี่คือหนังสือแนวจิตวิทยาประยุกต์อีกเล่มหนึ่งที่อ่านง่าย อ่านสนุกและได้สาระทางความคิดได้ดีเลยครับ ความประทับใจและแนวคิดที่ได้ภายในเล่ม A new idea comes suddenly and in a rather intuitive way, but intuition is nothing but the outcome of earlier intellectual experience. ความคิดใหม่ๆจะเกิดขึ้นทันทีทันใด และมักจะมาโดยการหยั่งรู้ แต่การหยั่งรู้ไม่ใช่อะไรหรอก มันเป็นมาจากประสบการณ์แห่งปัญญา ซึ่งมีมาก่อนหน้านั้น การหยั่งรู้ในมุมมองของไอน์สไตน์ ไม่ได้มาจากญาณวิเศษ แต่เกิดจากประสบการณ์ต่างๆ ที่สะสมมาในอดีต ปกติเซลล์สมองหนึ่งเซลล์สามารถส่งสัญญาณติดต่อไปยังเซลล์สมองอื่นๆ รายรอบได้ประมาณ 1,000-20,000 เซลล์ และเซลล์รายรอบแต่ละตัวก็ส่งต่อไปให้อีกนับหมื่นเซลล์เช่นกัน ประสบการณ์ตรงสามารถช่วยเพิ่มร่างแหใยประสาทให้แผ่ออกไปได้มากที่สุด ยิ่งเซลล์สมองมีการเชื่อมต่อกันมากเท่าใด การคิดแบบองค์รวมก็จะเกิดขึ้นมากเท่านั้น และแปลผลออกมาเป็นการหยั่งรู้ ผลลัพธ์ที่ออกมาอธิบายไม่ได้ในเชิงตรรกะ จนบางครั้งดูเหมือนเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ เช่น การหยั่งรู้อนาคต หรือการหยั่งรู้จิตใจคน เป็นต้น ทฤษฎีทางจิตวิทยาของกลุ่มเกสตัลท์ อธิบายว่า การหยั่งรู้จะเกิดภายหลังการหยั่งเห็น เคยมีการทดลองนำกล้วยมาวางไว้ห่างจากกรุงลิงมากแล้วนำไม้ท่อนสั้นวางไว้ในช่วงที่มือลิงเอื้อมถึง ส่วนไม้ท่อนยาววางไว้ห่างไกลออกไป ปรากฏว่าลิงบางตัวหยั่งเห็น มันคว้าไม้ท่อนสั้นไปเขี่ยไม้ท่อนยาวเข้าหาตัว แล้วจับไม้ท่อนยาวนั้นเขี่ยกล้วยเข้ามา ในขณะที่ลิงส่วนใหญ่นั่งมองกล้วยตาละห้อย สำหรับในทางพุทธศาสนา การหยั่งรู้เกิดจากจิต จิตเก็บข้อมูลไว้อย่างมหาศาล แต่จะแสดงผลออกมาได้ก็ต่อเมื่อสมองหยุดคิด การหยั่งรู้บางอย่างหาเหตุผลอธิบายไม่ได้ เช่น ทำไมบางคนเก่งคณิตศาสตร์ ศิลปะหรือดนตรี แต่กำเนิด มีคำถามว่าทำไมคอมพิวเตอร์ถึงไม่มีการหยั่งรู้ ทั้งๆ ที่คอมพิวเตอร์มีความสามารถในการเก็บข้อมูลเหนือกว่ามนุษย์มาก นั่นก็เพราะการหยั่งรู้ต้องเป็นผลมาจากประสบการณ์แห่งปัญญาซึ่งมาจากจิต พระพุทธองค์ทรงบรรลุสัพพัญญุตญาณ จากการเพ่งพินิจพิจารณาจิต แล้วความลับที่ซ่อนอยู่ก็เปิดเผยออกมา Curiosity is more important than knowledge. ความอยากรู้อยากเห็นสำคัญกว่าความรู้ ไอน์สไตน์ยืนยันว่า ความอยากรู้อยากเห็นคือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการศึกษา ถ้าครูสามารถสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นในตัวนักเรียนได้ก็ไม่จำเป็นต้องสอนวิชาความรู้ เพียงแต่แนะแนวทางในการหาข้อมูล และช่วยอธิบายเมื่อมีคำถามเท่านั้นเอง เช่น นักเรียนที่สงสัยมากว่าทําไมพระอาทิตย์จึงส่องแสงได้ เขาก็จะพยายามขวนขวายหาคำตอบในเชิงลึกเกี่ยวกับปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น และรู้สึกสนุกไปกับการเรียนรู้นั้น ความอยากรู้อยากเห็นคือเชื้อเพลิงชั้นดีของจินตนาการในประเทศที่พัฒนาแล้ว นักเรียนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองมีความสนใจในเรื่องอะไรจะยังไม่ลงเรียนคณะที่เป็นวิชาชีพในระดับมหาวิทยาลัย บางคนยอมเสียเวลาเดินทางรอบโลกหลายปีเพื่อค้นหาตัวเอง บางคนออกมาทำงานก่อน จนแน่ใจแล้วว่าอยากรู้อยากเห็นในเรื่องใด จึงลงทะเบียนเรียนในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป ด้วยเหตุนี้นักศึกษาในตะวันตกจึงมีช่วงอายุที่กว้างมาก เราจะเห็นนักศึกษาอายุ 30 ปีขึ้นไปจำนวนมาก และบางคนเมื่อเรียนไปได้ปีสองปีแล้วขอหยุดเรียนเพื่อไปค้นหาตัวเองก็มี The more I learn, the more I realize how much I don't know. ยิ่งผมเรียนรู้มากขึ้นผมก็ยิ่งตระหนักว่าสิ่งที่ผมไม่รู้นั้นมีมากมายเพียงใด ขงจื้อเคยกล่าวไว้ว่า “ความรู้มีจำกัด แต่ความไม่รู้หามีจำกัดไม่สอดคล้องกับที่ไอน์สไตน์บอกว่า “สองสิ่งที่หาที่สิ้นสุดไม่ได้คือ จักรวาลกับความโง่ของมนุษย์ แต่ผมไม่แน่ใจนักกับสิ่งแรก เมื่อกำลังสติปัญญาสูงขึ้น เราจะยิ่งเห็นรายละเอียดของจักรวาลมากขึ้นนักฟิสิกส์ยุคนิวตันเชื่อว่าพวกเขารู้ทุกสิ่งในจักรวาลแล้วในยุคนั้นพ่อแม่ไม่ต้องการให้ลูกเรียนเป็นนักฟิสิกส์ เนื่องจากชีวิตคงไม่ก้าวหน้า เพราะพวกเขาคิดว่าวิทยาศาสตร์ไม่น่าจะค้นพบอะไรที่มากไปกว่ากฎของนิวตันได้อีก แต่เมื่อมาถึงยุคฟิสิกส์ควอนตัมในปัจจุบัน ทำให้เราได้รู้ว่า สิ่งที่นักฟิสิกส์ยุคนิวตันรู้นั้นยังไม่ถึงหนึ่งในล้านของความจริงแพทย์เมื่อจบการศึกษาออกไปสามารถรักษาอวัยวะส่วนไหนของร่างกายก็ได้ แต่แพทย์กลับรู้สึกว่าสิ่งที่ไม่รู้ยังมีอีกมากมาย จึงมีการแยกสาขาย่อยเป็น หู คอ จมูก ตา ผิวหนัง หัวใจ ไต ตับ ปอด จิตเวช ทางเดินอาหาร ฯลฯ และต้องเรียนต่ออีกหลายปีเพื่อการเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แม้แต่อวัยวะธรรมดาอย่าง “ฟัน” ยังต้องใช้เวลาศึกษาถึงหกปี และทันตแพทย์ก็ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับฟันไปอีกตลอดชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม แม้แพทย์ที่เก่งที่สุดในโลกก็ยังรู้เฉพาะขอบเขตเล็กๆ ของวิชาชีพ เพราะเมื่อเทียบกับความรู้ของจักรวาลแล้วนับว่าน้อยมากกบในกะลาจะนึกว่ามันรู้ทุกอย่างในจักรวาลแล้ว แต่เมื่อออกนอกกะลาจึงได้รู้ว่าความจริงที่ไม่รู้มากมายเพียงใด คนที่เรียนมาก รู้มาก ยิ่งต้องถ่อมตัว เพราะตระหนักได้ว่าสิ่งที่ยังไม่รู้นั้นมหาศาลเหลือเกิน ความรู้สึกนี้จะทำให้เราเห็นคุณค่าผู้อื่น และทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ Education is not learning of facts, but the training of the mind to think. การศึกษาไม่ใช่การเรียนที่ข้อเท็จจริง แต่เป็นการฝึกวิธีคิด ไอน์สไตน์เชื่อว่า ในอนาคตความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้มนุษย์สามารถหาข้อเท็จจริงได้ไม่ยาก แม้ในสมัยของไอน์สไตน์ยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เน็ต แต่ด้วยความเป็นอัจฉริยะของเขาทำให้เขาสามารถมองเห็นโลกล่วงหน้าได้เป็นร้อยปีเลยทีเดียว หลักสูตรการศึกษาต้องสอนเน้นไปที่ทักษะในการเรียนรู้และวิธีคิด ต้องให้นักศึกษาได้เห็นปัญหาและตั้งวงวิเคราะห์กันถึงแนวทางของการแก้ไขซึ่งไม่จำเป็นต้องมีวิธีเดียว และผิดหรือถูกไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญคือให้เด็กได้รู้จักกระบวนการคิด ยอมรับความเห็นผู้อื่น รู้จักถูกปัญหา รู้ว่าจะไปหาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ที่ไหน ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ระบบการศึกษาจะเน้นเรื่องการทำงานกลุ่ม เพราะถ้านักเรียนมีทักษะนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนมากและกว้าง แต่เรียนเฉพาะจุดที่ตัวเองสนใจก็พอ เมื่อมาทำงานเป็นทีม ทุกคนก็รับผิดชอบในส่วนที่ตนเองถนัด ดังนั้นการเรียนในโรงเรียน กิจกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่น กิจกรรมกีฬาสี การซ้อมเชียร์ ประกวดทีมทำโครงการต่างๆ การแข่งขันเต้นเป็นทีม ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้แม้จะไม่ทำให้เก่งวิชาการ แต่ทักษะที่ได้นั้นมีค่ามากกว่าข้อเท็จจริงมากมายนัก Human and skills alone cannot lead humanity to a happy and dignified life. เพียงความรู้และความชำนาญของคนเราไม่สามารถทำให้มนุษยชาติมีความสุขและมีชีวิตอย่างสง่างามได้ ทักษะ และความชำนาญเป็นเพียงส่วนหนึ่งอันเล็กน้อยของสัมมาอาชีวะเท่านั้น มรรคมีองค์ 8 คือ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกต้อง) สัมมาสังกัปปะ (ความคิดถูกต้อง) สัมมาวาจา (เจรจาถูกต้อง) สัมมากัมมันตะ (ปฏิบัติถูกต้อง) สัมมาอาชีวะ (ประกอบอาชีพถูกต้อง) สัมมาวายามะ (ความเพียรถูกต้อง) สัมมาสติ (ความรู้ตัว) และสัมมาสมาธิ (สงบจากกิเลส) การมีความสุขและมีชีวิตอย่างสง่างาม ต้องดำเนินชีวิตตาม “มรรค อันเป็นวิถีแห่งการดับทุกข์ แม้จะมีทักษะสุดยอดของโลกอย่างไมเคิล แจ็กสัน ก็อาจจะมีชีวิตที่ไม่มีความสุขก็ได้ ยิ่งถ้าเป็นผู้นำ เช่น ฮิตเลอร์ มุสโสลินี แม้จะมีทักษะการครองใจคน แต่ต่างมีชีวิตที่ไม่สง่างาม แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งใช้ ความรู้และความชำนาญที่มีเหนือกว่าประเทศอื่นๆ สร้างระเบิดปรมาณูไปทิ้งลงฮิโรชิมากับนางาซากิ การทำเช่นนี้ถือว่าเป็นโทษต่อมนุษยชาติ ทักษะและความชำนาญเมื่อมีมากจนถึงจุดหนึ่ง สภาวะการมีสติจะหายไป ยิ่งถ้ามีความประมาทเข้ามาร่วมด้วยยิ่งอันตราย และถ้านำมันมาใช้เพื่อแสวงหา กอบโกยสิ่งต่างๆ เข้าหาตัวด้วยความโลภ ทักษะนั้นก็จะเป็นโทษต่อสังคมอย่างยิ่ง ไอน์สไตน์เน้นการสอนเรื่องทักษะมากที่สุดในคำคมต่างๆ ของเขา แต่สุดท้ายเขาก็สรุปว่า แม้มีทักษะอันเลอเลิศก็ยังไม่สามารถทำให้มนุษย์มีชีวิตที่มีความสุขได้ ซึ่งเราได้เห็นประจักษ์ต่อสายตาแล้ว ที่คนซึ่งชำนาญระดับโลกในด้านต่างๆ กลับมีชีวิตที่ไม่มีความสุขเท่าที่ควร Three great forces rule the world: stupidity fear and greed. สามแรงอันยิ่งใหญ่ที่ครอบงำโลก ความโง่ ความกลัว และความโลภ กิเลสอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ คือ โลภ โกรธ หลง โดย “หลง”เป็นกิเลสที่กำจัดได้ยากที่สุด รองลงมาคือโลภ และโกรธ ตามลำดับ พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า อกุศลมูล คือเป็นอารมณ์พื้นฐานที่จะทำให้เกิดการทำชั่วนานาชนิด ความโลภในที่นี้ไม่ได้หมายความเฉพาะความอยากได้ ความพอใจก็เป็นส่วนหนึ่งของความโลภ เช่น พอใจที่จะได้ดื่มสุรา เมื่อถูกห้ามก็จะไม่พอใจ เช่นนี้การดื่มสุราก็คือความโลภ ส่วนความโกรธก็ไม่ได้หมายถึงการโมโหเพียงอย่างเดียว ความกลัว ความไม่ชอบ ถือเป็นส่วนหนึ่งของความโกรธด้วย เช่น พ่อปล่อยให้ลูกเอามีดมาเล่น แม่จะโกรธ แต่เบื้องหลังความโกรธคือความกลัว ความโง่ทำให้หลง หรือสำคัญผิด เช่น หลงอำนาจ หลงนารี หลงตัวเอง หลงรัก หลงการพนัน ฯลฯ เหล่านี้มีพื้นฐานมาจากความโง่ ความเชื่อที่งมงายทั้งหลายก็เกิดมาจากความหลงด้วยเช่นกัน ระบบต่างๆ ที่ใช้ปกครองโลกอาศัยสามแรงอันยิ่งใหญ่นี้ ระบบทาสในสมัยโบราณอ้างความโง่เป็นตัวแบ่งชั้นวรรณะ ระบบคอมมิวนิสต์ใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือในการปกครอง ส่วนระบบทุนนิยมอาศัยความโลภเป็นกลไกในการควบคุม ถ้าเทียบระหว่างโง่ กลัว และโลภแล้ว ในทางวิปัสสนากรรมฐาน ความกลัวสามารถกำจัดได้ง่ายที่สุด เพียงเจริญสติขึ้นสู่ระดับญาณหก ก็จะเกิดปัญญาสามารถเอาชนะความกลัวได้ แต่การจะเอาชนะความโลภต้องบรรลุเหนือกว่าชั้นโสดาบัน ขึ้นสู่ชั้นอนาคามี และสุดท้ายที่ตัดให้ขาดยากที่สุดคือความโง่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดติดในตัวตน ต้องบรรลุอรหันต์เท่านั้นจึงจะหลุดพ้น How on earth can you explain in terms of chemistry and physics so important a biological phenomenon as first love ? โลกจะอธิบายปรากฏการณ์สำคัญทางชีววิทยาอย่างรักแรกพบด้วยรูปแบบของเคมีและฟิสิกส์ได้อย่างไร มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า ความรู้สึกรักแรกพบนั้น เชื่อมโยง 7 - 8 ตัว ดังนั้นคำว่า “เคมีตรงกัน” จึงเป็นเรื่องจริงกับสารเคมีในสมองที่จะส่งผลทำให้คนเรารักกัน ส่วนคุณสมบัติทางฟิสิกส์ เช่น รูปร่าง หน้าตา สีผิว คงไม่ต้องอาศัยงานวิจัยก็บอกได้ว่ามีส่วนสำคัญมากที่จะทำให้เกิดความรู้สึกรัก แต่คำถามคือว่า ทำไมเวทนาและตัณหาที่เกิดขึ้นต่อลักษณะทางเคมีและฟิสิกส์ของแต่ละคนจึงแตกต่างกัน เช่น กลิ่นตัวของบุคคลหนึ่งอาจเป็นกลิ่นที่เหม็นสำหรับบางคน แต่กลับกลายเป็นกลิ่นหอมรัญจวนใจสำหรับคนที่ถูกใจ ส่วนรูปร่าง ถ้าตัดเรื่องความใคร่ออกไป ความรักที่แท้จริงไม่ขึ้นกับรูปร่าง หน้าตา ดังที่เราเห็นคู่ที่ครองรักกันมาอย่างยาวนานส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่คนที่สวยหรือหล่อสมบูรณ์แบบอะไร วิทยาศาสตร์อาจอธิบายได้ว่า คนที่รักกันจะมีสารเคมีในสมองตรงกัน แต่อธิบายต่อไม่ได้ว่า แล้วอะไรล่ะที่มีอิทธิพลเหนือสารเคมีเหล่านั้น อะไรที่สามารถบังคับให้สมองหลั่งสารเคมีชนิดต่างๆ ได้ คำตอบคือ “จิต” คุณสมบัติทางฟิสิกส์และเคมีเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จิตจะใช้ในการเหนี่ยวนำเพื่อให้ชีวิตเป็นไปตามกฎแห่งกรรมนั้นเอง รักแรกพบไม่จำเป็นต้องเป็นรักที่สมหวัง เชื่อว่าทุกคนต้องเคยมีประสบการณ์รักแรกพบ และตราตรึงฝังอยู่ในใจจนถึงทุกวันนี้ ความรู้สึกนี้ไม่หายไปไหน ในอนาคตไม่ว่าภพนี้หรือภพหน้า เมื่อเหตุปัจจัยเหมาะสมได้มาพบเจอกันอีกครั้ง ความรู้สึกนั้นก็จะผุดขึ้นมาเหมือนเดิม แต่ด้วยเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป เช่นสะสมบุญมามากขึ้น ซึ่งจะทำให้รักนั้นสมหวังในที่สุด ทั้งหมดนี้คือแนวคิดที่ดีและน่าสนใจที่จะปรับใช้กับชีวิต สำหรับนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะระดับโลกแล้วก็ยังมีความตระหนักรู้ของชีวิตและถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าสนใจ แม้ไอน์สไตน์จะล่วงลับดับขันธ์ไปนานแล้ว แต่คำคมของเขาก็มักใช้ได้กับคนในยุคปัจจุบัน ด้วยเหตุที่คนเราทุกคนทุกยุคตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรักโลภโกรธหลง ความรู้สึกเหล่านี้แปรเปลี่ยนให้คนเรามีความคิดที่ไม่ถูกต้องโดยที่เราเองไม่รู้ตัว ดังนั้น การตระหนักถึงความหมายของไอน์สไตน์ที่ต้องการจะสื่อจึงเป็นอะไรที่น่าสนใจมากสำหรับครีเอเตอร์ที่จะเอาไปปรับใช้ในชีวิตให้เจริญก้าวหน้าต่อไป เครดิตภาพ ภาพปก โดย ugurlu photographer จาก pexels.com ภาพที่ 1 และ 2 โดยผู้เขียน ภาพที่ 3 โดย Aphiwat chuangchoem จาก pexels.com ภาพที่ 4 โดย Andrea Piacquadio จาก pexels.com บทความอื่นๆที่น่าสนใจ รีวิวหนังสือ มิติที่ห้า โดยทันตแพทย์สม สุจีรา รีวิวหนังสือ 15 INVALUABLE LAWS OF GROWTH รีวิวหนังสือ MANIFEST DIVE DEEPER ดำดิ่งลึกซึ้ง ไปให้ถึงทุกปรารถนา รีวิวหนังสือ THE GREATEST SECRET เดอะเกรเทสต์ซีเคร็ต รีวิวหนังสือ THE SECRET TO LOVE, HEALTH, AND MONEY เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !