รีเซต

ฟังเสียง 2 ฟากฝั่ง 'หนุน-ต้าน' เมืองต้นแบบอุตฯจะนะ

ฟังเสียง 2 ฟากฝั่ง 'หนุน-ต้าน' เมืองต้นแบบอุตฯจะนะ
มติชน
11 กรกฎาคม 2563 ( 08:07 )
174

 

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ในฐานะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เป็นโครงการที่ใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม อ.จะนะ จำนวน 16,753 ไร่ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ รองรับอุตสาหกรรม 6 ประเภท คือ 1.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา 4,253 ไร่ 2.พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก 4,000 ไร่ 3.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์ 4.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ 2,000 ไร่ 5.พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า 2,000 ไร่ และ 6.พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย 500 ไร่

 

แต่ยังไม่ทันที่จะเดินหน้า โปรเจ็กต์เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ก็ถูกคัดค้านอย่างหนัก แต่ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มที่เปิดหน้าออกมาสนับสนุนโครงการเช่นกัน

 

จากแต่เดิมสองฝ่ายเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ทว่าล่าสุด มีการเคลื่อนพล เคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้อง ขยายวงสู่ส่วนกลาง ทั้งที่รัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล

สาเหตุที่มีความเคลื่อนไหวคึกคักในช่วงนี้ เนื่องจากวันที่ 11 กรกฎาคม จะมีการเปิดเวทีใหญ่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการ ที่โรงเรียนจะนะวิทยา ต.สะกอม อ.จะนะ

 

มาฟังเสียงของ 2 ฝ่ายดูบ้างว่าแต่ละข้างนั้น มีเหตุผลของตัวเองอย่างไร

อ.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี ฝ่ายคัดค้านโครงการ ระบุว่า ความสมบูรณ์ของ อ.จะนะ เป็นการอ้างของรัฐอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีการพัฒนามีการจ้างแรงงานคนในพื้นที่กว่าแสนตำแหน่งให้ลืมตาอ้าปากได้

 

บริบทของคนจะนะยังต้องพึ่งพิงธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศเป็นการให้บริการ คุณภาพชีวิตที่ดีและมากกว่านี้คือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอยู่แล้ว มันมีมูลค่ามากกว่าทางเศรษฐกิจตามที่มนุษย์จะคิดได้ หากเราจะเปลี่ยนพื้นที่ให้กลับไปเป็นป่าชายเลนสักแห่งต้องใช้ทรัพยาการมากถึง 3 เท่าในการเรียกคืนกลับมา เราจะพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจโดยทำลายและเปลี่ยนแปลงธรรมชาติไปเพื่ออะไรหากระบบเสียหายไปแล้ว เราจะเอาคืนไม่ได้ ท่าเรือน้ำลึกที่เกิดขึ้นจะทำลายชีวิตวิถีชาวประมงดั้งเดิม และปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่แก้ไขยาก มีโครงการท่าเรือน้ำลึกที่ผ่านมาก็พับแผนไปแล้วที่สตูล

 

รัฐควรศึกษาให้ข้อมูลที่ให้ความเชื่อมั่นทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน ต้องมีการตั้งโจทย์ร่วมกัน มีคำตอบที่ชัดเจนให้นำไปสู่พลังแห่งการตัดสินใจร่วมกันเช่นผลตอบแทน การจ้างงาน เท่าไหร่ ใครได้ใครเสีย ต้องให้ข้อมูลที่จริง ให้ผลประโยชน์รัฐต้องคุยให้ชัดเจน มีการให้ความยั่งยืนอย่างไร การตอบแทนด้านทรัพยากร ด้านวัฒนธรรมวิถีชีวิตหาทางปรึกษาหารือเพื่อได้ทางเลือกที่เป็นของพลังทางเลือกทั้งหมดร่วมกัน

 

ขณะที่ อ.ธีรวัฒน์ ขวัญใจ คณะนิติศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ตั้งไว้ 3 ประเด็นคือ 1.การวางกฎหมายวางผังเมือง จากเอกสารที่ ศอ.บต.ให้ไว้ แท้จริงแล้วคือการกำหนดผังเมืองใหม่ ที่ถูกกำหนดไว้แล้ว และอยากทราบว่ามันเป็นแบบร่างหรือถูกกำหนดประกาศมาใช้แล้วหรือยัง ถ้าเป็นไปตามผังเมืองเดิมแล้ว ไม่สามารถเป็นเขตอุตสาหกรรมได้ แต่มีกำหนดข้อยกเว้นว่าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจถึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ การดำเนินการเรื่องนี้มีการแสดงข้อมูลวิชาการไม่สอดคล้องกับวิชาการผังเมืองพื้นที่ถูกกันไว้ 50% ที่ถูกปรับเป็นสีม่วง พื้นที่ที่เหลือถูกมองข้ามไป

 

ประเด็นที่ 2 ภายใต้ขอบข่ายสิ่งแวดล้อม ทำไมไม่ใช้คำกำหนดนิคมอุตสาหกรรมเพราะการพัฒนาจะอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายการพัฒนาของการสร้างนิคม อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.นิคมฯ การสร้างประชาคม EIA และ EHIA หรือการทำเฉพาะ ไม่มีการมองผลกระทบในภาพรวมว่าเป็นอย่างไร

 

และประเด็นที่ 3.ใครมีส่วนร่วม ใครได้ใครเสีย ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดแบบไหน การมองที่ผลประโยชน์ การมองเรื่องสิทธิชุมชน ทุกคนควรมีสิทธิในการร่วมกันตั้งข้อสังเกตและหาทางออกให้ครบถ้วนรอบด้าน ถ้ามีแล้วดีอย่างไรเสียอย่างไร การแก้ไขปัญหา การมีมาตรการแก้ปัญหาที่ตั้งไว้แล้ว เวทีวันที่ 11 ก.ค. ทำไมไม่เปิดให้คนจะนะในพื้นที่อื่นเข้าด้วยให้เพียงคนในชุมชน 3 ตำบลเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นหากมีการตั้งเวทีคู่ขนานได้หรือไม่

 

ขณะที่เสียงของฝ่ายสนับสนุน ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โจทย์ใหญ่คือคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่จะเกิดโรงงานอุตสาหกรรมจะนะคือ ต.สะกอม นาทับ และตลิ่งชันนั้น คนส่วนใหญ่มีปัญหาความยากจนเกือบทุกคนจะทำอาชีพวิถีประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิม ซึ่งต่อไปในอนาคตอาจเลี้ยงตัวเองได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ รวมทั้งกับมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในมาเลเซียต้องกลับบ้านเข้ามารวมกันอีก

 

ในขณะนี้จึงเกิดปัญหาความว่างงานมากขึ้น ทุกรัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมอาชีพ และตัวของสถาบันเราเองก็ควรเข้าไปให้ความรู้ให้การศึกษาและสร้างงาน เราทำแบบก่อนหน้านี้คือทำอาชีพประมงเล็กพอในช่วงมรสุม 4 เดือนก็จะว่างงานคิดว่าความเหมาะสมคือช่วยเรื่องอุตสาหกรรมการเกษตรและการแปรรูปเกษตรที่มีอยู่ในพื้นที่ให้ชาวบ้านสามารถลืมตาอ้าปากด้วยน่าจะตอบโจทย์ได้ดีสุด

 

สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบนั้นรัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือ ในเรื่องชดเชยต่างๆ เรื่องการทำให้มีงานทำ การหาทางออกใหม่ให้สร้างงานใหม่ หน่วยงานของรัฐทั้งหมดและรวมทั้งบริษัทผู้สนับสนุนต้องช่วยสร้างความรู้เพิ่มความรู้หาทางรอดให้กับทุกคน ส่วนผลประโยชน์ที่ไม่เกิดขึ้นหรือเป็นผลเสียก็ต้องหาทางแก้ไขปัญหากันต่อไป เช่น โครงการไฟฟ้าจะนะที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี นั้นก่อนที่จะเกิดขึ้นพวกเราก็ทะเลาะกันแต่เมื่อมีการไฟฟ้าเกิดขึ้นแล้วเราก็จะเห็นประโยชน์ตามมาเอง สังคมโดยรวมทั้งหมดต้องช่วยกันหาทางออกให้ได้

 

ส่วนตัวมองเห็นประโยชน์มากกว่า โรงงานอยู่ในเขตอุตสาหกรรมดีกว่า ถ้ามีโรงงานแบบไม่กำหนดเขตอุตสาหกรรมแล้วจะเสียหายมากไปกว่านี้ แต่ถ้ากำหนดไว้ว่าเขตอุตสาหกรรมเราจะได้ตัดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะต้องทำตามข้อกำหนด ข้อบังคับ มีระบบระเบียบไม่มีการปล่อยน้ำเสีย มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างความเดือดร้อน ชาวบ้านต้องมีอาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งต้องเปลี่ยนวิธีคิดการประมงแบบใหม่ให้กับเขาด้วย

 

ด้าน นายพจนาถ มากรักษ์ ผอ.โรงเรียนบ้านตลิ่งชัน กล่าวว่า มองว่าเป็นโครงการที่ดีของรัฐ แต่ยังขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีพอ หน่วยงานที่รับผิดชอบควรให้บุคลากรได้รับองค์ความรู้อย่างถูกต้องและถ่ายทอดให้กับนักเรียนและเยาวชนให้เข้าใจต่อไป ส่วนของโรงเรียนนี้ ต้องวางแผนและเตรียมมาตรการให้มีแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพิ่มขึ้น คาดว่าถ้ามีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นคนก็จะเข้ามาในชุมชนมากขึ้น เพราะคนเข้ามาทำงานมีคนนอกย้ายเข้ามา

 

เพราะฉะนั้นโรงเรียนต้องเพิ่มและขยายโรงเรียนด้วย สำหรับโรงเรียนบ้านตลิ่งชันปัจจุบันสอนอยู่ในระดับชั้นมัธยมปีที่ 3 เราคาดว่าจะให้โรงเรียนต่อสายหรือส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนสายอาชีพเพื่อเตรียมให้เขาเข้าไปเรียนด้านอาชีพเพื่อตอบสนองกับแรงงานให้สอดคล้องกันได้ ผลลัพธ์ของโครงการนี้ คือทุกโครงการน่าจะมีประโยชน์ กลุ่มที่คัดค้านอยากให้หันเข้ามาพูดคุยกันสร้างความเข้าใจกันด้วยดี อย่ารังเกียจและยืนกันคนละฝั่ง ขอให้ทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุยและหาทางออกเข้าใจปัญหาร่วมกันแก้ปัญหาและแสวงหาทางออกให้ดีขึ้น

 

ท่ามกลางเสียงหนุน-เสียงต้าน ต้องรอคอยบทสรุปจากรัฐว่า จะชั่งน้ำหนักในการดำเนินโครงการนี้อย่างไร ระหว่างเดินหน้าต่อ และถอยทบทวนโครงการ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง