รองนายกฯ ประวิตร นำทีมติดตามความก้าวหน้า 9 แผนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ข่าววันนี้ 24 ธันวาคม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำจังหวัดสมุทรสาคร และความก้าวหน้า 9 แผนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำภาษีเจริญ โดยมี นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายสุริยพลนุชอนงค์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง นายทรงพล สวยสม ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างขนาดกลางที่ 11 และนายปิยะ ลืออุติกุลวงศ์ ผู้อำนวยก่ารโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ ร่วมลงพื้นที่และบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานโดยสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 11 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำภาษีเจริญซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่อยู่ในแผนงานปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก แผนงานที่ 4 ของแผนงานบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 9 แผนงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากคลองภาษีเจริญลงสู่แม่น้ำท่าจีนเนื่องจากคลองภาษีเจริญ เป็นหนึ่งในคลองสายหลักในการระบายน้ำของพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันตก ซึ่งรับน้ำจากพื้นที่ตอนบนเชื่อมต่อกับคลองสำคัญ อาทิ คลองบางกอกใหญ่ คลองบางขุนศรีคลองทวีวัฒนา คลองมหาสวัสดิ์ และคลองสาขาต่างๆ ในพื้นที่ แต่ในช่วงที่ผ่านมามีการขยายของชุมชนเมือง จนพื้นที่ในการชะลอน้ำของทุ่งเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกลดน้อยลง ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าคลองภาษีเจริญเพิ่มเร็วขึ้น ประกอบกับความสามารถในการสูบน้ำของสถานสูบน้ำเดิมไม่เพียงพอกับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำ เพื่อเร่งสูบระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทย
ทั้งนี้ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำภาษีเจริญ (2561- 2565) ประกอบด้วยเครื่องสูบน้ำ ขนาด 15 ลบ.ม./วินาที จำนวน 3 เครื่องสามารถสูบน้ำได้เพิ่มขึ้น 45 ลบ.ม./วินาที ซึ่งหากดำเนินโครงการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการสูบน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากออกจากคลองภาษีเจริญ ลงสู่แม่น้ำท่าจีนและทะเลอ่าวไทย ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันตก พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ชุมชนเมืองโดยรอบ และพื้นที่ใกล้เคียง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ