รีเซต

นักอาชญาวิทยาแนะรัฐจ้างคนว่างงาน เป็นอาสาสมัครชุมชน แก้ปัญหาฉก-ชิง-ปล้น-จี้ ช่วงโควิด-19

นักอาชญาวิทยาแนะรัฐจ้างคนว่างงาน เป็นอาสาสมัครชุมชน แก้ปัญหาฉก-ชิง-ปล้น-จี้ ช่วงโควิด-19
มติชน
7 พฤษภาคม 2563 ( 22:37 )
303
2
นักอาชญาวิทยาแนะรัฐจ้างคนว่างงาน เป็นอาสาสมัครชุมชน แก้ปัญหาฉก-ชิง-ปล้น-จี้ ช่วงโควิด-19

นักอาชญาวิทยาแนะรัฐจ้างคนว่างงาน เป็นอาสาสมัครชุมชน แก้ปัญหาฉก-ชิง-ปล้น-จี้ ช่วงโควิด-19

นักอาชญาวิทยา – เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ต.ท.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับคนทั่วโลก ว่า เชื้อโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดปัญหาทั้งในแง่มุมของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วิถีชีวิต และสภาพความเป็นอยู่ ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง เกิดการหยุดงาน คนถูกเลิกจ้างงานเป็นจำนวนมาก จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้สถิติการเกิดอาชญากรรม โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น การลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้อง และเป็นไปตามข้อมูลทางวิชาการ ที่ว่าการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มักเกิดขึ้นสูงในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

“ดังนั้น นโยบายของภาครัฐในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นคงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ วิธีคิด และแนวทางการทำงานเพื่อให้เท่าทัน และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” พ.ต.ท.กฤษณพงค์ กล่าว

พ.ต.ท.กฤษณพงค์กล่าวอีกว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน ออกมาร่วมกันดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านการบริจาคทรัพย์สิน สิ่งของ และการสนับสนุนอาหาร เครื่องดื่ม ให้แก่ผู้ที่ประสบปัญหา และได้รับผลกระทบจากโรคระบาด อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับกันว่ายังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึง และยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องของเงินเยียวยาจากภาครัฐ และอาหารเพื่อการดำรงชีพ แต่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าเช่าบ้าน และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น การรอรับความช่วยเหลือ เยียวยาจากภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น รัฐควรจัดให้มีการจ้างงานในระดับชุมชน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และอาชญาวิทยา

พ.ต.ท.กฤษณพงค์กล่าวต่อว่า ชุมชนในสังคมไทยมีความหลากหลาย และแตกต่างกันตามบริบทของสภาพพื้นที่ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี การให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน จึงจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อชุมชน และผู้ที่ถูกเลิกจ้างงานในแง่ของการมีรายได้ โดยรัฐควรมีระบบ และหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่เป็นรูปธรรม ชัดเจน มีค่าตอบแทนที่แน่นอน สอดคล้องและเป็นไปตามแนวคิด และปรัชญาการทำงานของตำรวจสมัยใหม่ ที่ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่างอาสาสมัครในชุมชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคงในระดับพื้นที่ ย่อมสามารถป้องกัน และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของคนในชุมชน เช่น อังกฤษ และสิงคโปร์ เพราะคนที่พักอาศัยในชุมชนย่อมรับรู้ เข้าใจ และทราบถึงสภาพปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าคนในพื้นที่อื่น

“ดังนั้น ในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการเลิกจ้างงานเป็นจำนวนมาก รัฐควรมีระบบการคัดเลือกคนว่างงานในแต่ละชุมชนเพื่อมาอบรม ให้ความรู้ ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครป้องกัน แก้ไขปัญหาอาชญากรรมในระดับชุมชน ออกตรวจตราบ้านเรือน และพื้นที่จุดเสี่ยงต่างๆ โดยมีค่าตอบแทนจากรัฐ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ลดความเสี่ยงของการเกิดอาชญากรรม โดยรัฐจะมีคนในชุมชนมาช่วยกันป้องกัน แก้ไขปัญหาอาชญากรรม นอกเหนือจากการอาศัยแต่กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐในการดูแลความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน” พ.ต.ท.กฤษณพงค์ กล่าว