รีเซต

'คมนาคม'จัดเสวนา ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี

'คมนาคม'จัดเสวนา ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี
มติชน
15 กรกฎาคม 2563 ( 18:43 )
739
'คมนาคม'จัดเสวนา ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี

‘ศักดิ์สยาม’ เปิดงานนิทรรศการ-เสวนา “MOT 2020 Move On Together คมนาคมเคียงข้างคนไทย ฟันเฟืองฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการและการเสวนาสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี และส่งเสริมพัฒนาความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย ประจำปี 2563 ครั้งที่ 1 ภายใต้ชื่อ “MOT 2020 Move On Together คมนาคมเคียงข้างคนไทย ฟันเฟืองฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID-19” และกล่าวเปิดงาน “คมนาคมภูมิใจ รวมไทยสร้างชาติ” ในวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ ห้องแอทธินี คริสตัล ฮอลล์ ชั้น 3 โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทลแบงค็อก กรุงเทพฯ โดยมี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น รัฐบาลทำงานอย่างเต็มที่เพื่อเร่งหามาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบและฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจซึ่งหดตัวลงให้กลับมาขยายตัวเป็นบวกขึ้น แต่ในขณะเดียวกันยังคงมาตรการป้องกันและการเว้นระยะห่าง ไว้เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่งกระทรวงคมนาคมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเดินหน้าทางเศรษฐกิจ กระทรวงคมนาคมประกอบด้วย 4 มิติ คือ หน่วยงานทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง ซึ่งตั้งแต่ที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ยึดหลักบริหารงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการไว้มาโดยตลอด พร้อมกับการผสมผสานเพิ่มเติมนโยบายที่เน้นสนองตอบความต้องการของประชาชนภายใต้สถานการณ์สังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางบก ได้เร่งรัดการพัฒนาทำให้เกิดการเชื่อมโยงความเจริญสู่หมู่บ้าน ชุมชน เพื่อให้สามารถสัญจรได้สะดวก โดยมีแผนการดำเนินการทั้งประเทศภายใต้งบประมาณกว่า 40,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมถนนของกรมทางหลวงชนบทเข้าสู่ถนนสายหลักของกรมทางหลวง และเชื่อมโยงแต่ละจังหวัดทั่วประเทศเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งเร่งรัดโครงการขยายถนนพระรามที่ 2 ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6 ช่วงบางปะอิน – นครราชสีมา เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางดังกล่าวโดยเร็วที่สุด และในอนาคตกระทรวงมีแผนที่จะพัฒนาโครงข่ายร่วมกันระหว่างทางรถไฟกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองภายใต้กรอบแผนแม่บท MR-MAP (Motorways + Rails) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมในรูปแบบใหม่ที่จะเพิ่มความเชื่อมโยงภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน มีความปลอดภัยสูงขึ้น และลดภาระในการลงทุนของภาครัฐในระยะยาว

นโยบายด้านระบบคมนาคมทางน้ำ ได้เร่งพัฒนาท่าเทียบเรือขนาดใหญ่และท่าเทียบเรือน้ำลึก รวมทั้งโครงการเชื่อมการเดินทางขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสร้างความเจริญให้กับประเทศ และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน กระทรวงยังมีวิสัยทัศน์ที่จะพลิกโฉมการขนส่งระบบรางของไทย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ พัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในตัวเมือง ผลักดันและเร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เชื่อมโยงกับ EEC ซึ่งการพัฒนาระบบรางจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ และเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ ในด้านการคมนาคมทางอากาศ ได้เพิ่มขีดความสามารถการให้บริการของท่าอากาศยาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรด้านการบินและผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางและส่งเสริมการค้าการลงทุน ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 โครงการปรับปรุงท่าอากาศยานภูมิภาคทั่วประเทศ การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

นอกจากการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมแล้ว กระทรวงคมนาคมยังคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทาง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา คิดค้นแท่งคอนกรีตหุ้มยางพารา (Rubber Fender Barrier : RFB) หรือกันชนยางที่นำไปครอบบนแบริเออร์คอนกรีตป้องกันความรุนแรงจากอุบัติเหตุ รถยนต์เสียหายเฉพาะด้านชน ไม่พลิกคว่ำ และไม่มีการเหินของรถเหมือนแบริเออร์คอนกรีตแบบเดิม รวมถึงสร้างความปลอดภัยจากแรงปะทะได้เมื่อใช้ความเร็วรถ 120 กม./ชม. และได้คิดค้นเสาหลักนำทางจากยางพาราธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) โดยใช้น้ำยางพาราข้น 60% มีวิธีการผลิตไม่ซับซ้อน ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุจากการที่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์เสียหลักไปชนเสานำทาง โครงการ RFB และ RGP นอกจากจะช่วยลดความรุนแรงและการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ยังช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรสวนยาง เพราะจะรับซื้อน้ำยางพาราโดยตรงจากเกษตรกร ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ผลประโยชน์จะถึงมือเกษตรกรสวนยางกว่า 70% ในปีงบประมาณ 2563 – 2565 กระทรวงมีแผนที่จะใช้ปริมาณน้ำยางพาราสด จำนวน 1,007,951 ตัน โดยมีสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการผลิตทั่วประเทศทั้งสิ้น 62 แห่ง รวมสมาชิก 355,181 ราย เกษตรกรที่ได้ประโยชน์ 1,420,724 คน กระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะรับฟังความเดือดร้อนและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบหลัง COVID-19 เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าดำเนินการอยู่บนมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการตรวจคัดกรองก่อนเข้าพื้นที่สถานีหรือเข้าใช้บริการ การเว้นระยะห่าง (Social Distancing) อย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง โดยที่ไม่เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการมากเกินไป และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่กระทรวงคมนาคมทำเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความสุขและปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง ทั้งนี้การขับเคลื่อนด้านคมนาคมจะเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน “คมนาคมภูมิใจ รวมไทยสร้างชาติ”

การจัดนิทรรศการและการเสวนาสร้างการรับรู้ฯ ในครั้งนี้ เป็นการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย การเสวนา หัวข้อ “คมนาคมเคียงข้างคนไทย ฟันเฟืองฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID-19” นำโดย นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นำเสนอมุมมองในฐานะภาครัฐที่ช่วยผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เพื่อกระตุ้นจ้างงาน กระจายรายได้ ควบคู่ไปกับการปรับบริการระบบขนส่งสาธารณะสู่ “New Normal” เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางชีวอนามัย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำเสนอมุมมองของธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องปรับตัวรับเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ รวมถึงข้อเสนอแนะหรือความต้องการของภาคการท่องเที่ยว

นายอุดร คงคาเขตร ประธานคณะอนุกรรมการโลจิสติกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกเล่าถึงการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม และความคาดหวังที่มีต่อการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง

นายอิศรินทร์ ภัทรมัย กรรมการบริหารสายงานการลงทุน บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นำเสนอแนวโน้มธุรกิจขนส่งสินค้าและบริการ ตลอดจนความคาดหวังที่มีต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคให้ถึงมือลูกค้า

จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนี้ ภายในงานได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานกระทรวงคมนาคมผ่านสื่อ Multimedia ที่ทันสมัยนำเสนอข้อมูลโครงการสำคัญที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง แผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกระทรวง โครงการที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และส่งเสริมความรู้ด้านการคมนาคมขนส่งและความปลอดภัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง