รีเซต

ชาวสวนช็อก ช้างป่าบุกพังทุเรียนป่าละอู เสียหายพันลูก สูญเงินหลายแสน!

ชาวสวนช็อก ช้างป่าบุกพังทุเรียนป่าละอู เสียหายพันลูก สูญเงินหลายแสน!
ข่าวสด
11 มิถุนายน 2563 ( 02:42 )
218
ชาวสวนช็อก ช้างป่าบุกพังทุเรียนป่าละอู เสียหายพันลูก สูญเงินหลายแสน!

 

วันที่ 10 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรชาวสวนทุเรียนป่าละอู กำลังเดือดร้อนหนัก จากปัญหาช้างป่า ซึ่งขณะนี้ทุเรียนหมอนทองป่าละอูชื่อดัง กำลังให้ผลผลิตเต็มที่และอยู่ระหว่างเก็บผลผลิตที่ทยอยสุก ส่งขายลูกค้า แต่ล่าสุดถูกช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บุกเข้ามาดึงลูกเขย่าต้น จนลูกทุเรียนหล่นร่วงเกลื่อนสวน นับ 1,000 ลูก คาดสูญรายได้กหลายแสนบาท ร้องขอให้หน่วยงานภาพรัฐเร่งแก้ปัญหาช้างป่า และเพิ่มการลาดตระเวนในช่วงที่ผลผลิตกำลังออกเต็มที่ในช่วง 1-2 เดือนนี้ เพื่อให้เกษตรกรอุ่นใจมากขึ้น

 

ซึ่งสวนทุเรียนที่เพิ่งถูกช้างป่าบุกเข้ามากินลูกทุเรียน และเขย่าต้นจนลูกร่วงเสียหายอย่างหนักนี้ คือ สวนทุเรียน ป.ป่าละอู เป็นสวนทุเรียนรายใหญ่ของ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ นายศิวกภณ รตนรุ่งเรือง และครอบครัว เป็นกษตรกรชาวสวนทุเรียน ที่ หมู่ 3 บ้านป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พา นางสุนันทา พิมพ์ไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ , พ.ต.ท.สุวิทย์ มณีวงษ์ ผู้บังคับกองร้อย กองกำกับการ 1 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน , ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก และผู้สื่อข่าว ลงพื้นที่ดูสภาพความเสียหายของทุเรียนป่าละอู พันธุ์หมอนทอง ชื่อดังของ อ.หัวหิน เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค

 

นายศิวกภณ เล่าว่า ต้นทุเรียนที่ปลูกในสวนและกำลังให้ผลผลิตนี้ มีอายุตั้งแต่7-10 ปีขึ้นไป โดยปีนี้ผลผลิตทุเรียนให้ผลดี ที่สวนมีประมาณ 60 ตัน ซึ่งช่วงค่ำวานนี้(9 มิ.ย.) หลังตนและครอบครัวเพิ่งตัดทุเรียนขนกลับไปบ้านพักได้ประมาณ 2 เข่ง จึงกลับไปหุงข้าวกินกันในครอบครัว แค่ชั่วเวลาทานข้าวหมดจาน ก็รีบให้ลูกเขย รีบกลับมาเฝ้าสวนทุเรียนก่อน ซึ่งตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 1 ทุ่มเศษ

 

เมื่อลูกเขยมาถึง พบว่ามีช้างป่าขนาดใหญ่ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่อาศัยหากินอยู่บริเวณป่ารอบหมู่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่หลายตัวเข้ามาเดินกินทุเรียนในสวนแล้ว จึงได้รีบโทรศัพท์ให้ตนและคนที่บ้านมาช่วยกันไล่ช้างป่า แต่ช้างป่าไม่ยอมถอยกลับเข้าป่าไปง่ายๆ ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง จึงยอมกลับไป ลูกเขยไปนอนเฝ้าบนบ้านต้นไม้ซึ่งอยู่สูงจากพื้นดินและมีความปลอดภัย ส่วนตนมาตอนเฝ้าที่รถ และ วนไปเฝ้าที่โรงเก็บทุเรียน

 

กระทั่งกลางดึกประมาณ ตี 3 เศษ ช้างป่าได้ย้อนกลับมากินทุเรียนอีกครั้ง โดยพฤติกรรมคือเดินเลือกหาต้นที่ลูกทุเรียนเริ่มแก่ซึ่งจะเริ่มมีกลิ่นหอมออกมา แล้วใช้งวงดึงลูกหรือกิ่งจนหักเสียหาย หรือใช้หัวดันต้น ลักษณะเขย่าต้น เพื่อทำให้ลูกทุเรียนร่วงหล่นตกลงมาที่พื้นดิน แล้วใช้เท้าเหยียบจนทุเรียนแตกก่อนจะใช้งวงหยิบกินอย่างสบายอารมณ์ ทุเรียนบางลูกไม่แตกแต่จมดินจนมิด ดึงขึ้นมาแทบไม่ออก เมื่อมาสำรวจความเสียหายตอนเช้า

 

พบว่าทุเรียนที่ร่วงหล่นในครั้งนี้ ประมาณ 1,000 ลูก มีทั้งทุเรียนที่อ่อน และผลแก่ใกล้เก็บผลผลิตขายได้ในอีกประมาณ 2 สับดาห์นี้ ซึ่งราคาหน้าสวนขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท ราคาขายที่ตลาดประมาณ 250 บาท ทำให้ครอบครัวต้องสูญเงินหลายแสนบาทไปกับการบุกของช้างป่าในคืนเดียวโดยพบร่องรอยเท้าช้างป่าขนาดใหญ่ กระจายทั่วสวนทุเรียน

 

เบื้องต้นอยากให้ทางหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องช่วยจัดเจ้าหน้าที่มาตระเวนตรวจตราตามสวนทุเรียนในพื้นที่ป่าละอู ในช่วงที่ทุเรียนเริ่มแก่จัดเพิ่มเติมในระยะ 1-2 เดือนนี้ นอกเหนือไปจากการตระเวนไล่ช้างบนถนนทางเข้าหมู่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่

 

ทั้งนี้ได้เร่งซ่อมแซมลวดสัญญาณไซเรน ที่ขาดเสียหายเพราะกังวลใจว่า ช้างป่าจะกลับเข้ามาสร้างความเสียหายอีกได้ อีกทั้งยังมีทุเรียนที่เริ่มจะแก่แต่ละต้นอีกเป็นจำนวนมากที่รอการเก็บเกี่ยว

 

ด้าน นางสุนันทา ยอมรับว่า ปัญหาช้างป่าเข้ามากินทุเรียนหรือผลไม้ชนิดอื่นๆ ตนมองว่าเป็นปัญหาที่ซ้ำซาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลไม่ทั่วถึง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลที่ทุเรียนป่าละอูมีผลผลิตเก็บเกี่ยวออกสู่ตลาด ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เป็นช่วงที่ทุเรียนป่าละอูแก่จัด พยายามแก้ไขปัญหาทั้งการจัดสร้างแนวรั้วกันช้างกึ่งถาวรรอบพื้นที่หมู่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ แต่ยังได้ไม่กี่กิโลเมตร

 

โดยเฉพาะหมู่บ้านนี้ที่ช้างเข้ามาก็ยังไม่มีรั้วกั้น ดังนั้นจึงขอให้เจ้าของสวนแต่ละแห่งต้องช่วยกันดูแลสวนของตนเองด้วย และรู้สึกเห็นใจเกษตรกรชาวสวนป่าละอูที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามให้การช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าแก่งกระจานที่บุกเข้ามาสร้างความเสียหาย เดิมความเสียหายจ่ายชดเชยไร่ละ 1,600 บาท แต่ปัจจุบันมีการแก้ไขหากต้นทุเรียนมีอายุขึ้นไป 5 ปีมีผลผลิตทาง อบต.จ่ายให้ต้นละ 1,600 บาท ส่วนทุเรียนต้นเล็กขึ้นไป 5 ต้นจ่าย 1,600 บาท

 

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง