รีเซต

ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจฟื้นเล็กๆ เลือกตั้งท้องถิ่นสะพัด5-6หมื่นล.

ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจฟื้นเล็กๆ เลือกตั้งท้องถิ่นสะพัด5-6หมื่นล.
มติชน
15 ตุลาคม 2563 ( 08:04 )
51
ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจฟื้นเล็กๆ เลือกตั้งท้องถิ่นสะพัด5-6หมื่นล.

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนกันยายน 2563 จากผู้ประกอบการเอกชน 365 ราย ช่วงวันที่ 23-30 กันยายน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการปรับขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 32.5 เพิ่มจากเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 32.3 และเป็นการปรับขึ้น 4 เดือนต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 39.8 จากระดับ 39.6 ปัจจัยสนับสนุนมาจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ใหม่ เหลือติดลบ 7.8% จากเดิมติดลบ 8.1% และรัฐบาลดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไป และผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศอยู่ระดับทรงตัว นอกจากนี้ ภาคธุรกิจเห็นว่าราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ส่งผลการขายสินค้าทำได้มากขึ้นด้วย

 

“แม้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น แต่ยังสะท้อนว่าธุรกิจมองการฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยและค่อนข้างช้า ค่าดัชนียังอยู่ระดับต่ำกว่าค่าปกติ โดยผลสำรวจพบว่าทุกภูมิภาคมองว่าเศรษฐกิจไทยยังแย่ จากปัญหาภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวขึ้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจมีปัญหาต่อเนื่อง และเห็นว่าธุรกิจท่องเที่ยวต้องได้รับการเยียวยามากสุด เพราะเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบจนย่ำแย่ไปทั้งหมด เช่นเดียวกับภาคจ้างแรงงานค่อนข้างแย่ ยังมีการพูดถึงการปลดคนงานอยู่ และตกงานเพิ่มส่งผลขาดกำลังซื้อ แต่มุมมองต่ออนาคตยังเชื่อว่าทิศทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น ผลจากเดือนตุลาคมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเริ่มขึ้น อาทิ โครงการช้อปดีมีคืน และงบสะพัดจากการเลือกตั้งท้องถิ่น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่วนปัจจัยกังวลคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงสร้างความลังเลต่อการจับจ่ายใช้สอย” นายธนวรรธน์กล่าว

 

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ได้แก่ เติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มอีก 500 บาทต่อเดือน โครงการคนละครึ่ง และโครงการช้อปดีมีคืน ประเมินว่าจะมีเม็ดเงินลงในระบบเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาท รวมทั้งการใช้งบประมาณภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งตามหลักเม็ดเงินจะถูกหมุนเวียนใช้จ่าย 2-3 รอบก็จะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิประมาณ 2-3 แสนล้านบาท โดยไม่รวมงบประมาณจากการเลือกตั้งท้องถิ่นอีก สำหรับประเด็นการเมืองไทย เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลหรือการยุบสภา ยังไม่มีผลต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจหากเกิดขึ้นช่วงระยะสั้น ๆ

 

“หากสถานการณ์ทางการเมืองมีปัญหา เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองตึงเครียดและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งต้องวัดจากสถานการณ์การชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคมและเหตุการณ์วันต่อๆไป หากเกิดรุนแรงอาจทำให้การใช้จ่ายชะลอตัวลง และเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากมาตรการลดลงเหลือ 1-2 รอบ หรือมูลค่าจะเหลือ 1.5-2 แสนล้านบาทเท่านั้น จะส่งผลกระทบต่อตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2563 ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวเป็นบวกได้ 2-3% และส่งผลให้จีดีพีทั้งปี 2563 ติดลบน้อยลงเหลือ 4-5% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 7-8% อาจทำให้ไตรมาส4/2563 จีดีพีบวกแค่ 1% เท่านั้น และจีดีพีทั้งปีติดลบ 6-7% ขณะที่ถือว่าสถานการณ์ทางการเมืองเป็นตัวแปรสำคัญ” นายธนวรรธน์กล่าว

 

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ที่ต้องติดตามคือ การชุมนุมในแต่ละกลุ่มขณะนี้ หากไม่ยืดเยื้อและชุมนุมแบบค้างคืนไม่นาน เป็นการชุมนุมแบบแฟลชม็อบเท่านั้น รวมถึงไม่เกิดการปะทะรุนแรงหรือบานปลาย ระยะสั้นจะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นประชาชนและภาคธุรกิจ หากการชุมนุมยืดเยื้อไม่จบ เกิดการประทะรุนแรง พื้นที่ชุมนุมขยายไปทุกพื้นที่และยาวนานเป็นเดือนๆ จะมีผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ภาคอื่นๆ ให้น้ำหนักกับมาตรการดูแลของภาครัฐ อาทิ สภาพคล่อง หนี้ การจ้างงาน และกำลังซื้อมากกว่าเหตุชุมนุม

 

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปลายเดือนธันวาคม 2563 คาดว่าจะมีเม็ดเงินในการหาเสียงสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีการแข่งขันสูงในระหว่างพรรคการเมือง และจัดส่งตัวแทนลงเลือกตั้งจำนวนมาก เพราะ อบจ.เป็นฐานเสียงสำคัญ จะช่วยกระตุุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายปีนี้ จากนั้นช่วงต้นปี 2564 จะมีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คาดมีเม็ดเงินสะพัดอีก 2-3 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวเป็นบวกแน่นอน แต่ตัวเลขต้องประเมินสถานการณ์การเมืองและการใช้จ่ายจริงอีกครั้ง