รีเซต

ตรัง ร้องเดือดร้อนหนักใช้เงินเยียวยาซื้อท่อระบายน้ำฝังหน้าบ้าน

ตรัง ร้องเดือดร้อนหนักใช้เงินเยียวยาซื้อท่อระบายน้ำฝังหน้าบ้าน
77ข่าวเด็ด
8 มิถุนายน 2563 ( 02:56 )
101


ชาวบ้านใสเดือย หมู่ 4 ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง ร้องเรียนเดือดร้อนหนักจากการต้องใช้เงินเยียวยา และกู้หนี้ยืมสิน เพื่อซื้อท่อระบายน้ำคอนกรีตฝังคูน้ำหน้าบ้าน หลัง อบจ.ตรัง ทำโครงการปรับปรุงซ่อมแซมถนน แต่ไม่ทำตามข้อตกลงที่รับปากจะทำท่อบล็อคเปลี่ยนทิศทางน้ำไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนในช่วงฤดูน้ำหลาก แต่สุดท้ายอ้างงบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ต้องซื้อท่อระบายน้ำใหม่แทนของเก่า แต่ไม่เสริมเหล็ก ไม่ได้มาตรฐาน โดยเตรียมคืนท่อระบายน้ำดังกล่าว เพราะเชื่อว่าไม่คุ้มค่า เปราะบาง แตกง่าย และเรียกร้องให้ อบจ.พิจารณางบเพิ่มเติมออกให้ชาวบ้านเอง และทำท่อบล็อกน้ำเบี่ยงเส้นทางน้ำหลาก ตามที่ได้ตกลงกันในที่ประชุม

 

วันที่ 8 มิถุนายน 2563 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน ม.4 ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรังว่า หลังการปรับปรุงถนนของ อบจ.ตรัง ชื่อ โครงการปรับปรุงขยายผิวทางถนนแบบพาราแอสฟัลท์คอนกรีตสายบ้านน้ำผุด – บ้านไสเดือย หมู่ 4 ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง – ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง ขนาดกว้าง 6 เมตร ไหล่ทางข้างละ 1.50 เมตร ระยะทาง 1,800 เมตร งบประมาณ 8,970,000 บาท แต่ค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้าง 7,020,000 บาท แต่ขณะนี้ชาวบ้านประมาณ 40 ครัวเรือน ต่างได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากต้องออกเงินส่วนตัวซื้อท่อระบายน้ำใหม่ แทนท่อเดิมขนาด 60 ซม. ราคาลูกละ 600 บาท ที่ยังใช้งานได้อยู่ และอยู่ในสภาพดีและแข็งแรงทนทาน

 

เนื่องจากเป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก แข็งแรง ทนทาน มีขนาด 60 นิ้ว แต่เมื่อมีการรื้อท่อเก่าทิ้ง ทำให้ทุกบ้านต้องซื้อท่อใหม่ ตามขนาดที่ อบจ.ต้องการและเห็นว่าเหมาะสม คือ ขนาด 80 ซม. ในราคาลูกละ 800 บาท โดยชาวบ้านทุกคนต่างตกในภาวะจำยอม เพราะหากไม่ใส่ท่อระบายน้ำ ก็ไม่สามารถเข้าบ้านได้ เพราะถนนผ่านหน้าบ้าน มีคูระบายน้ำด้านข้างริมฝั่งถนนตลอดเส้นทาง ประกอบกับหากไม่ใส่ท่อระบายน้ำ ในฤดูน้ำหลากจะมีน้ำจากภูเขาไหลลงมาท่วมบ้านเรือนของประชาชน ทำให้ประชาชนแต่ละครอบครัวที่ซึ่งสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ อันเนื่องมาจากสถานการณ์โรคติดต่อ ไม่มีเงินไว้ใช้จ่ายในครัวเรือน ผลผลิตการเกษตรกรตกต่ำอยู่แล้ว และทุกคนได้ลงชื่อขอรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล ทั้งในฐานะคนว่างงาน และในฐานะเกษตรกร จึงจำเป็นต้องนำเงินเยียวยาดังกล่าวมาซื้อท่อระบายน้ำคอนกรีตใหม่

 

บางรายเงินไม่พอต้องกู้หนี้ยืมสิน เพราะ อบจ.ได้สั่งให้ผู้นำในพื้นที่รับผิดชอบสั่งซื้อมาลงไว้แล้ว ทั้งนี้ ชาวบ้านต่างยืนยันว่า เดิมในการประชุม เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในการปรับปรุงถนนดังกล่าว ทาง อบจ.ได้ชี้แจงว่า ทาง อบจ.จะทำท่อบล็อกน้ำ เพื่อเบี่ยงทางน้ำจำนวน 2 จุด เพื่อเบี่ยงทางน้ำเข้าสวนยาง ไม่ให้ไหลไปตามคูและท่อระบายน้ำ เพราะจะเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน แต่พอทำจริงปรากฏว่า ทางอบจ.ไม่มีท่อบล็อกน้ำตามที่ได้ชี้แจงไว้ในที่ประชุม โดยอ้างว่างบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้ชาวบ้านทั้งหมด ซึ่งนอกจากจำใจต้องซื้อท่อระบายน้ำเองแล้ว แต่กลับได้ท่อระบายน้ำที่ไม่มีมาตรฐาน ไม่เสริมโครงเหล็ก ปรากฏว่า เมื่อนำมาจัดวาง และเครื่องจักรเคลื่อนย้ายหรือขยับเขยื้อนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ท่อคอนกรีตดังกล่าวก็แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ทันที ทำให้ชาวบ้านยิ่งไม่พอใจ

 

เนื่องจากเกือบทุกครอบครัวได้จ่ายเงินซื้อท่อระบายน้ำไปแล้ว แต่ไม่แข็งแรงทนทานเท่าท่อเดิมที่ชาวบ้านเคยใช้อยู่ ขนาด 60 ซม. และซื้อมาในราคาลูกละเพียง 600 บาทเท่านั้น แต่ท่อใหม่ที่ซื้อ เป็นขนาดที่ อบจ.กำหนด 80 ซม. ราคาแพงกว่าลูกละ 800 บาท ทั้งนี้ ชาวบ้านแต่ละครอบครัวต้องซื้อท่อใหม่ครอบครัว 5 – 30 ลูก ขึ้นอยู่ความกว้างของทางเข้าบ้าน และการใช้งาน หากบ้านใครมีรถบรรทุกเข้าออก ต้องซื้อขนาดพิเศษเพิ่มขึ้น เป็นแบบเสริมเหล็กพิเศษ ในราคาลูกละ 1,200 บาท ทำให้แต่ละรายต้องจ่ายเงินตั่งแต่หลักหลายพันถึงหลายหมื่นบาท โดยชาวบ้านได้นำเงินที่ได้รับการเยียวยาโรคระบายโควิดมาจ่ายค่าท่อคอนกรีต บางรายต้องกู้หนี้ยืมสินมาจ่าย

 


 

 

 

 

 

โดยนายชูศักดิ์ หนูเลี่ยง อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 155 ม.4 ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง กล่าวว่า ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ที่ต้องมาจ่ายค่าท่อคอนกรีต ที่ทาง อบจ.สั่งให้ในพื้นที่จัดหาท่อมาลงไว้ แล้วให้ชาวบ้านออกเงินเองทั้งหมด ทั้งๆที่ของเดิมยังใช้อยู่และแข็งแรงทนทาน แต่ท่อใหม่ที่ได้รับกลับเป็นท่อที่ไม่มีโครงเหล็ก เป็นเพียงหินและคอนกรีตอัดแท่งเท่านั้น ซึ่งเปราะง แตกง่าย และไม่เหมาะกับการใช้งาน เมื่อเทียบกับท่อเดิมที่ชาวบ้านใช้อยู่ มีคุณภาพแตกต่างกันมาก ตนจึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบกับเรืองนี้ ส่วนตัวจะไม่เอา ให้คืนท่อคอนกรีตนี้ทั้งหมด เพราะหากเอา ใช้งานได้ไม่นานก็แตก พัง ต้องเสียเงินซื้อใหม่อีก ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ทาง อบจ.บอกให้ชาวบ้านใช้เงินเยียวยาซื้อ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะชาวบ้านแต่ละคนก็เดือดร้อนหนักอยู่แล้ว เงินที่ได้จากการเยียวยา ก็ควรได้นำมาใช้จ่ายในครอบครัว


 

ด้านนายรมณ์ ช่วยชนะ (เสื้อแดง) กล่าวว่า ท่อที่นำมาให้เป็นท่อระบายน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน ในขณะที่ชาวบ้านเป็นคนออกเงินซื้อท่อนี้เอง ชาวบ้านจึงควรได้รับของดีมีคุณภาพ สำหรับการวางท่อนี้ชาวบ้านไม่มีใครเห็นด้วย โดยชาวบ้านขอให้ฝังท่อขนาดใหญ่ 2 จุด เพื่อเบี่ยงทางน้ำ ไว้ระบายน้ำที่ท่วมขังบ้านเรือนของชาวบ้าน และในการประชุมชี้แจงโครงการของ อบจ.กำหนดไว้แล้วว่าจะทำ แต่พอทำจริงกลับไม่มีการทำท่อบล็อกดังกล่าว โดยทาง อบจ.ตรังแจ้งว่างบประมาณไม่มี และท่อคอนกรีตที่ได้กลับไม่มีคุณภาพ แตกง่าย ส่วนตัวอยากคืนท่อทั้งหมดและคืนเงินให้ชาวบ้าน และ อบจ.ควรจะรับผิดชอบท่อระบายน้ำนี้เอง เพราะชาวบ้านจ่ายไป ก็ใช้งานได้ไม่นาน และไหนชาวบ้านจะต้องมาเสียเงินเทคอนกรีต ทำทางเข้าบ้านเองอีก ยังต้องเสียเงินอีกคนละจำนวนมาก

 

ในขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาต้องการให้ อบจ.ฝังท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ เบี่ยงทางไหลของน้ำ และไม่เคยเห็นด้วยจะให้รื้อของเก่า เพราะใช้งานได้อยู่ แข็งแรง ทนทาน แต่ทุกคนต้องจำยอม และพอได้มาพบว่าเป็นท่อไม่เสริมเหล็ก เปราะบาง ไม่ทันได้วาง บางลูกก็แตกเป็นเสี่ยงๆแล้ว ชาวบ้านไม่ต้องการแล้ว อยากคืนกลับไป และอยากให้ อบจ.พิจารณางบประมาณเพิ่มเติมซื้อมาใส่เอง เพราะชาวบ้านเดือดร้อน

 

ทางด้านนายประจวบ สีดำ สมาชิกสภา อบต.หมู่ 4 ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง (เสื้อขาว) กล่าวว่า ตนเองได้รับคำสั่งจาก อบจ.ให้เป็นคนจัดหาท่อคอนกรีต จึงประสานผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยเป็นธุระจัดหา โดยอบจ.ไม่ได้กำหนดไว้เลยว่า จะต้องเป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก บอกแต่ให้โทรประสานแจ้งร้านค้าเอาท่อขนาด 80 ซม.มาลง เท่านั้น ความจริง อบจ.ต้องกำหนดเอาไว้ให้เรียบร้อยว่า ท่อคอนกรีตที่ใช้จะต้องเป็นเสริมเหล็กเท่านั้น แต่ปรากฏว่าท่อระบายน้ำที่ได้มา กลับไม่เสริมเหล็ก เปราะบาง แตกง่าย ที่สำคัญชาวบ้านไม่ได้ต้องการถนน แต่ต้องการให้ อบจ.ลงท่อขนาดใหญ่ผันน้ำใน 2 จุด เพื่อแก้ปัญหาน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน

 

แต่สุดท้าย อบจ.มาทำถนน และต้องขุดคูใหม่ และไม่ฝังท่อขนาดใหญ่ตามที่รับปากไว้กับชาวบ้าน ทั้งนี้ ชาวบ้านต่อรองแล้ว ไม่ต้องการซื้อท่อระบายน้ำใหม่ เพราะของเก่าที่มีใช้งานได้อยู่ แข็งแรงทนทาน และเสริมเหล็ก แต่อบจ.บอกว่าต้องใช้ท่อขนาดใหญ่ขึ้น จาก 60 ซม.เป็น 80 ซม. ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ส่วนตัวเองซื้อทั้งหมด 31 ลูก และซื้อเป็นลักษณะพิเศษเสริมเหล็กหลายชั้น ตกลูกละ 1,200 บาท เสียเงินไปเกือบ 4 หมื่นบาท ขณะที่ชาวบ้านคนอื่นๆต้องจ่ายคนละหลายพัน ถึงหลายหมื่นบาท และต้องเอาเงินเยียวมาซื้อ แทนจะใช้จ่ายที่จำเป็น อยากให้ อบจ.รับผิดชอบ ออกให้ชาวบ้านเองทั้งหมด เพราะเป็นความต้องการของ อบจ.ที่จะทำถนน และขุดคูใหม่


 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง