รีเซต

โควิดทำไทยสูญ 2.2 ล้านล้านบาท ‘คลัง’ แจงสถานะการเงินยังแกร่ง ไม่หวั่นหนี้สาธารณะพุ่งแตะ 60%

โควิดทำไทยสูญ 2.2 ล้านล้านบาท ‘คลัง’ แจงสถานะการเงินยังแกร่ง ไม่หวั่นหนี้สาธารณะพุ่งแตะ 60%
มติชน
25 พฤษภาคม 2564 ( 03:57 )
90
โควิดทำไทยสูญ 2.2 ล้านล้านบาท ‘คลัง’ แจงสถานะการเงินยังแกร่ง ไม่หวั่นหนี้สาธารณะพุ่งแตะ 60%

 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้รายได้ของประเทศ หายไปสูงกว่า 2.2 ล้านล้านบาท และเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยหลังโควิด จะขยายตัวต่ำกว่า 2% ซึ่งต่ำกว่าช่วงปกติก่อนโควิด ที่ประมาณการไว้เพียง 3-4% ซึ่งเป็นเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยการจัดทำแผน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อผลักดันเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิด แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเพื่อให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าและเติบโตอย่างยั่งยืน ที่ต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวจาก 2.5% เป็น 4.5% จำเป็นต้องเกิดการลงทุนเพิ่มปีละ 6 แสนล้านบาท ซึ่งมีข้อจำกัดแหล่งเงินในการสนับสนุนลงทุนในประเทศ และภาครัฐ ซึ่งไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีก จึงจำเป็นต้องพิจารณาแหล่งเงินอื่น อาทิ สภาพคล่องส่วนเกินที่มีในระบบ และการเร่งดึงเงินลงทุนจากภาคเอกชน และต่างประเทศ โดยเงินลงทุนในระยะยาวของประเทศต้องดำเนินการอย่างมีระบบในพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพ และจัดลำดับความสำคัญที่ชัดเจน

 

 

ด้านนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า คลังได้จัดทำแผนนโยบายการคลังในระยะกลาง ซึ่งครอบคลุมระยะรวม 4 ปี (2565-2568) โดยยังคงบทบาทในการดูแลเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในปี 2564-2565 ด้านรายได้ของกระทรวงการคลัง โดยยืนยันว่าในขณะนี้สถานะทางการคลังของไทยยังแข็งแกร่ง เนื่องจากตัวเลขหนี้สาธารณะของไทย ที่เป็นส่วนสะท้อนสถานะทางการคลังของประเทศได้ดีนั้น ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 54% ต่อจีดีพี แบ่งเป็นหนี้ของรัฐบาลกู้ตรง อยู่ที่ 47% เท่านั้น โดยหากเข้าไปดูในรายละเอียดจะเห็นความมั่นคงของฐานะการคลังมากขึ้น เนื่องจากหนี้กว่า 85% เป็นหนี้ระยะยาวเกิน 1 ปี ซึ่งอายุเฉลี่ยหนี้ของรัฐบาลอยู่ที่ 10 ปี และหนี้กว่า 98% เป็นหนี้ในสกุลเงินบาท หรือการก่อหนี้ในประเทศ โดยมองในรูปแบบสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยต่อจีดีพี อาจมีความกังวลว่าปัจจุบันอยู่ในระดับสูงกว่า 54% แต่หากมองในอดีตที่ผ่านมา ปี 2543 หนี้สาธารณะไทยเคยขึ้นไปอยู่ที่ 59% เกือบแตะที่ 60% ต่อจีดีพี  แต่หลังจากปี 2543 มูลค่าสาธารณะก็ทยอยปรับลดลง ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังจากเกิดวิกฤตปี 2540 ขึ้น จึงเชื่อว่าหากเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดได้ ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะปรับลดลงได้ โดยในแผนนโยบายการคลังระยะปานกลาง ได้วางแผนดูแลในเรื่องการปรับโครงสร้างทางภาษี ไม่ได้เน้นในการเก็บรายได้เท่านั้น แต่เป็นการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน การเตรียมพร้อมรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างความเป็นธรรมโปร่งใสให้กับการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญที่วางแผนดำเนินการไว้

 

 

“เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพในการฟื้นตัวสูง หลังจากการระบาดโควิด-19 คลี่คลายตัวลง เนื่องจากตัวเลขในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ก่อนการแพร่ระบาดไวรัสระลอก 3 มีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศขยายตัว 80% รายได้ขยายตัว 30% และเห็นภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจฟื้นตัวกว่า 10 ประเภท อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ยานยนต์ การผลิตผลไม้ ทำให้มองในระยะถัดไป หากรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดโควิดระลอก 3 ได้เร็ว คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว รวมถึงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ของกระทรวงการคลัง มองว่าหากปีนี้สามารถคุมการระบาดโควิดได้ จะทำให้จีดีพีไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้” นายพิสิทธิ์ กล่าว

 

 

นายพิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับพ.ร.ก. เงินกู้ 7 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ระดับหนี้สาธาณะเกินกว่า 60% ต่อจีดีพีเล็กน้อย เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อความยั่งยืนของการคลังในระยะปานกลาง เพราะประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีหนี้สาธารณะระดับไม่น้อยกว่า 30% ต่อจีดีพี เพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และสร้างเสถียรภาพด้านการเงิน รวมถึงเงินกู้ก้อน 7 แสนล้านบาท ถือเป็นมาตรการการคลังที่ต้องเตรียมพร้อมเม็ดเงินไว้เพื่อดูแลเศรษฐกิจ และการเตรียมความพร้อมในการใช้ดำเนินนโยบายต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจรอการฟื้นตัว หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลาย จึงยังมีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความคืบหน้า การใช้จ่ายเงินโครงการที่ใช้เงินงบประมาณจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 6.5 แสนล้านบาท เหลือเม็ดเงินที่ยังไม่ได้ถูกเบิกจ่าย และสามารถใช้ได้จนถึงสิ้นปีนี้ อยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยดูแลเศรษฐกิจในระยะถัดไปได้ โดยกระทรวงการคลังทำประมาณการเศรษฐกิจไว้ว่าทั้งปี 2564 จีดีพีจะโตได้ 2.3% พิจารณามาจากการใช้เงินก้อน 1 ล้านล้านบาท ต้องใช้จ่ายให้ได้ 95% หรือ 9.5 แสนล้านบาท ทำให้เงินที่เหลือในก้อน 1 ล้านล้านบาท หากใช้ไม่หมดในปีงบประมาณที่กู้ ก็สามารถใช้ต่อได้จนถึงปี 2565

ข่าวที่เกี่ยวข้อง