รีเซต

สรท.วอนแบงก์ชาติพยุงบาทอ่อนสุดรอบ 5 ปี จี้รัฐลดค่าครองชีพประชาชน

สรท.วอนแบงก์ชาติพยุงบาทอ่อนสุดรอบ 5 ปี จี้รัฐลดค่าครองชีพประชาชน
มติชน
3 พฤษภาคม 2565 ( 17:49 )
63
สรท.วอนแบงก์ชาติพยุงบาทอ่อนสุดรอบ 5 ปี จี้รัฐลดค่าครองชีพประชาชน

ข่าววันนี้ 3 พฤษภาคม นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมีนาคม 2565 ว่า สรท. คาดการณ์การส่งออกไทยในไตรมาส 2/2565(เมษายน-มิถุนายน) เติบโต 3.5-5% และคงคาดการณ์รวมทั้งปี 5% ปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อน ส่วนจะขยายตัวถึง 10% ตามที่กระทรวงการคลังต้องการหรือไม่ต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้ง ตัวแปรหนึ่งที่สำคัญคือ ค่าเงินบาท

 

ขณะนี้ สรท.ใช้ระดับค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.5 – 34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หวังว่าภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะช่วยดูแลค่าเงินบาทให้ทรงตัวอยู่ในอ่อนค่าเช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก เพราะปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ามาจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก คาดว่าจะเพิ่ม 0.5% จึงเป็นตัวผลักดันทำให้ค่าเงินทั่วโลกอ่อนลง โดยเฉพาะเงินเยนที่อ่อนลงมาก ซึ่งเปอร์เซ็นต์การอ่อนค่าของเงินบาทอ่อนค่าน้อยกว่าเงินเยน เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว

 

สรท.คาดการส่งออกปีนี้จะอยู่ที่ 5% น่าจะอยู่ในระดับที่ทำได้และบรรลุตามเป้าหมาย แต่ถ้าหากเพิ่มขึ้น 10% ตามนโยบายกระทรวงการคลัง ความเป็นไปได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน อาทิ เรื่องค่าเงินบาท ต้องติดตามอีกระยะ”นายชัยชาญกล่าวและว่า การส่งออกยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ 6 ประการ ประกอบด้วย 1.สถานการณ์สงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย 2.ราคาพลังงานทรงตัวระดับสูง 3.ค่าระวางปรับลงเล็กน้อยแต่ยังทรงตัวในระดับสูง 4.แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับมีแนวโน้มต้นทุนการจ้างงานสูงขึ้น 5.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน และ6.สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

  • จี้รัฐลดค่าครองชีพประชาชน

นายชัยชาญ กล่าวว่า กรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ขอให้ภาครัฐพิจารณาโดยอ้างอิงจากปัจจัยเงินเฟ้อเป็นหลัก พร้อมทั้งบริหารเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินกว่า 5% เพื่อให้ผู้ประกอบการไม่แบกรับภาระที่สูงจนเกินไป ขณะเดียวกันแรงงานต้องไม่ขาดแคลน เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก และดูถึงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องเหมาะสม และไม่ส่งผลรุนแรงต่อผู้ส่งออกหรือผู้ผลิต อีกทั้งภาครัฐต้องพิจารณาควบคุมหรือปรับลดค่าใช้จ่ายภาคประชาชนในการดำรงชีวิต อาทิ ค่าเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าพลังงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชน รวมถึงลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ รวมถึงผลักดันการขยายการตลาด เนื่องจากการทำตลาดใหม่ใหม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องของการสนับสนุนการหาการตลาดใหม่ เร่งผลักดันการค้าเข้าสู่ตลาดอาร์เซ็ป หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ให้มากที่สุด เพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว

 

นายชัยชาย กล่าวว่า สำหรับราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง สรท.อยากให้รัฐบาลกลับมาตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร อยากให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงร่วมกับผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของประเทศไทยตรึงราคา หรืออาจขยายระยะเวลาการตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตรถึงสิ้นปีนี้ เพราะราคาที่สูงกว่า 30 บาทต่อลิตรส่งผลต่อต้นทุนการผลิตพลังงานอุตสาหกรรม และต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น

 

  • เงินบาทอ่อนค่าสุดรอบ 5 ปี

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวกรอบ 34.15-34.65 บาทต่อดอลลาร์ แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทปิดที่ 34.27 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมาจากความวิตกเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ส่งผลให้นักลงทุนปิดรับความเสี่ยง

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันที่ 3 พฤษภาคม ระดับ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบสัปดาห์นี้ 34.10-34.60 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มค่าเงินบาทยังผันผวนในฝั่งอ่อนค่าและมีโอกาสทดสอบแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ แนะนำผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง