รีเซต

เจาะ 'สนามกทม.-เมืองพัทยา' ช่วงร้อยเมตรสุดท้าย ก่อนเปิดหีบ

เจาะ 'สนามกทม.-เมืองพัทยา' ช่วงร้อยเมตรสุดท้าย ก่อนเปิดหีบ
มติชน
21 พฤษภาคม 2565 ( 17:50 )
66
เจาะ 'สนามกทม.-เมืองพัทยา' ช่วงร้อยเมตรสุดท้าย ก่อนเปิดหีบ

อีกไม่กี่ชั่วโมง หีบเลือกตั้ง 2 สนามท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ทั้งกทม. และเมืองพัทยา จะเปิดขึ้น

 

ทิศทางการลงคะแนน ถูกจับตามองว่า จะสะท้อนภาพไปถึงการเมืองในระดับชาติหรือไม่ เพราะเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก่อนการเลือก “สนามใหญ่” จะเกิดขึ้นในอีกไม่ถึงปี ตามการหมดวาระของรัฐบาลชุดนี้

 

“มติชน” ชวน ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มาร่วมวิเคราะห์

  • ฉายภาพผู้สมัคร 6 กลุ่มย่อย ใน 2 ขั้วขัดแย้งใหญ่   

 

อาจารย์โอฬาร เริ่มฉายภาพว่า เลือกตั้งผู้ว่ากทม.ครั้งนี้สะท้อนภาพการเมืองใหญ่ ท่ามกลางความขัดแย้ง ดูได้จากผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเหมือนเดิม คือ กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล และ กลุ่มฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

 

จาก 2 ค่ายใหญ่แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มย่อย อาทิ กลุ่มตรงข้ามฝ่ายรัฐบาลคือพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็ยังมีความขัดแย้งกันเองในซีกฝ่ายค้านด้วยกัน ขณะเดียวกันกลุ่มใกล้ชิดรัฐบาล ยังแบ่งออกเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ที่สะท้อนการเมืองจริงคือ ตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์คือ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ส่วนกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง กลุ่มตัวแทนของพันธมิตร น.ส.รสนา โตสิตระกูล และ ตัวแทนของ กปปส.คือ นายสกลธี ภัททิยกุล

 

นี่จึงเป็นตัวสะท้อนได้เลยว่า จบเลือกตั้งการเมือง จะไม่สามารถย่อยสลายความขัดแย้งได้เลย

 

ดังนั้น เมื่อความขัดแย้งยังคงอยู่ การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงมีการสร้างความตื่นตัวทางการเมืองสูงมากกว่าทุกครั้งด้วย 

 

จากประวัติศาสตร์ทางการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนได้มีการเสนอนโยบายอย่างมากมาย ในการจัดการปัญหากรุงเทพฯ อย่างมโหฬาร นอกจากนี้บทบาทภาคประชาชนได้มีการตื่นตัวกันอย่างมากมายเป็นพิเศษ ทำให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการตื่นตัวของชาวกรุงเทพฯ รวมทั้งบทบาทของสื่อมวลชนที่ทำให้การเมืองกับประชาชนใกล้ชิดกันมาก อาทิ การติดป้ายผิดที่ เมื่อมีการเสนอลงในโซเชียล ปรากฏว่า ได้รับการแก้ไขทันที หรือกรณีชาวบ้านกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ปรากฏว่า ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องรีบลงไปฟังปัญหาทันทีเหมือนกัน

 

  • ชี้ปัญหากทม. ปกครองรูปแบบพิเศษ ภายใต้รัฐราชการ 

แม้ว่า กทม.จะเป็นการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ แต่ยังมีปัญหาข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ที่ทำให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้รับการเลือกตั้งไปแล้ว ไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายที่เสนอไว้กับประชาชนได้ เนื่องจากติดปัญหาในเรื่องโครงสร้างทางกฎหมาย เว้นแต่ผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากทม.ไปแล้ว จะต้องไปแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้กทม.มีอำนาจ ในการจัดการปัญหาตามนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้

 

ดังนั้น ในมุมมองของ อาจารย์โอฬาร จึงเห็นว่า ประชาชนจะเป็นส่วนสำคัญมาก

 

“ถ้าตัดสินใจลงคะแนนให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเกี่ยวกับนโยบายไปแล้ว อยากให้มีการรวมตัวเป็นกลุ่มต่างๆ ในการติดตามนโยบายอย่างใกล้ชิด เพราะนโยบายของผู้ว่ากทม.คือสัญญาประชาคมที่มีต่อประชาชน ถ้าหากชนะการเลือกตั้ง จะต้องนำนโยบายที่ให้สัญญาประชาคมไว้กับประชาชนไปดำเนินการ แต่จะสำเร็จหรือไม่ ก็อยู่ที่ประชาชนต้องติดตาม กดดันให้เร่งแก้ไขปัญหา

 

“ที่ผ่านมา ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากทม.มักลืมไปว่า กทม.ไม่ใช่การเมืองในรูปแบบพิเศษจริง เพราะยังอยู่ภายใต้อำนาจของกระทรวงมหาดไทย การบริหารราชการต่างๆ อยู่ภายใต้กฎระเบียบราชการจำนวนมากที่ล้าหลัง ทำให้เห็นว่า ผู้ว่ากทม.ทุกสมัย ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้มาก นอกจากปฏิบัติไปตามคำสั่งแต่ละวัน อยากจะพัฒนากรุงเทพฯให้ทะลุทะลวงต้องไปแก้กฎหมาย ให้เป็นการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษจริงๆ เพื่อให้ผู้ว่ากทม. มีอำนาจเต็มในการแก้ไขปัญหาให้กับคนกทม.”

 

  • เชื่อทุกพรรคส่งผู้สมัคร วัดกระแสเตรียม พร้อมสนามใหญ่

ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ จะสะท้อนไปสู่การเลือกตั้งสนามใหญ่หรือไม่นั้น อาจารย์โอฬาร มองว่า ตามที่กล่าวไปแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้ จะสะท้อนภาพการเมืองออกเป็น 2 ขั้ว แต่ละกลุ่มพลังทางการเมือง จะได้รู้ฐานคะแนนการเมืองของกลุ่มตนเองจริงๆในกทม. เพื่อที่เอาคะแนนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ไปเป็นฐานข้อมูลในการวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง หรือ “บิ๊กดาต้า” แน่นอน

 

พรรคก้าวไกลจะได้รู้ว่า มีผู้ให้การสนับสนุนมากน้อยเพียงใด พรรคเพื่อไทยจะได้รู้ว่ายังมีคนนิยมพรรคเพื่อไทยหรือไม่ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว สถานการณ์การพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร รวมไปถึงพรรคพลังประชารัฐ กระแสนิยมตัว พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ตรงไหน เป็นต้น

 

จะเห็นด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัครหลายคนประกาศลงสมัครอิสระ ไม่สังกัดพรรค แต่ก็มีคำถามว่า ในความเป็นจริงอิสระมากน้อยเพียงใด อย่าง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เห็นว่าการลงสมัครในครั้งนี้ มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน หากคนกทม.เชื่อว่า นายชัชชาติ ลงสมัครรับเลือกตั้งอิสระจริง แล้วเลือกนายชัชชาติ ทำให้มองว่าคนกทม. ให้ความสำคัญกับนโยบายมาก เพราะเป็นผู้สมัครที่มีการเสนอนโยบายมากที่สุด

 

แต่หากคนกทม.ไม่เชื่อ ไม่เลือกนายชัชชาติ เพราะการไม่เป็นอิสระจริง ทำให้มองว่าคนกทม.ยังมีความคิดทางการเมืองแบบเดิมๆ คือไม่ไว้วางใจพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกตั้ง ส.ส.ในสมัยหน้าคือ ไม่เลือกพรรคเพื่อไทยก็ได้

 

  • ชี้กระแส “ประยุทธ์” วูบ มั่นใจผลโพล “ชัชชาติ” เข้าวิน

กล่าวสำหรับผลการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.นั้น อาจารย์โอฬาร มองว่า ส่วนตัวถ้าประเมินจากความคงเส้นคงวาของโพล ยังให้น้ำหนักที่นายชัชชาติ เนื่องจากยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของฝ่ายตรงข้ามนั้น ยังใช้เหมือนการเลือกตั้งเมื่อปี 2556 มองดูแล้วใช้การไม่ได้ เพราะตอนนี้ฝั่งที่ใกล้ชิดหรือสนับสนุนรัฐบาล ในกลุ่มผู้สมัครเกิดความขัดแย้งกันเอง ไม่มีเอกภาพ

 

กล่าวคือ มีคำกล่าวว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ในความหมายคือ ไม่รู้ว่าใครคือ “เขา” หรือใครคือ “เรา” คิดว่าหากไม่มีอภินิหาร ไม่มีคะแนนเสียงจัดตั้ง หรือวิธีการนอกระบบ

 

ดังนั้น ส่วนตัวให้น้ำหนักที่นายชัชชาติ เพราะเชื่อว่า ผลโพลคงเส้นคงวา

 

รองลงมาน่าจะเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เพราะมีฐานของรัฐบาล ส่วนหนึ่งช่วงที่มีตำแหน่งนั้นยังมีเครือข่ายในเรื่องฐานคะแนนเสียงจัดตั้ง มีทั้งเครือข่ายข้าราชการ ฐานชุมชน และ ส.ก. ที่สำคัญอย่าลืม พล.ต.อ.อัศวิน เป็นอดีตผู้บัญชาการนครบาลเก่า ซึ่งมีทั้งตำรวจ และพวกใต้ดินสีเทาๆ ค่อนข้างมาก

ส่วน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกลนั้น มองว่า มีฐานคะแนนนิยมอยู่แล้วคือ นิวโหวตเตอร์ที่คงเส้นคงวามาตลอด รวมทั้งกลุ่มคนชั้นกลางใหม่ที่ชอบนโยบายแบบท้าทาย คงไม่ได้คะแนนจากฐานที่อยู่ฝั่งตรงข้าม

เพราะ การเลือกตั้งครั้งนี้กล่าวง่ายๆคือ เลือกฝั่งรัฐบาล หรือฝั่งไม่เอารัฐบาล ที่สำคัญแต่ละข้างก็แตกกันเองทั้ง 2 ข้างอีกด้วย

หากกล่าวถึงผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในส่วนที่อยู่ฝั่งรัฐบาล และหวังผลในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจารย์โอฬาร ชี้ว่า หากวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กระแสดีจริงๆ คงมีผู้สมัครบางคนโหนกระแสไปแล้ว

แต่ขณะนี้ไม่พบว่า มีใครโหนกระแสของรัฐบาล แสดงว่า รัฐบาลขาลงมาก จึงพบว่า ไม่มีใครสร้างกระแสเกี่ยวกับรัฐบาลเลย การเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ในครั้งนี้ จะมีผลต่อรัฐบาลเป็นอย่างมาก หากพรรคพลังประชารัฐแพ้ในสนามเลือกตั้งกทม. อาจจะต้องไปวางแผนยุทธศาสตร์ยึดที่นั่ง ส.ส.ในพื้นที่ต่างจังหวัด

  • เชื่อเลือก “นายกพัทยา” ตัวแทน “บ้านใหญ่” ยังได้เปรียบ

ส่วนการเลือกตั้งเมืองพัทยาครั้งนี้ ดูแล้ว มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 80,000 คน แม้สื่อมวลชนจะประโคมข่าวกันอย่างมากมาย แต่ความตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่พัทยายังเหมือนเดิม จะส่งผลให้กลุ่มที่ได้เปรียบทางการเมืองเกี่ยวกับคะแนนจัดตั้ง จะมีโอกาสได้รับการเลือกตั้งสูง หากมาใช้สิทธิเลือกตั้งประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ทุกครั้งที่ผ่านมา กลุ่มการเมืองที่มีเครือข่ายจะได้เปรียบมาก

นอกเสียจาก กลุ่มนิวโหวตเตอร์-กลุ่มชนชั้นกลางใหม่ ที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายจัดตั้ง มาใช้สิทธิเลือกตั้งเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเมืองพัทยาได้ ถ้าดูฐานการมาใช้สิทธิของชาวเมืองพัทยาแบบเดิม คิดว่าการเลือกตั้งคงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร อยู่ในกลุ่มฐานการเมืองเดิม

อย่างไรก็ตาม อาจารย์โอฬาร ย้ำว่า โครงสร้างกรุงเทพมหานคร กับเมืองพัทยา ซึ่งเป็นการปกครองในรูปแบบพิเศษเหมือนกัน มีปัญหาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเลือกใครมา จะติดปัญหาเหมือนกันหมด เนื่องมาจากระเบียบข้อกฎหมายล้าสมัย นอกจากนี้ยังพบว่า พัทยามีประชากรแฝงเยอะ ประมาณ 500,000 คน แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 80,000 คนเศษ ซึ่งประชากรแฝงไม่มีสิทธิตัดสินใจอะไรเลย นอกจากสะท้อนปัญหาได้เท่านั้น แต่แก้ไขไม่ได้ อาทิ น้ำท่วม ขุดเจาะถนนหนทาง การวางผังเมือง

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวยังแปลกใจ “ผู้สมัครนายกเมืองพัทยา” ไม่มีใครชูธง ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากผู้นำเพียงอย่างเดียว แต่มาจากโครงสร้างในการบริหารงานด้วย การเรียกร้องให้เมืองพัทยาเป็นเมืองพิเศษจริงๆ

ในฐานะนักวิชาการมองว่า ได้เรียกร้องว่าอยากให้พัทยาเป็นเมืองพิเศษจริงๆ แต่ตัวผู้สมัครนายกเมืองพัทยา รวมทั้งผู้สมัครผู้ว่ากทม. ไม่เห็นปัญหานี้ แม้ว่าหลังจากได้รับการเลือกตั้งแล้ว จะเก่ง หรือวิเศษมาจากไหนก็ตาม หากไม่เข้าใจโครงสร้างของปัญหาที่กระทรวงมหาดไทยยังมีอิทธิพล กับเมืองพัทยาหรือกรุงเทพมหานคร จะส่งผลให้ปัญหาต่างๆไม่ได้รับการแก้ไข

“แปลกใจที่ไม่มีใครพูดว่า หากเข้ามาเป็นนายกเมืองพัทยา หรือผู้ว่า กทม.จะเคลื่อนไหว หรือขับเคลื่อนไปกับคนในเมืองพัทยา หรือกทม. ให้เกิดการปฏิรูปให้เกิดเป็นเมืองพิเศษจริงๆ เพื่อให้มีงบประมาณ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลคนพัทยา หรือคนกรุงเทพฯ ได้อย่างรอบด้าน แต่ไม่เห็นว่า มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งนายกเมืองพัทยา หรือ ผู้ว่า กทม.กล่าวถึงเลย แล้วปัญหาจะแก้ไขได้อย่างไร” 

  • มองผู้สมัคร “คณะก้าวหน้า” คนหนุ่ม แต่ถูกภาพ “ธนาธร” กลบ

การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาครั้งนี้ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้สมัครหมายเลข 1 กลุ่มเรารักพัทยา เป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์ มีความสามารถในการสื่อสารกับสังคม มีต้นทุน มีโปรไฟล์ที่ดี ทั้งสังคมและครอบครัว ซึ่งเป็นจุดแข็ง ถึงแม้จะอยู่ในเครือข่ายตระกูล “คุณปลื้ม”

แต่การเว้นระยะห่าง ทำให้เห็นว่า นายปรเมศวร์ มีความเป็นตัวของตัวเองมาก เมื่อเปรียบเทียบกับ นายกิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย ผู้สมัครหมายเลข 3 จากคณะก้าวหน้า เสียดายเหมือนกันว่า เป็นคนรุ่นใหม่ อยากทำงาน แต่โดนภาพของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาปิดไว้ จึงเป็นจุดอ่อนเรื่องการสื่อสาร

ส่วน นายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ ผู้สมัครอิสระหมายเลข 2 เป็นอดีตข้าราชการ มีความสามารถประสบการณ์เยอะ แต่อย่าลืมว่า ช่วงเป็นข้าราชการมีคนพินอบพิเทา เมื่อทำงานทางการเมืองต้องอาศัยความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ อาศัยเครือข่าย ซึ่งเป็นข้อจำกัด แม้จะไม่ได้รับการเลือกตั้ง อาจมีผลทางอื่น คือ ได้คะแนนต้นทุน หากต้องการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อก้าวต่อไปทางการเมือง

ขณะที่ นายสินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร ผู้สมัครหมายเลข 4 กลุ่มพัทยาร่วมใจ เรื่องนี้ยังงงเหมือนกัน ทำไม นายนิรันดร์ วัฒนศาสตร์สาธร ทำไมไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเอง ทั้งที่เปิดตัวมานาน

“ทำให้คิดว่า หากนายนิรันดร์ลงสมัครนายกเมืองพัทยา อาจไม่ได้รับการเลือกตั้ง หรือมองดูแล้วเหมือนจะฮั้วกับบ้านใหญ่ เพราะเคยอยู่บ้านใหญ่มาก่อน จึงต้องนำน้องชายมาลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยอมรับว่า ผู้สมัครสมาชิกเมืองพัทยาเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่เมืองพัทยา ทำให้ได้เปรียบไม่น้อยเหมือนกันของกลุ่มนายสินธ์ไชย แต่ผมมองว่า ความได้เปรียบเป็นนายปรเมศวร์ ส่วนสมาชิกสภาเมืองพัทยาคิดว่ามีความหลากหลาย”

  • ฝาก “คนพัทยา” ถ้าอยากเปลี่ยนขั้ว ต้องออกมาใช้สิทธิมากๆ 

อาจารย์โอฬาร ทิ้งท้ายว่า อยากจะฝากการเลือกตั้งเมืองพัทยา เมื่อผู้สมัครนายกเมืองพัทยาเสนอนโยบาย อยากให้ผู้สมัครที่ได้รับการเลือกตั้งแล้วนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ อยากให้ประชาชนติดตามนโยบาย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่านี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องไปออกไปใช้สิทธิให้ทะลุทะลวง 70-80 เปอร์เซ็นต์ หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเหมือนที่ผ่านมา การเมืองจะไม่เปลี่ยน

ที่สำคัญอยากฝาก กกต.ว่า พัทยามีประชากรแฝง 5 แสนคน ที่ใช้ชีวิตความเป็นจริง แต่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งอันตรายมาก จะส่งผลให้มีการควบคุมฐานคะแนนเสียงได้ง่าย

ประชากรแฝงเหล่านี้ จะต้องมีวิธีการจัดการให้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้มีส่วนร่วมพัฒนาเมืองพัทยา ไม่ว่าจะเป็นวินจักรยานยนต์รับจ้าง เจ้าของเตียงผ้าใบ ลูกจ้างร้านอาหาร

เรื่องนี้ กกต.ต้องคิด ! 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง