สธ.เตือน ยอดป่วย "โควิด-19" ลดลง แต่ไม่สามารถผ่อนคลายมาตรการใดได้
เกาะติดโควิด-19 เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19
กรณีผู้เสียชีวิตรายล่าสุดที่มีประวัติการเข้ารับการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เพียง 1 วันและเสียชีวิต เนื่องจากมีอาการแทรกซ้อนของโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE)
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้ เป็นเพศหญิงอายุ 43 ปี เริ่มเข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 6 เมษายน และเสียชีวิตวันที่ 7 เมษายน อาการแรกรับค่อนข้างมากและมีอัตราการหายใจค่อนข้างสูง ร่วมกับการฉายรังสีปอดมีอาการรุนแรง ร่วมกับมีโรคประจำตัวซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตค่อนข้างเร็ว ซึ่งมีหลายปัจจัยประกอบกันไม่ใช่แค่เพียงความรุนแรงของโรค โควิด-19 เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า แม้ในช่วงนี้จะมีจำนวนผู้ป่วยรายวันลดลงแต่ไม่ใช่ช่วงที่จะต้องผ่อนคลายมาตรการใดๆ เนื่องจากมาตรการเหล่านี้เป็นเพียงการชะลอและลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลง การพบผู้ป่วยจำนวนน้อยหากถามว่าพอใจหรือไม่ คงตอบว่า ไม่ เพราะทางการแพทย์ต้องการให้มีจำนวนผู้ป่วยให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“มาตรการหลายอย่างที่ขอให้พื้นที่สาธารณะมีความแออัดน้อยลง ยังเป็นมาตรการที่สำคัญและจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อไป คำพูดกันในทางทฤษฎีเมื่อไหร่เราถึงจะสามารถวางใจได้ว่าเชื้อนั้นหมดออกไปจากพื้นที่แล้ว ในอดีตเราจะใช้เวลา 1 หรือ 2 เท่าของจำนวนระยะฟักตัวว่าไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในช่วงเวลานั้น ดังนั้นช่วงเวลาที่สามารถสบายใจได้ว่าจะไม่มีโรคแล้วคืออย่างน้อย 14 วันหลังจากที่พบผู้ป่วยในวันสุดท้าย เราถึงจะวางใจได้ว่าพื้นที่นี้อาจจะไม่มีโรค แต่ถ้ากลับมามีใหม่ก็ต้องเริ่มนับใหม่ ดังนั้นอย่าพึ่งวางใจ โรคนี้เป็นโรคที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วเพียงแค่เราพลาดครั้งสองครั้ง เช่น กรณีสถานบันเทิง ที่สามารถทำให้ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ ” นพ.ธนรักษ์ กล่าว
เมื่อถามว่ากรณีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทาง สธ. มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การจัดการของปัญหาในแต่ละพื้นที่ ที่พบปัญหาและสถานการณ์ที่ต่างกัน นอกเหนือจากสถานการณ์แล้วความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง จึงพยายามขอความร่วมมือให้ทุกคนอยู่บ้าน ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มกัน เพื่อป้องกันการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ ดังนั้นไม่เพียงแต่จังหวัดทางภาคใต้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์นี้ที่มีความสำคัญเนื่องจากมีผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้ประชาชนยังคงเข้มข้นในมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ทางภาคใต้มี 2 ปัจจัย คือ 1.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่ดูเหมือนจะมีการลดลง ในบางพื้นที่ 2.ปัจจัยของผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศเช่น อินโดนีเซีย ที่จะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล (รพ.) ในการดูแลรักษาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณงานของบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ ทาง สธ.ไม่ต้องการให้ภาระงานทาง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากนัก จึงต้องจำกัดการเดินทาง ขอความร่วมมืองดออกจากบ้าน ซึ่งประชาชนจะต้องร่วมมือกันถึงจะจัดการกับปัญหาได้
เมื่อถามว่าทาง รพ.จุฬาลงกรณ์ มีการผ่าตัดผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ โควิด-19 ทาง สธ. มีคำแนะนำในการป้องกันอย่างไรบ้าง นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า หากเป็นการผ่าตัดที่มีการนัดหมายล่วงหน้า บุคลากรทางการแพทย์จะต้องเลื่อนการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน ยกเว้นการผ่าตัดแบบเร่งด่วนที่จะต้องกระทำในทันที รวมถึงการใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์จะต้องมีมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อใน รพ.มากขึ้นอย่างเต็มที่ โดยกรมการแพทย์และสถาบันบำราศนราดูร มีแนวทางการป้องกันการติดเชื้อใน รพ.ออกมาแล้ว ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทางเว็บไซต์
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์