รีเซต

"หมอยง" ชี้ 3 ขวบขึ้นไปต้องได้วัคซีน พบกระตุ้นแอสตร้าฯ แอนติบอดีพุ่งเกือบ 100 เท่า

"หมอยง" ชี้ 3 ขวบขึ้นไปต้องได้วัคซีน พบกระตุ้นแอสตร้าฯ แอนติบอดีพุ่งเกือบ 100 เท่า
TNN ช่อง16
25 สิงหาคม 2564 ( 19:35 )
36
"หมอยง" ชี้ 3 ขวบขึ้นไปต้องได้วัคซีน พบกระตุ้นแอสตร้าฯ แอนติบอดีพุ่งเกือบ 100 เท่า

วันนี้ (25 ส.ค.64) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ระบุว่า  การศึกษาภูมิต้านทานในผู้ที่ฉีดวัคซีนไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 70-80 คน พบว่าการภูมิคุ้มกันสูงเท่ากับฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม และขณะเดียวกันแอนติบอดีก็เพิ่มขึ้นหลังฉีดห่างกันเพียง 3 สัปดาห์ ต่างจากแอสตร้าเซนเนก้าที่ต้องฉีดห่างจากเข็มแรกกัน 8-10 สัปดาห์

ส่วนการกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าหลังฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ในบุคลากรแพทย์ จำนวน 500 คน ในจำนวนนี้ 190 คนพบว่า แอนติบอดีขึ้นสูงมากกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับซิโนแวค 2 เข็ม และมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลต้าที่ดีมากเกือบร้อยละ 100 แต่ภูมิจะลดลงมาในสายพันธุ์เบต้า

นอกจากนี้ การศึกษาภูมิต้านทานการให้วัคซีนแต่ละชนิดในประเทศไทย พบว่า ภูมิต้านทานในวัคซีนชนิด mRNA ไฟเซอร์และโมเดอร์นาสูงกว่าซิโนแวคที่เป็นชนิดเชื้อตายถึง 17 เท่า และแอสตร้าเซนเนก้า ชนิดไวรัสเวกเตอร์สูงกว่าซิโนแวค 9 เท่า ดังนั้น การเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เด็กอายุตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป จะต้องได้รับวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูง แม้ว่าเด็กจะเป็นโควิด-19 อาการจะไม่รุนแรง แต่ต้องไม่ให้เป็นพาหะในการแพร่เชื้อ

ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงสูตรวัคซีนในไทยในปัจจุบันจะมี 2 สูตร ได้แก่  1.วัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นสูตรหลักที่ใช้อยู่ในขณะนี้ หรือ 2. วัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็ม ห่างกัน 12 สัปดาห์ในบางกรณี ส่วนกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปีที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรค หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์

ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจการฉีดแบบไขว้ผลข้างเคียงไม่พบความแตกต่างไปสูตรเดิมของวัคซีนแต่ละตัว 

ด้าน นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช.ได้จัดระบบส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยที่รอเข้า home isolation ในระบบสายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ป่วยจะได้ยาฟาวิพิราเวียร์ก็เป็นผู้ป่วยอาการสีเหลืองแล้ว แต่ช่วงหลังจำนวนผู้ป่วยรอเตียงมีจำนวนมากขึ้นและเมื่อรอเตียงนานอาการก็แย่ลง ประกอบกับมีเรื่องการทำ home isolation, community isolation จึงต้องส่งยาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยก่อน โดยจะให้ Rider จัดส่งยาให้ถึงบ้าน

จากการติดตามพบว่าประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยอาการดีขึ้น ถือเป็นจุดสำคัญเพราะผู้ป่วยอาการไม่หนัก เตียงในโรงพยาบาลก็จะไม่แออัดและมีที่ว่างรองรับคนไข้หนักได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เจอคือที่อยู่ไม่ชัด หรือบอกแต่บ้านเลขที่ ดังนั้น ผู้ป่วยควรบอกบ้านเลขที่ ชื่อหมู่บ้าน ตรอก ซอย ถนน ให้ชัดเจนเพื่อความรวดเร็วในการจัดส่งยา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง