รีเซต

เอกชนขอรัฐยอมให้เปิดนั่งร้านถึง5ทุ่ม ชี้คนหาเช้ากินค่ำหืดจับไร้กระบอกเสียง

เอกชนขอรัฐยอมให้เปิดนั่งร้านถึง5ทุ่ม ชี้คนหาเช้ากินค่ำหืดจับไร้กระบอกเสียง
มติชน
26 มกราคม 2564 ( 09:28 )
58

วันที่ 26 มกราคม นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 ม.ค.กรณีสมาคมฯ ได้จัดทำหนังสือข้อเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาผ่อนปรนให้ร้านอาหารเปิดให้นั่งรับประทานได้ถึงเวลา 23.00 น.ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบชัดเจนจากรัฐบาล แต่จากการหารือกันเบื้องต้นร่วมกับนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่า สาธารณสุขอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมที่เวลา 22.00 น. จากที่ขอให้นั่งได้ถึง 23.00 น. สมาคมฯมองว่าหากร้านอาหารที่ยังไม่ได้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ถ้าสามารถเปิดได้ถึง 22.00 น. ก็ถือว่าเป็นเวลาที่ดีขึ้น เพราะร้านอาหารจะสามารถขายได้มากขึ้น แต่ความจริงแล้วมองว่า หากสามารถเปิดได้ถึง 23.00 น. ตามที่ยื่นเสนอไป จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารมากขึ้น โดนเฉพาะร้านอาหารขนาดเล็กมากๆ ตามท้องถนนต่างๆ (สตรีทฟู๊ด) เนื่องจากการให้นั่งรับประทานได้ถึงแค่ 21.00-22.00 น. บางร้านเปิดให้บริการในช่วงเวลา 17.00-18.00 น. ทำให้ขายได้เพียง 3-4 ชั่วโมงเท่านั้นก็ต้องปิดร้าน เพราะต้องยอมรับว่า ร้านอาหารจะมีข้อจำกัดในพื้นที่ขาย กลุ่มลูกค้า และช่วงเวลาเป็นหลัก

 

นางฐนิวรรณ กล่าวต่อว่า การอนุญาตให้นั่งกินในร้านได้แค่ 3 ทุ่ม ยังไม่ได้เอื้อให้กับกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ ที่ขายอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้มโต้รุ่งต่างๆ ความจริงแล้วมองว่า กลุ่มคนเหล่านี้ต้องได้รับความช่วยเหลือสูงมาก เพราะรายได้จะได้แบบวันต่อวัน ทางกรุงเทพมหาครจะต้องเอื้อให้คนกลุ่มนี้มากขึ้น เพราะขณะนี้เปิดขายได้เพียง 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น รายได้ตอนนี้น้อยจริงๆ รวมถึงยังพบปัญหาคือ ร้านอาหารแม้จะเปิดให้นั่งกินได้ถึง 3 ทุ่ม และยังเปิดขายได้ตามปกติ แต่ไม่ให้นั่งรับประทานที่ร้านเท่านั้น แต่เนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารที่ดี ทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าเปิดได้ถึง 3 ทุ่มแล้วจะปิดทันที จึงตัดปัญหาด้วยการไม่มาซื้อหรือมาใช้บริการไป หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป จะไม่มีการหมุนเวียนของเศรษฐกิจผ่านการบริโภคของประชาชนกับร้านอาหาร ส่งผลให้รายได้ของร้านอาหารลดลง ร้านอาหารก็จะไม่จ้างพนักงาน และไม่มีการสั่งซื้อวัตถุดิบทั้งอาหารสด ผักสดต่างๆ พ่อค้าแม่ค้าในตลาดก็จะได้รับผลกระทบ เชื่อมโยงไปยังเกษตรกร เพราะตอนนี้ความเดือดร้อนเกิดขึ้นกับทุกกลุ่มอาชีพจริงๆ แม้กระทั่งได้พูดคุยกับคนส่งน้ำแข็ง ก็บอกว่ายอดขายตกลง เพราะร้านอาหารแช่อาหารสดไว้จำหน่ายน้อยลง เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแบบเป็นห่วงโซ่

 

“ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยงในรูปแบบสตรีทฟู๊ด โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่มีจุดหมายในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร ทำให้เห็นร้านอาหารสตรีทฟู๊ดจำนวนมากในกรุงเทพฯ แต่เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 ขึ้น ร้านอาหารต้องลดช่วงเวลาในการเปิดให้บริการลง กลับยังไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลลงมาสู่กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้” นางฐนิวรรณ กล่าว

 

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า ความจริงแล้วไม่เห็นด้วยกับการชูให้กรุงเทพฯ เป็นใจกลางเมืองแห่งการทำงาน และไม่มีการกระจายความเจริญไปตามจังหวัดอื่นๆ เป็นภาพเดียวกันกับการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจำนวนมากๆ และมีบางจังหวัดที่เติบโตขึ้นเพื่อรองรับการเข้ามาของต่างชาติเป็นหลัก ทำให้พอไม่มีต่างชาติมาเที่ยว จังหวัดเหล่านี้ก็จะได้รับความเดือดร้อนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ แต่หากจะมาพูดกันตอนนี้ก็คงทำอะไรไม่ได้แล้ว ทำให้ต้องมาแก้ไขปัญหาและช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นก่อน โดยการค้าขายอาหารส่วนมากจะขายตามช่วงเวลา และตามกลุ่มลูกค้าที่มีเวลาในการใช้ชีวิตแตกต่างกัน อาทิ คนทำงานแบ่งเป็นช่วงเวลา เช้า บ่าย ดึก หากให้ร้านที่เคยเปิดขายตอนค่ำ อาทิ ข้าวต้มโต้รุ่ง มาขายตอนเย็นแทน แล้วกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเปลี่ยนมาทำงานตอนบ่าย เพื่อมาใช้บริการตอนเย็นตามได้ ก็เท่ากับเสียลูกค้าประจำไป จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาผ่อนปรนการนั่งรับประทานอาหารให้ถึงช่วงเวลาดังกล่าวด้วย