การสอนให้ลูกเป็นเด็กดี พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องชี้นิ้วสั่ง หรือถือไม้เรียวสอน หากแต่สามารถสอนลูกได้หลากหลายแนวทาง เช่น สอนผ่านการอ่านหนังสือร่วมกัน หรือสอนผ่านกระบวนการเล่น เพราะการที่ลูกได้อ่าน และได้เล่นสนุกกับพ่อแม่บ่อย ๆ ลูกจะซึมซับคำสอนรวมทั้งพฤติกรรมที่พึงประสงค์เหล่านั้นเข้าไป จนกลายเป็นนิสัยที่ดีงามได้โดยปริยาย เกมบันไดงู หากมองผิวเผินคงเป็นเพียงเกมกระดานที่เล่นสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วยังมีแง่มุมดี ๆ ที่พ่อแม่สามารถสอดแทรกกฎ กติกา มารยาท และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้แก่ลูกผ่านเกมสนุกสนานดังกล่าวได้ดังนี้ค่ะ // Photo by sakooclub //1. สลับกันเล่น : การละเล่นทุกอย่างที่มีผู้เล่นจำนวนมาก ไม่รู้ว่าใครจะเริ่มเล่นเป็นคนแรกพ่อแม่สามารถช่วยลูกได้ ในการหาตัวผู้เล่นคนแรก และผู้เล่นลำดับต่อมาด้วยการโอน้อยออก จนสุดท้ายเมื่อเหลือกันสองคนสุดท้ายให้เป่ายิ้งฉุบตัดสิน ซึ่งการจัดลำดับผู้เล่นด้วยการโอน้อยออก และเป่ายิ้งฉุบ จะช่วยลดความขัดแย้งที่จะเกิดจากการแย่งกันเล่น รวมทั้งทำให้ลูกได้เรียนรู้วิธีสลับกันเล่น การเล่นตามลำดับคิว และรู้จักการอดทนรอคอยจนกว่าจะถึงคิวของตนเอง // ภาพโดย Freepik จาก Freepik //2. รู้แพ้รู้ชนะ : ปัญหาของเด็กจำนวนไม่น้อย คือ แพ้ไม่เป็น พ่อแม่สามารถใช้โอกาสนี้ในการสอนให้ลูกเรียนรู้ว่า คนเราพ่ายแพ้ได้ และเราก็สามารถเริ่มต้นเล่นใหม่ได้เช่นกัน โดยใช้ถ้อยคำปลอบใจและแสดงความรู้สึกว่า พยายามกันใหม่นะลูก แม่รู้ว่าลูกทำได้แน่นอน ฯลฯ นอกจากนี้ พ่อแม่ยังสามารถสอนให้ลูกรู้จักการแสดงความยินดีกับผู้ชนะ ด้วยคำพูดที่เป็นกำลังใจให้ผู้ชนะ เช่น ยอดเยี่ยมมากเลย เจ๋งจริง ๆ ฯลฯ ซึ่งคำพูดและท่าทีเหล่านี้จะทำให้ลูกเป็นที่รักของเพื่อน ๆ ด้วยนะคะ // ภาพโดย Jcomp จาก Freepik //3. ทักษะทางคณิตศาสตร์ : การออกเดินในแต่ละตา ลูกต้องทอดลูกเต๋า ซึ่งลูกจะได้เรียนรู้สัญลักษณ์ และจำนวนของจุดบนลูกเต๋า จากนั้นลูกจึงนำจำนวนจุดมาเชื่อมโยงเข้ากับการเดินบนเกมบันไดงู แล้วออกเดินไปจนถึงเส้นชัย // ภาพโดย asier_relampagoestudio จาก Freepik //4. ความรักความอบอุ่น : การเล่นเกมบันไดงูทำให้เกิดรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และการพูดคุยตลอดทั้งเกม ซึ่งเป็นการเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ระหว่างสมาชิกในครอบครัว วันหยุดนี้ลองหาเกมบันไดงูมาเล่นร่วมกันนะคะ แล้วพ่อกับแม่จะได้เห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอย่างสนุกสนานของลูกแน่นอนค่ะ // ภาพโดย Freepik จาก Freepik //การที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพกติกาของสังคม ไม่ได้เกิดขึ้นจากสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องอาศัยพ่อแม่เป็นผู้อบรมสั่งสอน ช่วยกันสร้างช่วงเวลาคุณภาพในการส่งมอบความรู้สึกที่ดีต่อกัน ให้เวลากับลูก เล่นกับลูก แล้วสอดแทรกการสอนสิ่งดี ๆ เข้าไปในกิจกรรมเหล่านั้น เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่อย่างมีคุณภาพของสังคมกันนะคะ