กรณีศึกษา Taobao แพลตฟอร์มในเครือ Alibaba ที่แจ้งเกิดมาพร้อมกับวิกฤติซาร์ส ช่วงระหว่างปี 2546 ถึงปี 2547 เป็นช่วงที่โรคซาร์สเริ่มระบาดในประเทศจีน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน กลับเป็นช่วงที่แพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์อย่าง JD.com แจ้งเกิดต่อมวลมหาประชาชน แล้วความน่าสนใจของ JD นั้นเกี่ยวข้องกับ Taobao อย่างไรกัน.. โรคระบาดที่ชื่อซาร์สในครั้งนั้น ส่งผลกระทบต่อชาวจีน ที่ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสู่การใช้ชีวิตอยู่บ้าน ร้านค้าน้อยใหญ่ ไปจนถึงห้างร้านดัง เงียบสงบ ไม่ต่างจากปัจจุบันที่เกิดวิกฤติ Covid-19 เหล่านั้น..ตามมาซึ่งความปกติรูปแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า “New Normal” ช่วงเวลาดังกล่าว “ริชาร์ด หลิว” เถ้าแก่เจ้าของร้าน “JingDong Century” ร้านค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในกรุงปักกิ่ง เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติซาร์ส ท่ามกลางความมืดบอด เถ้าแก่หลิว ก็ได้มองแสงสว่างที่จะพาให้กิจการของตนอยู่รอด และในขณะเดียวกันก็ได้มองไปยังตลาดออนไลน์ ที่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อ พร้อมบริการส่งถึงหน้าบ้านได้ ปี 2547 เถ้าแก่หลิว ได้เปิดตัว JD.com หรือร้าน JingDong เข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซจีน แต่ถึงกระนั้น ก็มีคู่แข่งคนสำคัญที่เปิดตัวมาก่อนหน้าแล้ว นั่นก็คือ..”Taobao” จากค่าย “Alibaba” ของเถ้าแก่หม่า Taobao ได้เปิดตัวตั้งแต่ปี 2546 ก่อนที่โรคระบาดจะเข้ามาหมาด ๆ ทว่า.. วิกฤติครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อร้านค้าน้อยใหญ่ แต่กลับเป็นแจ็คพอร์ตสำหรับแพลตฟอร์มร้านออนไลน์ ความน่าสนใจของ Taobao คือเป็นร้านค้าปลีกออนไลน์ ลูกค้าสามารถสั่งซื้อในจำนวนที่น้อย นอกจากนั้นยังมีจุดแข็งอีกหลายประการ ดังนี้ สินค้าราคาถูก เพราะมาจากโรงงานหรือเจ้าของผู้ผลิตโดยตรง ใช้งานง่าย เพียงแค่กดสั่งผ่านเว็บไซต์ แต่ในปัจจุบัน ได้เพิ่มความสะดวกสบายผ่านการชำระผ่าน Alipay ขนส่งทั่วเซี่ยงไฮ้ภายในวันเดียว เป็นรากฐานนำมาซึ่งการส่งทั่วประเทศในเวลาอันรวดเร็ว เข้าถึงร้านค้าท้องถิ่น เนื่องจากแพลตฟอร์มไม่ได้เน้นสินค้าแบรนด์เนม เพราะฉะนั้น จึงเอื้อแก่ร้านค้าขนาดเล็ก ให้สามารถทำการค้าขายในแพลตฟอร์มได้ นอกจากที่กล่าวมา Taobao ยังได้รับแจ็คพอร์ตจากโรคซาร์สไปโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากคนจีนในเวลานั้น วิตกกังวลต่อการระบาดของโรค จึงหันไปหาสินค้าที่พร้อมส่งถึงหน้าบ้านในตลาดอีคอมเมิร์ซแทน ความน่าสนใจหลังจากโรคระบาดได้ผ่านพ้นไป คือ Taobao สามารถแย่งลูกค้าจาก EBay ขึ้นเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอันดับ 1 ของโลก ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปี คำถามก็คือ..เพียงแค่แจ็คพอร์ตจากซาร์สทำให้ Taobao เติบโตถึงขนาดนี้เชียวหรือ ? แท้ที่จริงแล้ว กลยุทธ์ที่ Taobao ปล่อยสู่ตลาดในครั้งนั้น คือการให้บริการฟรีทุกฟังก์ชันอยู่หลายปี โดยเน้นการเก็บค่าโฆษณาจากบริษัทใหญ่ ๆ ที่ต้องการประชาสัมพันธ์ในสินค้าของตนแทน แนวทางดังกล่าวตรงใจมวลมหาประชาชนชาวจีน ทั้งผู้ประกอบการที่ไม่ต้องเพิ่มต้นทุน ตอบโจทย์ลูกค้าในสินค้าที่ถูกกว่าใคร ๆ จึงนำมาสู่การกลับมาซื้อซำ้ของผู้บริโภค ตลอดจนการสร้างแบรนด์ให้เป็นเสมือนหนึ่งชุมชน ปัจจุบัน Taobao เติบโตก้าวกระโดด ครองมาเก็ตแชร์กว่า 70% ในตลาด มีผู้สมัครสมาชิกมากกว่า 370 ล้านคน และมีสินค้ามากกว่า 800 ล้านชิ้น กลายเป็นหนึ่งใน 20 เว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลก ส่วนทางฝั่งของ JD ที่เปิดตัวหลังจาก Taobao ประมาณ 1 ปี ทั้งคู่เป็นหนึ่งในคู่แข่งคนสำคัญของตลาดอีคอมเมิร์ซจีน ความน่าสนใจของทั้งคู่คือมีโมเดลธุรกิจคล้ายกัน แต่ช่วงแรก JD อยู่ห่างจาก Taobao ของแจ็คหม่าพอสมควร ความน่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือ 10 ปีให้หลัง ในปี 2557 JD ได้รับการลงทุนจาก Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านไอทีราว15% พร้อมกับยกแพลตฟอร์มแชท QQ Wanggou และเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ Paipai ให้ JD เป็นผู้ดูแล ความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น นำมาซึ่งการแซงหน้าคู่แข่ง ด้วยการเข้าสู่การเป็น IPO ในตลาดหุ้น NASDAQ ในปี2557 ก่อนเครือ Alibaba ที่ราคา $19 ต่อหน่วย โดยมีจำนวนหุ้นจดทะเบียนประมาณ 1,200 ล้านหน่วย เท่ากับว่าJD ใน NASDAQ วันแรก มีมูลค่าในตลาดถึง 22.8 พันล้านเหรียญหรือราว ๆ 7.3 พันล้านบาท แน่นอนว่าทั้งคู่แจ้งเกิดมาในช่วงวิกฤติโรคระบาด และพวกเขาได้เวียนกลับมาพบเจอกับโรคระบาดอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ เป็นวิกฤติที่ใหญ่ยิ่งกว่า ผลกระทบไม่ได้ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจเท่าไหร่นัก จึงเป็นที่น่าจับตามองจากนักลงทุนจำนวนมาก เหล่านี้..ตามมาด้วยคำถามทิ้งท้ายว่า New Normal ต่อตลาดอีคอมเมิร์ซที่เกิดขึ้นหลังจากซาร์ส จะเป็นเหมือนดั่ง New Normal ที่เกิดขึ้นหลังจากวิกฤติ Covid-19 หรือเปล่า ? ถ้าหากเป็นเช่นนั้น ตลาดอีคอมเมิร์ซในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางทางการค้าขนาดใหญ่ และแวดล้อมในแวดวงธุรกิจนี้ ทั้งผู้ให้บริการเดลิเวอรี่ โลจิสติก ตลอดจนผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็จะได้รับประโยชน์..ตามไปด้วย Credit Picture 1: Link / 2: Link / 3: Link / Cover Picture: Link ............................................................. ส่งต่อทุกแรงบันดาลใจ Share For Inspire Follow Us On “Facebook” Follow Us On “Line”