รีเซต

สธ.เผยแนวโน้มการระบาดโควิด-19 คงที่ คาดอีก 2 สัปดาห์จำนวนผู้ป่วยจะลดลง

สธ.เผยแนวโน้มการระบาดโควิด-19 คงที่ คาดอีก 2 สัปดาห์จำนวนผู้ป่วยจะลดลง
TNN ช่อง16
1 สิงหาคม 2565 ( 15:17 )
68
สธ.เผยแนวโน้มการระบาดโควิด-19 คงที่ คาดอีก 2 สัปดาห์จำนวนผู้ป่วยจะลดลง

อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยแนวโน้มการระบาด "โควิด-19" คงที่ คาดในอีก 2 สัปดาห์จำนวนผู้ป่วยจะลดลง ขณะเดียวกันย้ำการให้ยาต้านไวรัสรักษาโควิดผู้ป่วยทุกคนไม่มีความจำเป็นต้องกินยาต้านไวรัส ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาอาการและกลุ่มเสี่ยง รวมถึงหากกินยาต้านไวรัสไม่เหมาะสม มีความเสี่ยงเชื้อดื้อยาได้ในอนาคต

วันนี้ (1 ส.ค.65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 3-4 วัน ที่ผ่านมา แนวโน้มผู้เสียชีวิตลดลง แต่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรูปแบบผู้ป่วยนอกยังคงมากอยู่กว่า 200,000 ราย ในภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 การระบาดค่อนข้างคงที่ และมีแนวโน้มจะค่อยๆ ลดลง

ขณะที่ เชื้อโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ข้อมูลพบว่า ดื้อต่อวัคซีนโควิด การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตั้งแต่เข็ม 3 ต่อไปจะเรียกว่าเข็มกระตุ้น โดยขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

โดยขออย่าเป็นห่วงในเรื่องเตียงเต็มเนื่องจากอัตราการครองเตียงของผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาลยังถือว่าไม่มากนักรับมือได้ ซึ่งการระบาดโควิด-19 ขณะนี้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

ส่วนการให้ยาต้านไวรัสผู้ป่วยโควิดกลุ่มที่ไม่มีอาการ อาจจะไม่มีความจำเป็นในการกินยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโควิด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาอาการและกลุ่มเสี่ยง โดยยาต้านไวรัสเป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากกินยาไม่ถูก อาจจะเกิดผลข้างเคียงผลระยะยาวต่อร่างกายได้ ยาต้านไวรัสถือเป็นยาปฏิชีวนะรูปแบบหนึ่งขอให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลัก

ส่วนปรากฏการณ์ทางการแพทย์ที่เจอในตอนนี้ ในช่วงโควิด-19 ที่เรียกว่าการรีบาวน์ ในกรณี "โจ ไบเดน" ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับยาต้านไวรัส คือ ยาแพ็กซ์โลวิด และมีอาการดีขึ้นและหาย

แต่ก็กลับมามีอาการอีกและพบเชื้อโควิดซ้ำ สมมติฐานเบื้องต้นอาจจะเกิดมาจากการได้รับยาต้านไวรัสมากเกินไป ซึ่งบางคนร่างกา อาจจะไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ ซึ่งการให้ยาต้านไวรัสที่ไม่เหมาะสมไม่ถูกกับคนไม่ถูกวิธีก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยรายนั้นเกิดเชื้อดื้อยาได้ในอนาคต

ส่วนความคืบหน้ายาฉีดภูมิคุ้มกันสําเร็จรูป หรือ Long Acting Antibody (LAAB) เหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มเฉพาะ เป็นการป้องกันเชื้อโควิด-19 ล่วงหน้าก่อนที่จะติดเชื้อในกลุ่มผู้ป่วยภูมิคุ้มกันไม่ดี

เบื้องต้นใช้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ฟอกไตหน้าท้อง ฟอกเลือด ปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งถือเป็นกลุ่มหลัก และกลุ่มผู้ป่วยที่ปลูกถ่ายอวัยวะและต้องรับภูมิคุ้มกัน ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้คัดกรองรายชื่อผู้ป่วยที่จะเข้ารับยาฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ซึ่งได้มีการกระจายยาไปแล้วคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้ โดยจะพยายามกระจายยาไปทุกจังหวัด ซึ่งการให้ยาจะเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถที่จะสอบถามไปยังแพทย์ที่ดูแลได้.


ภาพจาก Reuter , TNN ONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง