ค่าพีเอช (pH) ในน้ำเสีย คืออะไร ทำไมต้องวัด / บทความโดย Pchalisaในระหว่างที่เราควบคุมและดูแลระบบบำบัดน้ำเสียไปนั้น หลายคนยังมองภาพไม่ออกว่า ทำไมเราต้องทำการตรวจสอบพารามิเตอร์ต่างๆ ในตัวอย่างน้ำเสีย พอเป็นแบบนี้ระบบบำบัดน้ำเสียทำงานด้อยประสิทธิภาพลง ผู้ดูแลระบบก็ไม่สามารถคาดการณ์สภาวะแวดล้อมในระบบขณะนั้นได้ และก็ตามมาด้วยระบบบำบัดน้ำเสียล่มค่ะในขณะที่หากระบบบำบัดน้ำเสียของเราทำงานได้ตามปกติดีอยู่แล้ว คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า? การตรวจสอบคุณภาพน้ำในตอนนั้น จะถือว่าเป็นแนวทางป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อกระบวนการในระบบ และค่าพีเอชเป็นพารามิเตอร์พื้นฐานที่มีความจำเป็นจะต้องตรวจสอบ ใช่อยู่ว่าหลายๆ ครั้งตอนระบบเดินได้ปกติ เราอาจพบว่าก็ไม่เห็นมีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ความเข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริง จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีกว่าแน่นอน ดังนั้นในบทความนี้เราจะมารู้เรื่องค่าพีเอชในน้ำเสียกันค่ะ ว่าคืออะไรกันแน่ และมีความสำคัญยังไงกัน ทำไมถึงได้บอกว่าต้องวัด งั้นอ่านต่อกันเลยดีกว่าค่ะค่า pH ในน้ำเสีย คืออะไร?คุณผู้อ่านรู้ไหมคะว่า? pH ย่อมาจากคำว่า potential of Hydrogen หรือศักยภาพของไฮโดรเจนนะคะ เป็นค่าที่ใช้บอกความเข้มข้นของไอออนไฮโดรเจน (H+) ในสารละลายในตอนนั้น ซึ่งถ้าเราตรวจน้ำเสียก่อนเข้าระบบบำบัด ก็จะเป็นคุณภาพของน้ำก่อนเข้าระบบค่ะ แต่ถ้าเราตรวจในถังเติมอากาศหรือถังเกรอะ-กรองแบบไร้อากาศ ค่าพีเอชที่เราเจอก็บ่งบอกคุณภาพน้ำในถังดังกล่าว และสุดท้ายคือถ้าเราตรวจค่านี้ในน้ำทิ้งที่จะปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ค่าพีเอชที่ได้ก็คือคุณภาพน้ำทิ้ง จากนั้นเราก็นำค่านี้ไปเทียบกับมาตรฐานน้ำทิ้งค่ะ โดยค่าพีเอชเมื่อตรวจสอบออกมาแล้ว ไม่ว่าจะใช้พีเอชมิเตอร์แบบปากกา เครื่องตรวจพีเอชแบบห้องปฏิบัติการ หรือแม้แต่กระดาษตรวจพีเอชก็ตามแต่ ทุกอย่างจะบอกค่าพีเอชออกมาเป็นตัวเลข เพียงแต่ว่าแบบไหนจะละเอียดกว่ากันเท่านั้นเองค่ะ ซึ่งเราจะเห็นตัวเลขที่เป็นค่าพีเอชได้ ตั้งแต่ 0-14 ตรวจ 3 ครั้ง ก็จะเจอค่าพีเอชที่แตกต่างหรือเหมือนกัน จำนวน 3 ตัวเลขค่ะ โดยความหมายของค่าพีเอชนั้น ให้นำตัวเลขมาเทียบตามนี้ค่ะถ้าค่า pH น้อยกว่า 7 แสดงตัวอย่างน้ำเสียมีสมบัติเป็นกรดค่า pH เท่ากับ 7 บ่งบอกว่าน้ำเสียตัวอย่างนั้นเป็นกลางและถ้าพบว่าค่า pH มากกว่า 7 แบบนี้น้ำเสียในตอนนั้นมีคุณสมบัติเป็นเบสหรือด่างค่ะทำไมค่า pH ในน้ำเสียจึงสำคัญ?โดยปกตินั้นเมื่อมีน้ำเสียเกิดขึ้น สิ่งที่จะตามมาต่อจากนั้นก็คือมีจุลินทรีย์ย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียค่ะ ซึ่งจุลินทรีย์ที่ว่านี้โดยส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงค่า pH ที่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งถ้าหากค่า pH สูงหรือต่ำเกินไป จะทำให้จุลินทรีย์เหล่านี้ทำงานได้ไม่ดีหรืออาจตายได้ และส่งผลให้กระบวนการบำบัดน้ำเสียไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น ซึ่งถ้าเป็นระบบที่เลี้ยงตะกอน พอค่าพีเอชมีปัญหาเราก็จะเจอตะกอนลอยที่ผิวน้ำ สถานการณ์นี้ก็คือตะกอนแบคทีเรียได้ตายไปแล้วนั่นเองค่ะในทำนองเดียวกันหากเราไปเก็บน้ำเสีย ที่ทางน้ำเข้าระบบมาตรวจหาค่า pH การที่มีค่าพีเอชสูงหรือต่ำเกินไป ก็สามารถคาดการณ์การกัดกร่อนท่อและอุปกรณ์ที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียได้ อีกทั้งยังสามารถนำมาเป็นข้อพิจารณาเพื่อติดตั้งหน่วยปรับสภาพน้ำเสียก่อนเข้าระบบบำบัดได้ค่ะ ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียน พบว่า น้ำเสียก่อนเข้าระบบมีค่าพีเอชต่ำ หลายครั้งมักมาจากการใช้สารเคมีที่มีความเป็นกรดสูงจำนวนมากในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น ถ้าเป็นโรงพยาบาลก็คือช่วง Big Cleaning Day ที่มักมีการใช้น้ำยาล้างห้อง น้ำยากัดสนิมจำนวนมาก โดยในกรณีนี้หากผู้ดูแลระบบรู้ข้อมูลก่อน เขาจะหยุดการสูบน้ำเสียเข้าระบบหากในตอนนั้นยังไม่ได้มีหน่วยปรับสภาพน้ำเสียค่ะในขณะที่ค่าพีเอชสำคัญกับตัวอย่างของน้ำทิ้งด้วยนะคะ เพราะการปล่อยน้ำทิ้งที่มีค่า pH ไม่เหมาะสมลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในน้ำ แถมยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้งที่กำหนดด้วยค่ะ ดังนั้นค่า pH ในน้ำเสียเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องควบคุมให้เหมาะสม เพื่อให้กระบวนการบำบัดน้ำเสียเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนะคะทุกคนค่า pH ในถังเติมอากาศ ควบคุมยังไงดี?ค่า pH เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของระบบบำบัดน้ำเสียแบบเลี้ยงตะกอน โดยเฉพาะในถังเติมอากาศนะคะ การควบคุมค่า pH ให้เหมาะสมจะช่วยให้จุลินทรีย์ในระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งแบคทีเรียคือตัวหลักในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียในถังนี้ การควบคุมค่าพีเอชได้ดี จะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การเกิดตะกอนลอย การเกิดฟอง และการเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ โดยเรามีความจำเป็นต้องควบคุม pH ในถังเติมอากาศของระบบบำบัดน้ำเสียแบบเลี้ยงตะกอน ให้อยู่ระหว่าง 6.5 - 7.5 ค่ะ หรือจำง่ายๆ คือใกล้เคียง 7 หากค่า pH ออกนอกช่วงที่เหมาะสม แบคทีเรียในถังเติมอากาศจะเจริญเติบโตได้ช้าลงหรืออาจตายได้ ทำให้ประสิทธิภาพในการย่อยสลายของเสียลดลงในตอนนั้น และเราอาจพบว่าคุณภาพน้ำทิ้งก็อาจจะไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานนะคะ ค่า pH ที่ไม่เหมาะสม ยังมีส่วนทำให้เกิดการจับตัวของตะกอนเกิดขึ้นได้ไม่ดีหรือที่เราเรียกว่าฟล็อก (Floculation) จึงพบว่าเกิดตะกอนลอย ทำให้ประสิทธิภาพในการตกตะกอนลดลงด้วยค่ะ ซึ่งถ้าพบว่ามีค่า pH ที่สูงเกินไป อาจทำให้เกิดฟองในระบบบำบัดได้ด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาในการควบคุมระดับของเหลวในระบบ ในทางตรงกันข้ามถ้าค่า pH ที่ต่ำเกินไป อาจทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์จากการผลิตก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ได้ค่ะ จากที่ผู้เขียนได้มีประสบการณ์มานั้น ค่าพีเอชในถังเติมอากาศของระบบบำบัดน้ำเสีย ไม่ว่าจะเป็นแบบคลองวนเวียน (Oxidation ditch;OD) ระบบบำบัดน้ำเสียแบบเอสบีอาร์ (Sequencing Batch Reactor; SBR) หรือแม้แต่ระบบบำบัดน้ำเสียแบบตะกอนเร่ง (Activated Sludge; AS) ทั้งหมดมีลักษณะปัญหาเรื่องค่าพีเอชไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือมักมีค่าพีเอชต่ำในถังเติมอากาศในช่วงที่มีกระบวนการไนตริฟิเคชั่น (Nitrification)กระบวนการไนตริฟิเคชั่นเป็นกระบวนการที่แบคทีเรียเปลี่ยนแอมโมเนีย (NH₄⁺) ให้เป็นไนไตรท์ (NO₂⁻) และไนเตรท (NO₃⁻) ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการบำบัดน้ำเสีย แต่กระบวนการนี้จะผลิตโปรตอน (H⁺) ออกมาเป็นผลพลอยได้ ทำให้ค่า pH ในระบบลดลงหรือมีความเป็นกรดมากขึ้นนะคะ โดยผู้เขียนพบว่าการเติมอากาศที่มากเกินไป มักทำให้เกิดการไนตริฟิเคชั่นมากเกินไป จึงส่งผลให้ค่า pH ลดลงอย่างรวดเร็วได้ โดยเราก็จะต้องไปปรับลดปริมาณการเติมอากาศลงค่ะสำหรับการตรวจวัดค่า pH ควรมีการตรวจวัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของค่านี้ และสามารถปรับปรุงการทำงานของระบบค่ะ โดยผู้เขียนมีประสบการณ์มาทั้งหมดแล้ว ทั้งการตรวจแบบปากกา แบบในห้องปฏิบัติการและแบบกระดาษ โดยในกรณีปรับสภาพในระบบเพื่อเดินระบบใหม่ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เครื่องที่มีความละเอียดสูงค่ะ แต่สำหรับในกรณีที่ระบบเดินปกติแบบปากกาหรือแบบมิเตอร์ที่มีค่าต่ำลงก็สามารถใช้ได้ สิ่งสำคัญคือการปรับเทียบกับค่ามาตรฐานจากตัวอย่างน้ำยาที่ให้มา เพื่อลดความคาดเคลื่อนของค่าพีเอชที่จะวัดได้ และอย่าลืมดูเรื่องถ่านด้วยนะคะ เพราะหลายครั้งผู้ดูแลระบบไม่ได้วัดค่าพีเอช เพราะไปคิดว่าเครื่องพัง จนทำให้ไม่มีข้อมูลของค่าพีเอชในระหว่างนั้นเป็นยังไงบ้างค่ะ พอจะมองภาพออกมากขึ้นหรือยัง จากที่ผู้เขียนได้มีประสบการณ์มานั้นค่าพีเอชในถังเติมอากาศมักปราบเซียนค่ะ ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจึงให้ข้อมูลเรื่องไว้โดยละเอียดแล้ว อย่างไรนั้นคุณผู้อ่านลองอ่านทำความเข้าใจดูก่อน จากนั้นต้องนำไปใช้ในสถานการณ์จริงค่ะ ซึ่งการควบคุมและดูแลระบบบำบัดน้ำเสียให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น มีความจำเป็นต้องเข้าใจและมองภาพให้ออกเกี่ยวกับชีววิทยาของน้ำเสียค่ะและเรื่องค่าพีเอชเป็นเพียงหนึ่งหัวข้อย่อยในอีกหลายหัวข้อมากๆ และการประสบการณ์ตรงมา ก็มีส่วนช่วยทำให้เข้าใจเรื่องนี้ได้ดีขึ้นด้วย ซึ่งผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากถ้าชอบบทความแบบนี้อีก ก็อย่าลืมกดติดตามหรือกดบุ๊กมาร์กหน้าโปรไฟล์ไว้นะคะ เพราะจะได้ไม่พลาดบทความใหม่ๆ ที่จะได้นำมาเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ค่ะ😃เครดิตภาพประกอบบทความภาพหน้าปกและภาพประกอบเนื้อหาโดยผู้เขียน ออกแบบภาพที่ 2 ใน Canvaออกแบบภาพหน้าปกใน Canvaเกี่ยวกับผู้เขียนภัคฒ์ชาลิสา จำปามูลศึกษาเกี่ยวกับ: พยาบาลศาสตรบัณฑิต (B.N.S.) จากวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม); M.P.H. (Environmental Health) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความสนใจและประสบการณ์เกี่ยวกับ: สุขภาพ จิตวิทยาเชิงบวก การจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล บทความอื่นที่น่าสนใจโดย Pchalisa https://news.trueid.net/detail/w5R6Y1aDGRl5 https://news.trueid.net/detail/jarX14ZgBzBx https://news.trueid.net/detail/nw9JGjZG4OBo เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !