ในสมัยโบราณนั้นยังไม่มียารักษาโรค หากเกิดเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บคนโบราณก็มักจะใช้พืชสมุนไพรในการรักษา ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าพืชสมุนไพรนั้นมีสรรพคุณที่สามารถรักษาหรือแก้อาการต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในปัจจุบันคนเริ่มมาให้ความสนใจเกี่ยวกับสมุนไพรน้อยลง และทำให้สมุนไพรบางชนิดนั้นไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ผู้เขียนจึงมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการนำข้อมูลลักษณะและสรรพคุณของสมุนไพรชนิดต่าง ๆ มานำเสนอให้ทุกท่านได้รู้จัก อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ และเป็นแนวทางในการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งบทความนี้ผู้เขียนได้นำข้อมูลของ “ฝิ่นต้น” ซึ่งเป็นสมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคเป็นอย่างดี แต่ก็ต้องศึกษาวิธีการใช้เป็นอย่างดีถึงเรื่องข้อควรระวังต่าง ๆ เพราะสมุนไพรชนิดนี้ก็มีพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งผู้เขียนได้นำข้อมูลดังกล่าวมารวมอยู่ในเนื้อหาของบทความนี้แล้วภาพถ่ายโดยผู้เขียน“ฝิ่นต้น” เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็ก ลักษณะต้นของมันคล้ายกับต้นของมะละกอ แต่มีขนาดที่เล็กกว่าและมีแกนของลำต้นที่แข็ง ลำต้นค่อนข้างอวบน้ำ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา มีกระและจุดเล็ก ๆ มียางสีขาว รากมีลักษณะเป็นหัว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท ต้องการน้ำและความชื้นในระดับปานกลาง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปกลม ขอบใบลึกเป็นแฉกเว้าลึกลักษณะคล้ายฝ่ามือ ประมาณ 9-11 แฉก ในขอบใบที่เป็นแฉกจะหยักเป็นซี่ฟันช่วงกลางขอบใบ ปลายเป็นติ่งแหลมถึงยาวคล้ายหาง ปลายใบแหลม พบบ้างมีรยางค์แข็ง แผ่นใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน หลังใบเรียบ ก้านใบยาวกลม หูใบแยกเป็นง่ามรูปขนแข็ง ดอกเป็นช่อแบนแน่นติดกันแบบช่อเชิงหลั่น โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็กติดกันแน่น ดอกมีสีแดงสด ดอกเป็นแบบแยกเพศ ลักษณะของดอกคล้ายกับดอกเถาคันหรือดอกกะตังบาย กลีบเลี้ยงในดอกเพศผู้จะเป็นรูปไข่กลับกว้าง ผลเป็นรูปทรงกลม มีพู 3 พู คล้ายผลสลอดหรือผลปัตตาเวีย แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า แต่ละพูจะมีลักษณะเป็นสัน ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีออกเหลืองหม่น มีลายสีน้ำตาล มีจุกขั้วขนาดเล็ก แต่ละพูมีเมล็ด 1 เมล็ดภาพถ่ายโดยผู้เขียนสรรพคุณของ “ฝิ่นต้น” แก้ปวดเมื่อย แก้อาเจียน คุมธาตุ แก้ลงแดง แก้โรคลำไส้ เป็นยาถ่าย ช่วยสมานแผลปากเปื่อย แผลมีดบาด รักษาแผลอักเสบเรื้อรังเมล็ดของ “ฝิ่นต้น” ไม่ควรนำมารับประทานเพราะมีพิษ ทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง จึงควรระวังเป็นอย่างมากสมัยที่ผู้เขียนอยู่ในวัยเด็กปู่ของผู้เขียน นำเม็ดของ “ฝิ่นต้น” มาโรยไว้ตามท้ายสวนและเติบโตขึ้นจำนวนมาก ครั้งหนึ่งพี่ชายของผู้เขียนเกิดอาการท้องผูกถ่ายไม่ออก ปู่จึงนำใบ “ฝิ่นต้น” มาล้างน้ำต้มใส่เกือบเล็กน้อย แล้วใส่แก้วมาให้ดื่มเพียงสองอึก หลังจากนั้นประมาณ 20 นาที ก็เริ่มมีอาการถ่ายท้องและหายจากอาการท้องผูก ซึ่งก็เป็นวิธีทำยาถ่ายธรรมชาติที่ง่ายมาก นอกจากนี้หาใครที่เป็นแผลอักเสบเรื้อรัง ปู่ก็จะนำยางที่ได้จากลำต้นมาทาบริเวณแผลประมาณหนึ่งสัปดาห์แผลก็เริ่มแห้งและหายเป็นปกติที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงสรรพคุณส่วนหนึ่งของ “ฝิ่นต้น” ที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งนอกจากนี้สมุนไพรชนิดนี้ก็ยังสามารถนำมาทำเป็นยาหรือนำไปผสมเข้ากับสมุนไพรชนิดอื่นเพื่อเป็นยารักษาโรคได้อีกหลายอาการ และผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะทำให้ทุกท่านมีความเข้าใจและสนใจเกี่ยวกับพืชสมุนไพรมากขึ้น และช่วยกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบต่อไป ภาพถ่ายโดยผู้เขียน