รีเซต

ส่องเศรษฐกิจไทยปี’66 ท่องเที่ยวพระเอก-ส่งออกทรุด

ส่องเศรษฐกิจไทยปี’66 ท่องเที่ยวพระเอก-ส่งออกทรุด
มติชน
20 ธันวาคม 2565 ( 09:11 )
35

หมายเหตุธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 4/2565 เพื่อประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ มีนายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. และนายสักกะภพพันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ร่วมบรรยาย เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม

ปิติ ดิษยทัต
ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท.

ปี2565 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ปัญหาหลักเป็นเรื่องของเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมากในโลก และสูงสุดประมาณ 30-40 ปี ประกอบกับราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบการเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นแรงกระแทกด้านอุปทานที่มาซ้ำเติมให้เงินเฟ้อขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ผลลัพธ์คือธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างเร็ว แรง และพร้อมเพรียงกันมากที่สุดในรอบ 50 ปี ควบคู่ไปกับค่าเงินสกุลเหรียญสหรัฐ ที่ปรับแข็งค่าขึ้นค่อนข้างสูงในช่วงเกือบทั้งปี 2565 ก่อนที่จะปรับอ่อนค่าลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากภาพดังกล่าวเป็นการตึงตัวของภาวะทางการเงินทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะ และส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับราคาสินค้านำเข้าของหลายประเทศ ทำให้อำนาจในการซื้อลดลงจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

ทำให้ผลพวงเศรษฐกิจโลกชะลอลงค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นการชะลอตัวลงเยอะมากที่สุดตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งเป็นบริบทที่ท้าทายสำหรับประเทศไทย เพราะช่วงแรกเริ่มประเทศไทยเพิ่งได้ออกจากวิกฤตโควิดโดยที่เศรษฐกิจค่อนข้างจะเปราะบาง การฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และมีกลุ่มเปราะบางค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอีและประชาชนที่มีหนี้สินที่ยังมีรายรับไม่ค่อยดีนักในช่วงต้นปี

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มองว่าระยะถัดไปเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน และจะคลี่คลายด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ โดยที่ผ่านมาเงินเฟ้อก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ และท้ายที่สุดในแง่ความอ่อนไหว หรือเปราะบางต่อต่างประเทศ ประเทศไทยค่อนข้างที่จะอ่อนไหวน้อย จึงเป็นประเด็นที่ทำให้ กนง.ที่ใช้นโยบายทางการเงินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และใช้มาตรการทางการเงินที่มีเฉพาะจุดรวมถึงการเข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยนในบางช่วงก็เป็นการดำเนินการนโยบายทางบูรณาการที่ช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวขึ้นได้มาถึงปัจจุบัน

ส่วนการจะกลับมาเห็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบภาวะปกติ (Policy Normalization) ได้ในช่วงใดนั้น คงยังไม่สามารถเจาะจงได้ เพราะต้องขึ้นกับสถานการณ์ในปี 2566 ด้วย โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าจึงอาจจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเข้าใกล้กับจุดที่มีศักยภาพแล้วหรือยัง และเงินเฟ้อไม่ได้สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจจริงหรือไม่ หากทุกอย่างเข้าสู่ภาวะสมดุล (Smooth take off) ก็ไม่จำเป็นที่แนวนโยบายการเงินจะต้องปรับแบบกระชาก หรือเปลี่ยนทิศทาง

อย่างไรก็ตาม มองว่ามี 3 ตัวแปรสำคัญที่อาจเป็นความเสี่ยงให้เงินเฟ้อในปีหน้าปรับตัวสูง หรือต่ำกว่าระดับ 3% ตามเป้าหมายที่วางไว้คือ 1.การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการที่อาจสูงและเร็วกว่าคาด จากต้นทุนการผลิตหลายด้านที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2.มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ยังมีความไม่แน่นอน เช่น มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า และค่าครองชีพอื่นๆ และ 3.เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกว่าคาด จะส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้

สุรัช แทนบุญ
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.

ใ นภาพรวมของปี 2565 ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มเงินเฟ้อยังเป็นไปตามที่คาด โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในส่วนของ MRR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ ที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี) ยังต่ำกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในส่วนของ MLR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนดเรียกเก็บลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี) ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือลูกค้าในกลุ่มเปราะบางของธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยจะเห็นได้จากหนี้เสีย (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์ ช่วงไตรมาส 3/2565 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการลดลงทั้งหนี้เสีย (NPL) ของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่กว่า 500 ล้านบาท และสินเชื่อธุรกิจที่ขนาดไม่ถึง500 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) และครัวเรือนในกลุ่มเปราะบาง

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.

สํ าหรับประมาณการเศรษฐกิจใกล้เคียงกับที่ได้ประมาณการไว้เดิมในรายงานนโยบายการเงินเดือนกันยายน ในภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.2% ลดลงจากเดือนกันยายนที่ระดับ 3.3% ปี 2566 อยู่ที่ 3.7% ลดลงจากเดือนกันยายนที่ระดับ 3.8% และปี 2567 อยู่ที่ 3.9% ตัวที่เป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และปี 2566 คือการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน หลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากช่วงต้นปี 2565 จากแรงงาน การจ้างงาน รายได้มีการปรับตัวดีขึ้นและทั่วถึงขึ้น รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยจะเห็นได้ว่าปัจจัยหลักทางด้านอุปสงค์ภายในประเทศยังขยายตัวได้ดี ซึ่งเดือนพฤศจิกายน การบริโภคภาคเอกชนปรับขึ้นที่ 6.1% จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 5.6% ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนปี 2566 ยังเติบโตได้ค่อนข้างดี นอกจากนี้ แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการจะขยายตัวต่อเนื่อง คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น ซึ่ง ธปท.ได้ปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 จาก 9.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 10.5 ล้านคน ปี 2566 มีจำนวน 22 ล้านคนและปี 2567 มี 31.5 ล้านคน

ขณะเดียวกัน ตัวที่เป็นพัฒนาการที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกคือมูลค่าการส่งออกสินค้า จะเห็นได้ว่า ธปท.ให้ประมาณการในปี 2566 ที่ 1.0% ลดลงจากปี 2565 ที่ 7.4% ขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าสินค้าให้ประมาณการในปี 2566 ที่ 0.4% ลดลงจากปี 2565 ที่ 18.1% ทั้งในแง่ของปริมาณและราคาที่ปรับลดลง ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดได้ปรับลดลงเช่นกันจากเดือนพฤศจิกายนที่ติดลบ 16.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนที่ติดลบ 14.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2566 ที่ระดับ 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม จากจีดีพีที่แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในครั้งก่อน ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิดได้ช่วงปลายปี 2565 หรือประมาณช่วงต้นปี 2566 ใกล้เคียงกับการประมาณการเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้

สำหรับภาคการท่องเที่ยวที่ได้ประมาณการในปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวจะมีถึง 10.5 ล้านคน หากดูข้อมูลตั้งแต่ต้นปี 2565-10 ธันวาคม มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยถึง 9.5 ล้านคน เพราะฉะนั้นตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าไทยที่ได้ประมาณการไว้ที่ 10.5 ล้านคน เป็นตัวเลขที่มีความเป็นไปได้ และส่วนใหญ่จะมาจากจำนวนที่แบ่งสัดส่วนได้ คือกลุ่มอาเซียน 4.5% เอเชีย 1.7% ยุโรป 1% สหรัฐ 0.4% และอื่นๆ 2.8%

ทิศทางนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นแรงส่งที่ทำให้ปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2566 จะมีมากขึ้นที่ระดับ 22 ล้านคน จากสัดส่วนกลุ่มอาเซียน 8.8% เอเชีย 5.5% ยุโรป 1.8% สหรัฐ 0.7% และอื่นๆ 5.2% รวมถึงได้คาดว่าข้อจำกัดในเรื่องซัพพลายต่างๆ อาทิ เรื่องของการเดินทาง เรื่องของเที่ยวบิน และการขาดแคลนแรงงานต่างๆ จะทยอยคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงส่งต่อไปในปี 2567 ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 31.5 ล้านคน

และในส่วนของนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามาในปี 2566 ยังติดอุปสรรคในเรื่องของการเปิดประเทศของจีนที่มีการเปิดประเทศช้าอาจจะเปิดประเทศได้ช่วงไตรมาส 4/2566 ซึ่งจะเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวจีนสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ หากมีการเดินทางเข้าไทยได้ประมาณการถึงจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะมีถึง 1.8 ล้านคน

สำหรับเครื่องชี้ในเรื่องของภาคการท่องเที่ยวยังดีขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลของปริมาณการค้นหาเที่ยวบินทั้งในประเทศและต่างประเทศปรับดีขึ้น รวมถึงความจุแต่ละเที่ยวบินนานาชาติที่เข้ามาในประเทศไทยก็ปรับดีขึ้น 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยผู้ประกอบการจำนวนเกินครึ่งที่เห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไตรมาส 4/2565 ดีกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไตรมาส 3/2565 และไตรมาส 1/2566 จะมีนักท่องเที่ยวดีกว่าในปี 2566 จึงเป็นเครื่องชี้ที่บ่งชี้ได้ว่าอย่างน้อยในช่วง 3 เดือนข้างหน้าการท่องเที่ยวจะยังคงเดินหน้าได้ต่อเนื่อง

อีกด้านสำหรับแรงส่งที่ขับเคลื่อนของภาคเศรษฐกิจไทยก็คือการบริโภคภาคเอกชน ข้อมูลดังกล่าวถูกสนับสนุนโดยตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้บางตัวเริ่มกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนของผู้ขอรับสิทธิว่างงานรายใหม่ ตัวเลขปรับต่ำลงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว รวมถึงผู้ว่างงาน ผู้เสมือนว่างงานในไตรมาส 3/2565 ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีปัจจัยบวกในเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจจะมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ทั้งในแง่ของเอเชีย ตัวที่จะเป็นสิ่งสำคัญคือเรื่องการเปิดประเทศของจีน ถ้ามีการเปิดประเทศเร็วก็จะมีความต้องการเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่นักท่องเที่ยวจีนอาจจะเข้าประเทศไทยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงไตรมาส 4/2566 ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ เศรษฐกิจโลกที่จะชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่มีการชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็อาจจะส่งผลให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลงเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน เรื่องของเงินเฟ้อในภาพรวมยังอยู่ในกรอบใกล้เคียงกับที่ ธปท.ประเมินไว้ คือเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้วช่วงไตรมาส 3/2565 ซึ่งเงินเฟ้อทั่วไปจะเห็นแรงกดดันที่มาจากต้นทุนต่างๆ ทยอยลดลง เรื่องของราคาสินค้าต่างๆ ในโลกเริ่มปรับลดลงต่อเนื่อง รวมถึงตลาดแรงงานได้ปรับตัวดีขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องของแรงกดดันทั้งด้านค่าจ้างคาดว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงมากนัก แต่การกระจายตัวของราคาสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงช่วงเดือนตุลาคม เกิดการกระจายตัวแคบลง สะท้อนว่าจำนวนสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นค่อนข้างกระจายตัวปรับลดลง หรือมีราคาคงที่ หรือมีการปรับคืนในราคาที่ไม่สูงมากนัก

ทั้งนี้ การประมาณการเงินเฟ้อก็ใกล้เคียงจากเดิมเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 6.3% ปี 2566 มีการปรับประมาณการเพิ่มขึ้นจาก 2.6% เป็น 3% หลักๆ มาจากเรื่องการปรับราคาค่าไฟฟ้าตามเรื่องของต้นทุนเป็นสำคัญ ส่วนปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.1% ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อพื้นฐานมีการปรับประมาณการใกล้เคียงเดิม ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 2.6% ปี 2566 มีการปรับประมาณการเพิ่มขึ้นจาก 2.4% เป็น 2.5% และปี 2567 ที่ระดับ 2% อีกทั้งจากประมาณการตามข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไปได้ผ่านจุดสูงสุดแล้วในช่วงไตรมาส 3/2565

โดยช่วงที่ผ่านมาเงินเฟ้อไทยที่เพิ่มขึ้นจากสาเหตุราคาพลังงานเป็นหลัก หากมองไปข้างหน้าผลในเรื่องของฐานเดิม และเรื่องของราคาพลังงานจะทำให้ผลของเงินเฟ้อจากราคาพลังงานจะปรับลดลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง