ยะลา พบผู้ติดเชื้อโควิด19 เพิ่ม 12 ราย มาจากกลุ่มดาวะห์ 7 ราย
เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ศาลากลางจังหวัดยะลา นายวรเชษฐ์ พรมโอภาษ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วยนพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ร่วมกันแถลงความคืบหน้าสถานการณ์ หลังจากที่ในวันนี้จ.ยะลา มียอดผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 12 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 68 ราย
นายวรเชษฐ์ กล่าวว่า เดิมทีจ.ยะลานั้น จะต้องรอผลตรวจจากแล๊ปของจ.สงขลา แต่ปัจจุบัน โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ได้มีห้องแล๊ปตรวจเชื้อได้แล้ว และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รู้ผลรวดเร็วขึ้น และปัจจัยที่สองที่ทำให้ยอดผู้ป่วยของจังหวัดยะลาพุ่งสูง เนื่องจากมีผู้ที่เดินทางกลับจากดาวะห์ที่อินโดนีเซีย พบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อ 7 คน ทำให้ยอดพบผุ้ป่วยใหม่ในวันนี้ของจังหวัดยะลาเพิ่มขึ้นถึง 12 ราย ซึ่งยอมรับว่า รู้ตั้งแต่ต้นทางแล้วว่ากลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศป่วย แต่ทั้งนี้ กลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่มีโอกาสที่จะไปแพร่เชื้อในหมู่บ้านหรือชุมชน เนื่องจากว่า เมื่อกลับมาถึงก็จะต้องถูกกักกันตัว เพื่อตรวจหาเชื้อและเข้ารับการรักษาโดยทันที แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขอความร่วมมือจากผู้ที่อยู่ในชุมชน ที่จะเปิดเผยข้อความให้กับทางเจ้าหน้าที่ เมื่อมีการสืบสวนคัดกรอง เพื่อเป็นการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซึ่งที่ผ่านมานั้น จ.ยะลา ได้มีการสั่งปิดหมู่บ้านไปแล้ว 32 หมู่บ้านกับอีก 1 ชุมชนใน 5 อำเภอ เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
นพ.สงกรานต์ กล่าวว่า จากกรณีที่กลุ่มดาวะห์คนไทยที่กลับมาจากประเทศอินโดนีเซีย โดยกลับมาที่จ.ยะลา 8 คน และเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 7 ราย โดย 6 รายได้รักษาตัวอยูที่โรงพยาบาลยะลา อีก 1 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา ส่วนอีก 1 ราย ที่ยังไม่เจอเชื้อ ก็อยู่ที่ศูนย์กักกันตัวเฝ้าสังเกตอาการ ที่เป็นเขตกักกันของอำเภอเมืองยะลา ซึ่งต้องเฝ้าดูอาการต่อเนื่องไปจนครบ 14 วัน และ 5 วันหลังจากสังเกตอาการ ก็จะทำการตรวจเชื้ออีกครั้ง ในส่วนผู้ป่วยอีก 5 ราย ในจำนวนยอดพบผู้ป่วยใหม่ 12 รายนั้น ก็เป็นผู้ที่อยู่ในงานชุมนุมกิจกรรมทางศาสนาฮัลราเกาะ ที่บ้านพงยามู อ.บันนังสตา จ.ยะลา 3 ราย และอีก 2 ราย ก็เป็นเด็กที่ใกล้ชิดสัมผัสผู้ติดเชื้อจากทั้ง 3 ราย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็อยู่ในระหว่างกระบวนการสอบสวนโรคและทำการรักษา
โดยในวันนี้ทางทีมเจ้าหน้าที่สอบสวนโรค สสจ.ยะลา ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ อำเภอบันนังสตา ก็ได้ลงพื้นที่ติดตามสอบสวนโรคผู้ใกล้ชิด หรือผู้ที่คาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อ อย่างเนื่อง เพื่อเป็นการยับยั้งและสกัดกั้นไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งทุกฝ่ายก็เร่งทำงานอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ