เคยมีผลวิจัยออกมาว่า หากเทียบขนาดร่างกายและขนาดกระเพาะอาหารของเด็กแล้ว การกินอาหารวันละ 3 เวลา อาจจะทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน อาหารว่าง และขนม เลยกลายเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมา เพราะหากได้กินขนม นอกจากเด็ก ๆ จะมีความสุขแล้วนั้น ก็จะได้รับคุณค่าของสารอาหารควบคู่กันไปด้วย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ก็เคยมีผลสำรวจที่ว่า พฤติกรรมการกินขนมของเด็กใน กทม. พบว่าร้อยละ 80 กินขนมเป็นประจำทุกวัน และค่าขนมคิดเป็นร้อยละ 70 จากค่าใช้จ่ายประจำวันเลยทีเดียว นอกจากนั้นค่าใช้จ่ายในการกินขนมของเด็กไทยต่อคนต่อปีนั้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายในการศึกษาของเด็กต่อคนต่อปีอีกด้วย ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere ตลาดของขนมถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ส่วนแบ่งการตลาดจึงเป็นที่ปรารถนาของบริษัทผลิตขนมใหญ่ ๆ ซึ่งแย่งกันนำเข้า ผลิตภัณฑ์ขนมมากมายนานาชนิด เพื่อนำเข้ามาล่อตาล่อใจลูกค้าเด็กเล็กเด็กน้อยทั้งหลาย การแข่งขันจึงเกิดขึ้นสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เด็กไทยเราก็เหมือนตกอยู่ในสงครามการค้าขนมกันเลยทีเดียว หากเรามีโอกาสได้ดูโทรทัศน์ ตามช่อง หรือช่วงเวลาของเด็ก อย่างวันเสาร์-อาทิตย์ เราก็จะเห็นโฆษณาขนมต่าง ๆ ที่ถาโถมกันเข้ามา ทั้งรูปร่าง หน้าตา สีสัน หรืออื่น ๆ ระดมกันมาทั้งโฆษณาปกติ และโฆษณาแฝง ขนมซองสวยสดทั้งหลาย เวเฟอร์ ขนมปังสารพัด วุ้น เยลลีหลากสี อีกทั้งยังมีของแถมแนบมาอีกมากมาย ทั้งรูปภาพสะสม ตัวการ์ตูน หรือการส่งชิงโชค ชิงรางวัล หลัง ๆ เราจะเห็นโฆษณาดึงดูดพ่อแม่ด้วย เช่น หาเด็กน่ารัก ๆ ดาราคนดัง มาช่วยโปรโมทว่ากินขนมชนิดนั้น ๆ แล้วฉลาด สวย สมองไว เห็นมั้ยว่าส่วนแบ่งการตลาดขนมเด็กมีขนาดใหญ่แค่ไหน แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่บริษัทขนมเด็กมุ่งหวังอย่างสูงสุดนั่นก็หนีไม่พ้นกำไร ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere แต่จากผลสำรวจของสถาบันโภชนาการในประเทศของเรา หลาย ๆ แห่ง ก็สรุปออกมาแล้วเช่นกันว่า ขนบขบเคี้ยว และอาหารว่างมากมายในท้องตลาดและร้านสะดวกซื้อ มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่ผ่านเกณฑ์และมีคุณค่าทางโภชนาการพอ ขนบขบเคี้ยว และอาหารว่างส่วนใหญ่กลายเป็นแหล่งสะสมของแป้ง น้ำตาล ไขมัน และเกลือที่มีปริมาณมากเกินไป ที่จะส่งผลให้เด็กเกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมาได้ง่าย ยังรวมไปถึงการเป็นโรคอ้วนที่กำลังมีอัตราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับยุคสมัยก่อน ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere ในโลกทุนนิยมเราหนีไม่พ้นที่จะตกเป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อ ที่สีสันความสวยงาม พุ่งสวนทางกับคุณค่าทางอาหาร เราจะรับมือกับวัฒนธรรมการกินขนมที่เปลี่ยนไปกันอย่างไร ในต่างประเทศเขามีมาตรการมากมายในการรับมือกับปัญหาขนมขบเคี้ยวของเด็ก ที่เป็นตัวบั่นเซาะทำลายสุขภาพ อย่างการบังคับให้ผู้ผลิตติดฉลากที่ถูกต้อง การต้องใส่ค่าจำนวนเลขของสารอาหาร หรือการควบคุมโฆษณาให้เหมาะสมไม่ให้เกินจริง แต่สิ่งเหล่านี้อาจช่วยได้เพียงบรรเทา หรือชะลอได้สักระยะเท่านั้น หากไม่มีมาตรการที่จริงจังมากกว่านี้ ก็คงไม่อาจต้านกระแสโฆษณา และทุนนิยมบริโภคต่าง ๆ ได้ ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere ไม่แน่ว่ามาตรการที่เคยใช้กับบุหรี่ เหล้า เบียร์ ของมึนเมา อาจต้องนำมาปรับใช้กับขนมขบเคี้ยวของเด็กก็เป็นได้ เพราะต่อให้ควบคุมโฆษณา ลดทอนความยั่วยวนได้แค่ไหนก็ตามเถอะ แต่ลูกอม ขนมขบเคี้ยว ก็อยู่ใกล้มือตามร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านอยู่ดี ภาครัฐอาจจะต้องจริงจังในการส่งสัญญาณเตือนออกมามากกว่านี้ หลายประเทศเขาจึงเลือกใช้สีของไฟจราจรในการรณรงค์การกินขนมของเด็กแปะไว้ที่ซอง เช่น ฉลากสีเขียวปลอดภัยสะดวกในการกิน ฉลากสีเหลืองอาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวัง ฉลากสีแดงก็คือควรระมัดระวังอย่างมาก การสื่อด้วยภาพสัญลักษณ์เหล่านี้ อาจจะทำความเข้าใจกับเด็กได้ง่ายกว่าตัวหนังสือ ขอบคุณภาพประกอบโดย Ekta.Varia จาก pxhere ตลาดขนมกับส่วนแบ่งที่มากมหาศาล แต่ปัญหาสุขภาพก็มากมายเป็นเงาตามตัวกันไปนั้น เราจะไปหวังความถูกต้องกับผู้ผลิตที่มุ่งเน้นผลกำไร ให้เขาคำนึงถึงจริยธรรมก็เป็นเรื่องที่คาดหวังได้ยาก เพราะเป้าหมายการทำธุรกิจ ต่อให้ธุรกิจกับเด็ก ๆ ก็ตามที ก็คือการแสวงหาประโยชน์ทุกทางเท่าที่ทำได้ เราจะปล่อยให้เด็ก ๆ และสังคมตกอยู่ในกระแสบริโภคขนมที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการไปอีกนานแค่ไหนกัน? ขอบคุณภาพประกอบโดย rawpixel.com จาก pxhere ภาพปกจาก pxhere และ mbpogue / pxhere