"สาวโคราช" พลิกวิกฤตโควิด ยึดอาชีพเพาะเห็ดฟางขาย สร้างรายได้หลักหมื่นต่อเดือน (มีคลิป)
วันนี้ ( 24 กุมภาพันธ์ 2564 ) นางนิตยา ปิวจันทึก ชาวบ้านหนองไผ่ ตำบลโนนตาเถร อำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา ยึดอาชีพเพาะเห็ดฟางขาย และเป็นแม่ค้าคนกลาง รับซื้อเห็ดฟางจากเพื่อนบ้านไปจำหน่ายตามตลาดนัดต่างๆ เพราะได้มองเห็นว่าอาชีพเพาะเลี้ยงเห็ดฟาง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจของเกษตรกรเพราะใช้น้ำน้อย ยิ่งในช่วงฤดูแล้งที่ปริมาณน้ำเริ่มขาดแคลน นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลทำให้หลายอาชีพต้องหยุดชะงักหรือตกงานกันเป็นจำนวนมาก แต่เห็ดฟางก็ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง
นางนิตยาฯ เปิดเผยว่า ตนเคยทำงานอยู่ฟาร์มแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี แต่ด้วยปัญหาโรคระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงทำให้งานที่ตนทำอยู่ต้องหยุดชะงักลง และด้วยความสนใจในด้านการเกษตร โดยเฉพาะการเพาะเห็ดฟาง ตนจึงเรียนรู้การทำก้อนเชื้อเห็ดในแหล่งเรียนรู้ และเอกสารต่างๆ จนแน่ใจว่าสามารถทำได้จึงลาออกจากงาน เพื่อกลับมาทดลองทำเองที่บ้านเกิด โดยตนใช้วิธีการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย เพราะเป็นการประหยัดในเรื่องการทำโรงเรือน และสามารถใช้วัสดุในการปลูกได้หลากหลาย ทั้งฟางแห้ง กากมันสำปะหลัง ต้นกล้วย ขี้เลื่อย ที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น จากนั้นทำกองฟางแบบเตี้ยๆ ขนาด 45×120 เซนติเมตร เป็นแนวยาว หรือตามขนาดของแปลงที่ยกร่องขึ้นมา แล้วนำฟางข้าวอัดใส่ให้แน่นสูงขึ้นมาทีละ ประมาณ 5 นิ้ว ใส่เชื้อเห็ดฟาง เศษขี้เลื่อย หรือกากมันสำปะหลัง และมูลวัวตากแห้ง เพื่อให้เป็นอาหารของเชื้อเห็ดฟาง โดยจะโรยตามขอบรอบๆแปลง ทำอย่างนี้จำนวน4ชั้น แล้วจึงนำเชื้อเห็ดฟางวางลงบนแปลงปลูกที่ขึ้นร่องไว้
จากนั้นคลุมด้วยพลาสติกใส เพื่อกันไม่ให้ความชื้นในกองเห็ดระเหย ทำลักษณะให้คล้ายโดมขนาดเล็ก และใช้ฟางข้าวคลุมอีกชั้นเพื่อกันแสงแดด จากนั้น 10 วันเห็ดฟางก็จะเริ่มให้ผลผลิต โดยตนจะเก็บผลผลิตได้เฉลี่ยแปลงละประมาณ 3 กิโลกรัม โดยเมื่อเก็บหมดทุกแปลกแล้วจะได้ประมาณ 20 กิโลกรัม สามารถขายได้ในกิโลกรัมละ 80-100 บาท ในแต่ละเดือนตนจะมีรายได้จากการขายเห็ดเฉลี่ยเดือนละ 20,000-30,000 บาท ซึ่งนอกจากการขายเห็ดฟางแล้ว เชื้อเห็ดที่เพาะแล้วก็ยังสามารถนำออกจำหน่ายเป็นปุ๋ยได้ โดยปัจจุบันตนได้ส่งเสริมให้เพื่อนบ้านเริ่มปลูกเห็ดฟางเพื่อใช้รับประทานกันในครอบครัวกันบ้างแล้ว หรือถ้าหากเพื่อนบ้านได้เห็ดเป็นจำนวนมาก ตนก็จะรับเป็นพ่อค้าคนกลาง นำไปจำหน่ายตามตลาดนัดต่างๆเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย และสำหรับใครที่สนใจอาชีพเพาะเห็ดฟาง ก็สามารถติดต่อสอบถามหรือเข้าไปเรียนรู้ยังฟาร์มเห็ดบ้านหนองไผ่ของตนได้อีกด้วย หมายเลขโทรศัพท์ 081-1538236