"เรื่องที่เราคุ้นเคยที่สุด คือ เรื่องที่ดีที่สุดสำหรับนักเขียน" คำกล่าวประโยคนี้ เป็นคำแนะนำที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นเขียนบทความ และเป็นวิธีการเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ที่นักเขียนมีความสบายใจที่สุดในการเขียน โดยปัญหาอย่างหนึ่งในการเขียนบทความ คือ การเลือกหัวข้อมาใช้ในการเขียน เมื่อใดก็ตามที่นักเขียน ขาดความรู้ แหล่งข้อมูล หรือข้อเท็จจริงมาสนับสนุนงานเขียน ก็จะทำให้ผลงานของเขามีความน่าสนใจลดลงและมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทำให้ขาดน้ำหนัก ไม่เป็นอมตะ เครดิตภาพจาก pixabayการเลือกหัวข้อในการเขียนที่ดี การเลือกหัวข้อในการเขียนนั้น นักเขียนจะต้องมีความสามารถในการเลือกหัวข้อที่จะเขียน เพื่อให้บทความได้รับความน่าสนใจ โดยการเริ่มต้นงานเขียน ควรเริ่มต้นจากเรื่องที่มีความรู้ความเข้าใจ หรือคุ้นเคยกับเรื่องนั้นเป็นอย่างดี เพราะจะทำให้นักเขียนสามารถเล่าเรื่อง เขียนเนื้อหาได้อย่างลื่นไหล มีความเป็นเอกภาพของเนื้อหา รวมทั้ง ทำให้ผู้อ่านเกิดประโยชน์จากข้อเขียนอันนั้น โดยการเลือกหัวข้อที่ดีเพื่อการเขียนนั้น มีคุณสมบัติใน การเลือกจากสิ่งเหล่านี้ ประการที่ 1 หัวข้อนั้น กำหนดขอบเขตของเนื้อหาได้ ไม่ว่าจะเขียนเรื่องราวอะไรก็ตามที นักเขียนจะต้องมองเห็นขอบเขตของเนื้อหาที่จะเขียน โดยขอบเขตของเนื้อหาที่จะนำมาเป็นหัวข้อในการเขียนนั้น จะต้องมีขอบเขต และมีประเด็นสำคัญหลัก 1 ประเด็น เป็นหัวใจสำคัญ โดยการเขียนเนื้อหานั้น จะต้องไม่ขยายขอบเขตให้มากเกินกว่าหัวข้อที่กำหนด เพราะจะทำให้เกิดภาวะไม่ตรงประเด็น หรือไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของบทความ ประการที่ 2 หัวข้อนั้น ตรงกับความสนใจของผู้อ่าน หัวข้อที่จะนำมาเขียนนั้น หากเป็นประเด็นที่อยู่ในกระแส หรือ ติดTrend เป็นที่สนใจของผู้อ่าน ก็จะทำให้บทควาเหล่านั้นได้รับความสนใจ และทำให้เกิดการดึงดูดความสนใจของผู้อ่านรายใหม่ ที่ได้พบเห็นเนื้อหา อาทิเช่น การเขียนบทความเกี่ยวกับวิกฤติ COVID-19 หรือ การเขียนบทความแนะนำแพลตฟอร์มที่สร้างรายได้จากงานเขียน จาก True ID In Trend ซึ่งลักษณะของคำสำคัญ คือ COVID-19 หรือ แพลตฟอร์ม True ID In Trend เป็น Keyword ที่สร้างความสนใจและเป็นกระแสที่ผู้คนสนใจที่จะอ่านเนื้อหาประการที่ 3 หัวข้อนั้น นักเขียนมีความรู้ความเข้าใจดี ลักษณะเด่นของการเล่าเรื่องราวที่นักเขียนมีความรู้ ความเข้าใจเป็นอย่างดีในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็ทำให้ความสามารถในการเขียนเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่รู้ ออกมาได้อย่างพรั่งพรู เพราะพื้นฐานความรู้จริง ที่มีต่อเนื้อหา จะทำให้นักเขียนมีความรู้สึกไม่อึดอัดที่จะบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้น อีกอย่างหนึ่ง การเขียนจากสิ่งที่มีความรู้ จะทำให้นักเขียนเกิดความมั่นใจ และกล้าที่จะแบ่งปันความรู้ออกมา เครดิตภาพจาก pixabayประการที่ 4 หัวข้อนั้นน่าสนใจและมีข้อมูลเพียงพอ การเขียนเรื่องราวใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งอาจเกิดจากประสบการณ์ตรง ที่นักเขียนได้รับ หรือประสบการณ์ทางอ้อม ผ่านการอ่าน การบอกเล่าจากผู้อื่น แล้วสังเคราะห์เป็นความคิดใหม่ ๆ สร้างมุมมองใหม่ จากหัวข้อนั้น ก็สามารถทำให้หัวข้อธรรมดา กลายเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ อีกอย่างหนึ่งการเขียนเรื่องใหม่นั้น นักเขียนจะต้องมีข้อมูลอย่างเพียงพอ ที่จะนำเสนอ บอกเล่าความรู้ ให้ความคิด วิเคราะห์ และมีคำแนะนำใหม่ ๆ เกี่ยวกับหัวข้อนั้น ประการที่ 5 หัวข้อนั้น ระบุวัตถุประสงค์ได้ชัดเจน เป้าหมายในการเขียนบทความแต่ละเรื่องนั้น จะต้องมีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารบทความนั้นไปสู่ผู้อ่าน เมื่อนักเขียนทราบดีว่า บทความนั้นจะก่อประโยชน์อะไรต่อผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นบทความให้ความรู้ ให้ความคิดเห็น ให้คำแนะนำ ให้ทัศนคติ หรือให้ข้อคิด ก็ถือว่าเป็นบทความที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการสื่อสาร โดยนักเขียนจะต้องเขียนบทความนั้น ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบทความ เครดิตภาพจาก pixabayโดยประสบการณ์ส่วนตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้เขียน ก็จะเริ่มต้นเขียนบทความจากความถนัดและความสนใจของตนเองก่อน เช่น เขียนบทความเกี่ยวกับการรีวิวหนังสือ การเขียนบทความกีฬาฟุตบอล การรีวิวอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวที่ตนเองมีประสบการณ์ตรง รวมทั้งการแนะนำแหล่งเรียนรู้ ที่เกิดจากการเดินทาง หรือการอ่านสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งการเริ่มต้นเขียนบทความจากสิ่งที่รู้ ที่เข้าใจดี ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการเขียน อนึ่ง การเข้าถึงแหล่งให้ความรู้ หรือเคล็ดลับต่าง ๆ ก็มีช่องทางในการเรียนรู้มากมายในปัจจุบัน ที่มีสื่อออนไลน์ในการพัฒนาตนเอง ภาพของผู้เขียนในการคิดหัวข้องานในร้านกาแฟ ผู้เขียนเอง ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับนักเขียนทุกคน ในการเลือกหัวข้อเพื่อนำมาเขียนบทความ โดยอาศัยวิธีการเลือกหัวข้อที่ดี และเคล็ดลับหนึ่งในการเลือกหัวข้อที่ทันสมัย คือ การสืบค้นใน Google Trend ก็จะทราบว่าผู้คนสนใจเรื่องใดในแต่ละช่วงเวลา ขอให้ทุกคนสนุกสนานกับการเขียนบทความเพื่อแบ่งปันความรู้และสร้างรายได้กันในแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง True ID In Trend กันนะครับ เครดิตภาพปกโดย pixabay