10 จุดเสี่ยงบนท้องถนน ที่ควรระวัง และเพิ่มความปลอดภัย | บทความโดย Pchalisa ถนนหนทาง รถบนท้องถนนและผู้คนที่ใช้ถนน ถือเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งค่ะ ที่ในด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมระบุว่า สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราสามารถคุกคามสุขภาพเราได้ โดยเฉพาะถ้าจุดนั้นมีความเสี่ยง ซึ่งการวิเคราะห์ความเสี่ยงและรู้ความเสี่ยง จะทำให้เราลดความเสี่ยงและเพิ่มความระมัดระวังได้ค่ะ ดังนั้นการตระหนักถึงจุดเสี่ยงต่างๆ จะช่วยให้คุณผู้อ่านขับขี่ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้นค่ะ ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจึงอยากส่งต่อ 10 จุดเสี่ยงบนถนน ที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้ได้เรียนรู้กันค่ะ ดังข้อมูลต่อไปนี้ 1. ทางแยก ทางแยกเป็นจุดเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งในการขับขี่ เนื่องจากเป็นจุดที่รถจากหลายทิศทางมาบรรจบกัน ไม่ว่าจะเป็นสี่แยก สามแยกหรือแยกต่างระดับ เป็นจุดที่ผู้ขับขี่ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วว่าจะไปทางไหน เมื่อไหร่ และต้องระวังรถคันอื่นที่อาจจะตัดหน้าหรือเปลี่ยนเลนกะทันหัน การขับรถด้วยความเร็วสูงเกินไป ทำให้หยุดรถไม่ทันเมื่อเจอสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งมุมอับ หรือสิ่งกีดขวาง อาจทำให้ผู้ขับขี่มองไม่เห็นรถคันอื่นที่กำลังจะเข้ามาในทางแยกค่ะ แถมบางทีที่ทางแยกยังการขับรถขณะเมาสุรา หรือใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในจุดนี้ค่ะ ดังนั้นการขับผ่านทางแยกต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษค่ะ ที่ต้องสังเกตป้ายจราจร ไฟจราจร และรถคันอื่นๆ รอบข้างให้ดีนะคะ 2. ทางลาดชัน เนื่องจากการขับรถด้วยความเร็วสูงบนทางลาดชันจะทำให้รถเสียการทรงตัวได้ง่าย เมื่อต้องการเบรก รถจะใช้ระยะทางในการหยุดที่ยาวขึ้นกว่าปกติ หากถนนลื่นจากฝน ฝุ่น หรือเศษวัสดุต่างๆ จะยิ่งทำให้รถเสียการยึดเกาะกับถนนมากขึ้น และสภาพของยางรถที่สึกหรอ หรือระบบเบรกที่ไม่ดี จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมรถบนทางลาดชัน ทั้งทางขึ้นและทางลง และทางลาดชันมักมีทางโค้งที่คดเคี้ยว ทำให้ผู้ขับขี่มองไม่เห็นสิ่งกีดขวางหรือรถคันอื่นที่อยู่ข้างหน้าได้ชัดเจน จึงควรควบคุมความเร็วให้เหมาะสม และระวังรถที่อาจจะเสียหลักค่ะ 3. จุดกลับรถ คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า จุดกลับรถมักเป็นจุดที่ค่อนข้างอันตราย จากที่ผู้ขับขี่ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วว่าจะกลับรถเมื่อใด จุดกลับรถมักมีมุมอับที่ทำให้ผู้ขับขี่มองไม่เห็นรถคันอื่นที่กำลังจะเข้ามาในช่องทางกลับรถ ซึ่งในบางครั้งบางคนกลับรถในจุดที่ห้ามกลับรถหรือการไม่เปิดไฟเลี้ยว แบบนี้ก็มาเพิ่มความเสี่ยงให้กับจุดนี้บนถนนค่ะ ตลอดจนถนนที่ลื่นหรือมีหลุมบ่อ อาจทำให้รถเสียหลักได้ขณะกลับรถ พอเป็นแบบนั้นจึงต้องระวังรถคันอื่นที่วิ่งมาในช่องทางตรงที่ควรใช้ไฟเลี้ยวให้สัญญาณ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีรถคันอื่นมาค่ะ ก่อนถึงจุดกลับรถควรชะลอความเร็วลงเพื่อเตรียมพร้อมค่ะ และก่อนตัดสินใจกลับรถ ควรมองให้รอบด้าน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีรถคันอื่นผ่านมา 4. ทางโค้ง หลายคนยังไม่รู้ว่า การออกแบบทางโค้งให้มีความลาดเอียงนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกำหนดความเร็วที่เหมาะสมในการเข้าโค้งค่ะ เมื่อรถเคลื่อนที่ผ่านทางโค้ง จะเกิดแรงเหวี่ยงดึงรถให้ออกนอกโค้ง การลาดเอียงของถนนจะช่วยต้านทานแรงเหวี่ยงนี้ ทำให้รถสามารถเคลื่อนที่ไปตามแนวโค้งได้อย่างราบรื่นค่ะ ดังนั้นเมื่อเราขับขี่ด้วยความเร็วนั้นจะช่วยให้รถสามารถเคลื่อนที่ผ่านโค้งได้อย่างปลอดภัย โดยไม่เสี่ยงต่อการเสียหลักหรือเกิดอุบัติเหตุหรือที่เราเรียกว่า “แหกโค้ง” ค่ะ ซึ่งทางโค้งเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย โดยเฉพาะทางโค้งหักศอก หรือทางโค้งที่มองไม่เห็นรถสวนมา ดังนั้นควรลดความเร็วลง และระวังรถที่อาจจะขับเร็วเกินไปค่ะ 5. จุดตัดทางรถไฟ จากที่เรารู้ๆ กันมาว่า รถไฟมีความเร็วสูงและมีน้ำหนักมหาศาล การชนกันระหว่างรถยนต์กับรถไฟจึงส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมาก ซึ่งรถไฟมีระยะเบรกที่ยาวกว่ารถยนต์มาก ทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์อาจไม่ทันได้ระวังตัวและหลบหลีกได้ทัน และที่น่ากลังคือผู้ขับขี่บางรายไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร เช่น ขับรถข้ามทางรถไฟโดยไม่หยุดรถหรือขับรถเร็วเกินไป แบบนี้ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นมาอีกค่ะ และถ้าสภาพอากาศที่เลวร้าย เช่น ฝนตก หรือหมอกหนา อาจทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นลดลง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ค่ะ และบางจุดตัดทางรถไฟอาจไม่มีอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น เครื่องกั้นหรือสัญญาณเตือน จึงทำให้ผู้ขับขี่ไม่ระวังตัว ดังนั้นก่อนถึงจุดตัดทางรถไฟทุกครั้ง ควรหยุดรถให้สนิทและมองซ้าย-ขวา ให้แน่ใจว่าไม่มีรถไฟกำลังจะมาค่ะ โดยเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณเตือน หรือเห็นเครื่องกั้นกำลังปิดลง ห้ามขับรถข้ามทางรถไฟเด็ดขาด และการแซงอาจทำให้มองไม่เห็นรถไฟที่กำลังจะมาค่ะ ในบางครั้งการใช้ทางลัดหรือทางที่ไม่ได้รับอนุญาตเป็นสิ่งผิดกฎหมายและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ด้วย 6. บริเวณที่มีการก่อสร้าง ปกติบริเวณก่อสร้างมักมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา เช่น มีหลุมบ่อ วัสดุก่อสร้างกองอยู่เกะกะ เส้นทางการจราจรอาจเปลี่ยนแปลง ผู้คนอาจไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมใหม่ ทำให้เกิดความสับสนและอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และในพื้นที่ก่อสร้างมีเครื่องจักรและอุปกรณ์หนัก เช่น รถเครน รถแบคโฮ เครื่องเจาะ ซึ่งหากใช้งานไม่ถูกวิธีหรือเกิดอุบัติเหตุกับเครื่องจักรเหล่านี้ ก็อาจเป็นอันตรายต่อผู้คนในบริเวณใกล้เคียงได้ โดยวัสดุก่อสร้างต่างๆ เช่น เหล็กเส้น ท่อ ปูนซีเมนต์ อาจหล่นลงมาจากที่สูง หรือมีเศษวัสดุที่คมชัดกระเด็นออกมาขณะทำงาน ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่สัญจรผ่านไปมาค่ะ ซึ่งบริเวณก่อสร้างมักมีการจราจรที่หนาแน่นขึ้น เนื่องจากมีรถบรรทุกวัสดุก่อสร้าง รถของคนงาน และรถของผู้ที่สัญจรผ่านไปมา ทำให้การควบคุมรถเป็นไปได้ยากและอาจเกิดอุบัติเหตุชนกันได้ บางครั้งสัญญาณเตือนภัยหรือป้ายบอกทางในบริเวณก่อสร้างอาจไม่ชัดเจนเพียงพอ ทำให้ผู้คนไม่ระมัดระวังและอาจเข้าไปในพื้นที่อันตรายโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นควรลดความเร็วลงเมื่อเข้าใกล้บริเวณก่อสร้าง เพื่อให้มีเวลาในการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ให้ความสนใจกับป้ายเตือนและสัญญาณจราจรต่างๆ ในบริเวณก่อสร้าง ระวังหลุมบ่อ วัสดุก่อสร้าง และสิ่งกีดขวางอื่นๆ ที่อาจอยู่บนถนน ที่ในเวลากลางคืน การมองเห็นอาจไม่ชัดเจน ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษค่ะ หากสามารถเลี่ยงเส้นทางอื่นได้ ควรหลีกเลี่ยงการเดินผ่านบริเวณก่อสร้าง 7. บริเวณโรงเรียน ปกติช่วงเวลาที่นักเรียนเข้าและออกโรงเรียน มักมีรถยนต์จำนวนมากมาส่งและมารับ ทำให้การจราจรติดขัดและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เด็กนักเรียนมักจะข้ามถนนไปโรงเรียนและกลับบ้านเอง โดยอาจไม่ระมัดระวังตัวเท่าผู้ใหญ่ ทำให้เสี่ยงต่อการถูกรถชน ผู้ปกครองบางรายอาจจอดรถในที่ห้ามจอด เช่น บริเวณทางม้าลาย หรือริมฟุตบาท ทำให้การจราจรติดขัดและเป็นอันตรายต่อเด็กนักเรียนค่ะ ซึ่งผู้ขับขี่บางรายอาจขับรถด้วยความเร็วสูงในบริเวณโรงเรียน โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กนักเรียนนะคะ และถนนหน้าโรงเรียนบางแห่งอาจมีสภาพชำรุด มีหลุมบ่อ หรือไม่มีทางม้าลาย ทำให้การสัญจรของเด็กนักเรียนเป็นไปอย่างยากลำบากและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ 8. บริเวณที่มืด คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า? ช่วงเวลาพลบค่ำถือเป็นช่วงเวลาเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่แสงสว่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นของผู้ขับขี่ลดลงอย่างมาก จนอาจมองเห็นวัตถุ สิ่งกีดขวาง หรือผู้คนได้ไม่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ซึ่งช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นช่วงพลบค่ำที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ ช่วงเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนพระอาทิตย์ตกดิน และ 1 ชั่วโมงหลังพระอาทิตย์ตกดินค่ะ เพราะในช่วงเวลานี้แสงอาทิตย์จะส่องกระทบกับพื้นผิวถนนในมุมที่ทำให้เกิดแสงสะท้อนจ้า ทำให้มองเห็นทางได้ไม่ชัดเจน แสงที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ดวงตาของผู้ขับขี่ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับแสงสว่างที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดความเมื่อยล้าของสายตาและลดทอนประสิทธิภาพในการมองเห็น หากมีหมอกลง หรือฝนตกในช่วงพลบค่ำ จะยิ่งทำให้ทัศนวิสัยลดลง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุค่ะ โดยในที่มืดผู้ขับขี่จะมองเห็นสภาพถนน สัญญาณจราจร และสิ่งกีดขวางได้ยากขึ้น ทำให้ประเมินสถานการณ์ได้ไม่ชัดเจน และอาจเกิดอุบัติเหตุจากการชน หรือการหลุดโค้งได้ง่าย ผู้ขับขี่บางรายอาจขับรถด้วยความเร็วที่สูงเกินไปในที่มืด ซึ่งจะทำให้ระยะเบรกยาวขึ้น และมีโอกาสที่จะหยุดรถไม่ทันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ในที่มืด ผู้ขับขี่อาจมองไม่เห็นสัตว์เลี้ยงหรือคนเดินถนนที่อยู่ริมถนน ทำให้เกิดอุบัติเหตุชนคนหรือสัตว์ได้ หากถนนในที่มืดมีความเสียหาย เช่น มีหลุมบ่อ หรือผิวถนนไม่เรียบ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น ดังนั้นควรลดความเร็วลงเมื่อขับรถในที่มืด ควรเปิดไฟหน้ารถให้สว่างเพียงพอ เพื่อเพิ่มทัศนวิสัยในการมองเห็น ที่ควรขับรถด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะบริเวณที่มีบ้านเรือน หรือโรงเรียนค่ะ 9. บริเวณที่มีหมอก หมอกจะบดบังทัศนวิสัย ทำให้ผู้ขับขี่มองเห็นระยะทางได้สั้นลง เห็นป้ายจราจร สิ่งกีดขวาง หรือรถคันอื่นได้ไม่ชัดเจน ส่งผลให้ประเมินสถานการณ์ได้ยากขึ้น ที่ผู้ขับขี่มักจะประเมินความเร็วในการขับขี่ไม่ถูกต้อง เมื่อเจอหมอกลงจัด อาจจะขับเร็วเกินไป ทำให้ระยะเบรกยาวขึ้น และไม่สามารถหยุดรถได้ทันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน หมอกมักจะทำให้ผิวถนนเปียกชื้น ทำให้การยึดเกาะของล้อรถลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการลื่นไถล และแสงไฟหน้ารถที่ส่องไปที่หมอก จะทำให้เกิดแสงสะท้อนเข้าตาผู้ขับขี่ ทำให้มองเห็นทางได้ยากขึ้น รวมไปถึงในสภาพอากาศที่มีหมอกลงจัด สัตว์เลี้ยงหรือคนเดินถนนอาจมองไม่เห็นรถที่กำลังแล่นมา ทำให้เกิดอุบัติเหตุชนได้ค่ะ ดังนั้นควรลดความเร็วลงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและทัศนวิสัย ควรเปิดไฟหน้ารถให้สว่างเพียงพอ เพื่อให้รถคันอื่นเห็น และเพิ่มทัศนวิสัยในการมองเห็น ควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากขึ้น เพื่อให้มีเวลาในการเบรกเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ควรขับรถอยู่ในเลนเดียวกัน และหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนเลนกะทันหัน และหากหมอกลงจัดมาก ควรจอดรถในที่ปลอดภัย และรอจนกว่าสภาพอากาศดีขึ้นจึงค่อยเดินทางต่อค่ะ 10. บริเวณที่มีฝนตก เนื่องจากน้ำฝนที่ตกลงมาจะทำให้ผิวถนนลื่น โดยเฉพาะในช่วง 5-10 นาทีแรกที่ฝนตก น้ำฝนจะผสมกับฝุ่นละอองบนถนน ทำให้เกิดเป็นชั้นบางๆ เหมือนสบู่เคลือบบนถนน ทำให้รถลื่นไถลได้ง่ายค่ะ ฝนที่ตกหนักจะบดบังทัศนวิสัย ทำให้มองเห็นทางได้ไม่ชัดเจน อาจมองไม่เห็นรถคันอื่น ป้ายจราจร หรือสิ่งกีดขวางบนถนน เมื่อฝนตกหนักอาจเกิดน้ำท่วมขังบนถนน ทำให้ไม่สามารถประเมินความลึกของน้ำได้ หากขับรถผ่านไปอาจทำให้รถเสียหลัก หรือดับเครื่องได้ เมื่อรถวิ่งด้วยความเร็วสูงผ่านแอ่งน้ำ หรือถนนที่เปียกชุ่ม ล้อรถจะสูญเสียการยึดเกาะกับพื้นถนน ทำให้รถเสียการควบคุม และในบางครั้งฝนที่ตกชะล้างเศษวัตถุต่างๆ เช่น กิ่งไม้ ใบไม้ หรือเศษขยะลงบนถนน ทำให้รถลื่นไถลได้ง่าย ซึ่งควรลดความเร็วลงให้เหมาะสมกับสภาพถนน เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากขึ้น เปิดไฟหน้ารถเพื่อเพิ่มทัศนวิสัย และให้รถคันอื่นเห็น ขับรถอยู่ในเลนเดียวกัน และหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนเลนกะทันหัน หลีกเลี่ยงการขับรถผ่านแอ่งน้ำ หากจำเป็นต้องผ่าน ควรขับรถด้วยความเร็วต่ำค่ะ และนั่นคือข้อมูลของจุดเสี่ยงบนท้องถนนที่เราใช้ประจำค่ะ ที่นอกจากจะต้องตระหนักมากขึ้นแล้ว เรายังต้องนำปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยในการขับขี่มาพิจารณาด้วยนะคะ ดังนี้ สภาพรถ: ตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เช่น ยางรถ เบรก ไฟส่องสว่าง เป็นต้น สภาพร่างกาย: หากรู้สึกง่วงนอน เหนื่อยล้าหรือไม่สบาย ควรหลีกเลี่ยงการขับรถค่ะ สมาธิ: ขณะขับรถควรตั้งสมาธิกับการขับขี่ ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจจะทำให้เสียสมาธิค่ะ และการปฏิบัติตามกฎจราจร ขับรถด้วยความระมัดระวัง คือสิ่งสำคัญที่สุดในการขับขี่บนท้องถนนนะคะ ที่โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนเป็นคนขับขี่ไปช้าๆ ค่ะ ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นจักรยาน มอเตอร์ไซค์ละรถยนต์ เป็นคนไม่ชอบเสี่ยงบนท้องถนนด้วยความเร็วค่ะ ที่ในเขตชุมชนยิ่งระวังตัวเองมากค่ะ เพราะบางทีไม่ใช่แค่คนเท่านั้น ไหนจะหมา แมวหรือลูกบอลก็มีด้วยค่ะ จากที่ขับขี่มาตลอดไม่เคยเปิดโทรศัพท์ดูอะไรตอนกำลังขับขี่ค่ะ และมักชะลอความเร็วเสมอตอนถึงจุดเสี่ยงต่างๆ ทางโค้งไม่แซงค่ะ ต่อให้รถคันข้างหน้าจะช้าก็ตาม ค่อยเป็นค่อยไปค่ะ ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ เครดิตภาพประกอบบทความ ภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva เกี่ยวกับผู้เขียน ภัคฒ์ชาลิสา จำปามูล จบการศึกษา : พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ : สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://news.trueid.net/detail/m82EJGjkyeRz https://women.trueid.net/detail/5PrylgWWyaBx https://women.trueid.net/detail/VOb9XPY26bkG เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !