รีเซต

ครม. เห็นชอบจัดตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย

ครม. เห็นชอบจัดตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย
TNN ช่อง16
27 สิงหาคม 2567 ( 14:19 )
14

วันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมหารือถึงสถานการณ์น้ำ ที่ส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างกว้างขวางในขณะนี้ โดยสถานการณ์เกิดขึ้นซ้ำซาก เรื้อรัง การบริหารจัดการน้ำ และการกักเก็บน้ำในภาคเหนือ ทำให้มีปัญหาน้ำท่วมทุกปี ต้องช่วยเหลือผู้ที่ลำบากทุกปี


โดยเฉพาะในปีนี้มีมวลน้ำปริมาณมาก และสถานการณ์ฝนตกมีความแตกต่างจากที่ผ่านมา โดยจะตกเป็นจุด ๆ ที่เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ที่กระทบโดยตรงและจะยิ่งหนักขึ้นทุกวัน จึงต้องมีแผนรองรับในการแก้ปัญหา แบ่งเป็น 3 ระดับคือ เฉพาะหน้าระบายน้ำไม่ให้ลุกลาม, หลังน้ำลด คือการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน และการแก้ปัญหาในระยะยาว ที่ต้องยกเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อมี ครม.ชุดใหม่แล้วจะบรรจุเป็นวาระเร่งด่วนเพื่อดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์


ที่ประชุมคาดการณ์สถานการณ์น้ำท่วมบางพื้นที่คลี่คลายแล้ว แต่บางพื้นที่ยังหนัก เช่น จ.สุโขทัย เป็นพื้นที่รองรับน้ำก่อนระบายสู่จังหวัดต่าง ๆ เนื่องจากคันกั้นน้ำไม่สามารถรับได้ เกิดพังทลาย และมีปัญหาการเวนคืนที่ดิน โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีปฎิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว


น.ส.นัทรียา กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบจัดตั้งศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย เพื่อให้เป็นเอกภาพในการแก้ปัญหา มีคณะกรรมการ การใช้งบประมาณ และอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน โดยมีนายภูมิธรรมเป็นประธาน ส่วนรองประธานประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


แบ่งภารกิจเป็น 2 ส่วนคือ 1.การบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำ การแจ้งเตือน ให้ทราบข่าวว่าน้ำจะมาช่วงใด เพื่อไม่ให้เกิดความตระหนก โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คำนวณและยืนยันว่าน้ำจะไม่ถึงสถานการณ์ปี 2554 มี ร.อ.ธรรมนัส เป็นผู้ดูแล


2.การดูแลช่วยเหลือประชาชน มีรมว.เป็นหลักในการบูรณาการความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงาน สำหรับงบประมาณจะใช้จากงบประมาณ งบฯกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีกรณีฉุกเฉิน


ส่วนสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่บางจังหวัดประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ จะใช้งบทดรองจ่ายจำนวน 20 ล้านบาท หากไม่เพียงพอต้นสังกัดจะขอมาที่งบฯกลางเพื่อพิจารณา แต่เมื่อมีคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาแล้ว การดำเนินการทุกอย่างจะต้องรวดเร็ว ตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น


คณะกรรมการมีหน้าที่ป้องกัน แก้ไข เยียวยา และฟื้นฟู ซึ่งต้องดูสถานการณ์ในรายจังหวัดนั้น เช่น จ.น่าน สถานการณ์น้ำท่วมผ่านไปแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการเยียวยาและฟื้นฟู ส่วนจังหวัดที่น้ำยังมาไม่ถึงจะป้องกันอย่างไร เช่น จ.นครสวรรค์ หรือต่ำกว่านั้น ต้องหามาตรการป้องกัน แก้ไข ไม่ใช่ทำงานเชิงรับ" น.ส.นัทรียา กล่าว

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง