รีเซต

พณ.ฉายเพิ่ม-ภาพส่งออกไทย เครื่องจักรหลักช่วยฟื้น ศก. พร้อมรับมือ‘เมกะเทรนด์’

พณ.ฉายเพิ่ม-ภาพส่งออกไทย เครื่องจักรหลักช่วยฟื้น ศก. พร้อมรับมือ‘เมกะเทรนด์’
มติชน
24 กันยายน 2564 ( 09:09 )
77

หมายเหตุสืบเนื่องจากการเสวนา “ปลุกพลังส่งออก พลิกเศรษฐกิจไทย” จัดโดยมติชน เมื่อวันที่22 ก.ย.ที่ผ่านมา นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ขยายภาพรวมพลังการส่งออกของไทย รวมถึงข้อแนะนำต่างๆ ในการปรับตัวรับแนวโน้มใหม่ของโลก หรือเมกะเทรนด์ เพิ่มเติมจากเนื้อหาในการเสวนาเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้นถึงแนวโน้มการส่งออกของประเทศไทย

 

 

การส่งออกของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวม 7 เดือนของปี 2564 มีมูลค่า 154,985.48 ล้านเหรียญสหรัฐ (4,726,197.35 ล้านบาท) ขยายตัว 16.20% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยจะขยายตัวสูงถึง 21.47% เป็นการขยายตัวทั้งสินค้าส่งออก และตลาดการส่งออกที่เติบโตแข็งแกร่ง แม้หลายประเทศเผชิญกับการระบาดของโควิดและใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวด

 

 

 

การส่งออกเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวจากวิกฤตโควิดนับตั้งแต่ปี 2563 แม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดในประเทศ 3-4 ระลอก ทำให้อุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนอ่อนแอลง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงโดยปี 2563 จีดีพีหดตัวถึง 6.1% แต่การส่งออกฟื้นตัวได้โดดเด่น กลับมาเป็นบวกตั้งแต่ปลายปี 2563 สร้างมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 24,222 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือน มีนาคม 2564 โดยขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 11 ปี ในเดือนมิถุนายน 2564 และขณะนี้ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

 

 

กล่าวได้ว่าภาคการส่งออกเป็นส่วนสำคัญช่วยขับเคลื่อนและพยุงเศรษฐกิจไทยท่ามกลางการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจอื่นๆ สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกปี 2563 ที่คิดเป็นสัดส่วน 45.8% ของจีดีพี เพิ่มมาอยู่ที่ 50.3% ช่วงครึ่งแรกปี 2564

 

 

ทำให้การส่งออกช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวสูงถึง 16.2% เกินเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ 4% หรือเกินกว่า 4 เท่า เหตุผลสำคัญ 2 ประการที่ทำให้ขยายตัวสูงกว่าเป้า ได้แก่ 1.การทำงานเชิงรุกและดำเนินตามแผนส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงสถานการณ์โควิดมีการปรับรูปแบบกิจกรรมส่งเสริมการค้าเป็นรูปแบบออนไลน์และไฮบริด เพื่อให้การดำเนินธุรกิจส่งออกของไทยยังสามารถดำเนินต่อไปได้ อีกทั้งเร่งแก้ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าให้ลุล่วง ผ่านกลไก กรอ.พาณิชย์

 

 

2.การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลกค่าเงินบาท และราคาน้ำมันดิบ เป็นปัจจัยสำคัญช่วยสนับสนุน อีกทั้งทุกประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงความคืบหน้าฉีดวัคซีน สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ตามปกติ ส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าสินค้ามากขึ้น

 

 

แนวโน้มการส่งออกในอีก 4 เดือนที่เหลือของปี 2564 ยังมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง แม้อาจจะขยายตัวชะลอลงจากปัจจัยฐานที่จะเริ่มปรับสูงขึ้นในช่วงปลายปีก่อน เนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศยังมีทิศทางฟื้นตัวดีตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ

 

 

ทั้งนี้ มองว่าการส่งออกทั้งปี 2564 จะขยายตัวได้ในระดับ 2 หลัก เกินกว่าเป้าหมายที่ 4% แน่นอน สอดคล้องกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ ประเมินไว้ อาทิ ธปท. คาดการณ์ขยายตัว 17.1% สศช. คาดว่าจะขยายตัว 16.3% สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ประเมินว่าจะขยายตัว 10-12%

 

 

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังคงเผชิญกับปัญหาและอุปสรรค 3 ประเด็น คือ

1.การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจขาดช่วง อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ ทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้า

 

 

ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดในโรงงานการผลิตในไทย ทำให้ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว อย่างไรก็ตาม โรงงานไทยมีมาตรการป้องกันเข้มงวด และเร่งรัดฉีดวัคซีนให้กลับมาเปิดโรงงานได้โดยเร็ว โดยมีมาตรการที่สำคัญ อาทิ มาตรการ Bubble and Seal และ Factory Isolation การปรับเกณฑ์ Good Factory Practice (GFP) และขอความร่วมมือโรงงานโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก เข้าประเมินตนเองออนไลน์ในแพลตฟอร์ม Thai Stop Covid (TSC) และการสุ่มตรวจประเมินโรงงาน

 

 

2.ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น จากเศรษฐกิจการค้าโลกฟื้นตัว ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าทั่วโลกมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการตู้คอนเทนเนอร์ และการจองพื้นที่ระวางบนเรือขนส่งสินค้าสูงขึ้นด้วย มีปัญหาความแออัดและการขนส่งสินค้าขึ้นบนเรือใหญ่ไม่เพียงพอ ค่าระวางเรือยังสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อใหม่ เนื่องจากค่าระวางเรือที่สูงขึ้นมีผลทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกต้องลดกำไรและแบกรับต้นทุนเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ อาหารแปรรูปและกระป๋อง สินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีอายุเป็นข้อจำกัด

 

 

3.ปัญหาขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ กระทบต่อการผลิต 6 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1) ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 2) คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง 3) เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน 4) เครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป 5) ยานยนต์ และ 6) จักรยานยนต์ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ใช้ชิปเป็นวัตถุดิบขั้นกลางที่สำคัญในการผลิต

ขณะที่ภาคการส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าที่มีชิปเป็นส่วนประกอบช่วงเวลาที่ผ่านมายังขยายตัวได้ดีอาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ +53.1% เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ +19.1% แผงวงจรไฟฟ้า +19.4% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ +26.7% เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ +20.7% แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า +11.4% ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ +28.3%

 

 

ส่วนทิศทางการส่งออกปี 2565 คาดว่ายังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก ตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัว 4.9% และองค์การการค้าโลก (WTO) คาดว่าปริมาณการค้าโลกจะเพิ่มขึ้น 4.0% ดังนั้นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายช่วยเตรียมความพร้อมแก่ภาคเอกชนให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อผลักดันเพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการส่งออกของไทย 4 เรื่อง ได้แก่

 

 

ประเด็นที่ 1 ยึดหลักการทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างเข้มแข็ง ยึดหลักรัฐหนุนเอกชนนำ ผ่านกลไก “กรอ.พาณิชย์” และผนึกการทำงานทีมเซลส์แมนจังหวัดกับทีมเซลส์แมนประเทศ โดยทีมเซลส์แมนประเทศ (ทูตพาณิชย์ ภาครัฐ+เอกชน ในต่างประเทศ) จับมือกับนักธุรกิจและผู้นำเข้าของต่างประเทศ และทีมเซลส์แมนจังหวัด (พาณิชย์จังหวัด ภาครัฐ+เอกชนในจังหวัด) ประสานกับผู้ประกอบการในพื้นที่ และเป็นตัวกลางประสานให้เอกชนทั้งสองฝ่ายเจรจาธุรกิจร่วมกัน

 

 

ทีมเซลส์แมนประเทศต้องร่วมผลักดัน Mini-FTA เจาะตลาดเชิงลึกรายเมือง/มณฑลให้แก่ภาคเอกชน ขณะนี้ลงนาม Mini-FTA กับมณฑลไห่หนาน ประเทศจีน และเมืองโคฟุ ประเทศญี่ปุ่นแล้ว เตรียมลงนามกับรัฐเตลังกานา ของอินเดีย เมืองคยองกีคยองกี ของเกาหลีใต้ ในระยะถัดไปจะผลักดันให้มีการลงนามกับมณฑลกานซู ประเทศจีน นอกจากนี้ มีแผนเจรจาการค้าเจาะตลาดตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดีอาระเบีย อิรัก (ฟื้นฟูตลาดข้าวไทย) ตลาดชิลี (สนใจนำเข้าผลไม้จากไทยมาก เช่น มังคุด ลองกอง)

 

 

ประเด็นที่ 2 ผลักดันให้ภาคเอกชนไทยเร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์โลก การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีที่จะเข้มข้นมากขึ้น ได้แก่ มาตรการสิ่งแวดล้อม สังคม แรงงาน สิทธิมนุษยชน รวมถึงความมั่นคงระหว่างประเทศมาผูกกับประเด็นทางการค้า อย่างสงครามการค้าสหรัฐ-จีน สำหรับการวางตัวของไทยในภูมิรัฐศาสตร์โลก ควรวางตัวเป็นกลาง และจับมือกับอาเซียนอีก 9 ประเทศ เพื่อให้มีอำนาจต่อรองทางการค้า

 

 

ประเด็นที่ 3 ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเร่งศึกษาหาประโยชน์จาก FTA ผลักดันให้ใช้ประโยชน์ทั้ง FTA ทวิภาคี และพหุภาคี โดยเฉพาะ RCEP ซึ่งไทยจะเร่งให้สัตยาบันให้ทันภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 จะได้มีผลบังคับใช้ต้นปี 2565

 

 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สามารถผลักดันให้มีกองทุน FTA ได้สำเร็จ เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ให้ปรับตัวและพัฒนาธุรกิจจนสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

 

 

ประเด็นที่ 4 ส่งเสริมภาคบริการ ได้แก่ บริการคอนเทนต์ บริการโลจิสติกส์ บริการท่องเที่ยว ซึ่งไทยมีศักยภาพสูง นอกจากนี้ ในยุคต่อไป ไทยต้องไม่เน้นการแข่งขันด้านราคาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า แต่ต้องเน้นการแข่งขันด้านคุณภาพ และเน้นใช้นวัตกรรมให้มากขึ้น

 

 

ส่วนนโยบายผลักดันการส่งออก ตามแนวทางของรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะขับเคลื่อนภายใต้ 14 แผนงานของกระทรวงพาณิชย์ โดยมี 10 แผนงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก คือ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก รวมถึงผลักดันอาหารไทยสู่การเป็นอาหารโลก มีแนวนโยบาย 3 เรื่อง คือ 1.การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี 2.เดินหน้าการตลาดเชิงรุก ด้วยการสร้างทีมเซลส์แมนจังหวัด และทีมเซลส์แมนประเทศ 3.พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และเร่งรัดการทำข้อตกลงทางการค้าทั้งพหุภาคี ทวิภาคี เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันมุ่งส่งเสริมอาหารฮาลาล/อาหารมังสวิรัติ และอาหารแนวใหม่ที่เป็นเทรนด์สำคัญของโลก หรืออาหารอนาคต (อาหารฟังก์ชั่น อาหารนวัตกรรมใหม่ novel food อาหารออร์แกนิค และอาหารทางการแพทย์)

 

 

อีกแผนคือ ให้ความสำคัญการค้าออนไลน์ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ SMEs รุ่นใหม่ ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกฐานรากในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจท้องถิ่น ในบริบทการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค New Normal

โครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการ Gen Z to be CEO ที่ต้องการปั้น Gen Z ให้เป็นแม่ทัพรุ่นใหม่ในการบุกตลาดโลก ทำรายได้เข้าประเทศในอนาคต โครงการ Young Exporter from Local to Global (YELG) เพื่อปั้นผู้ส่งออกรุ่นใหม่จากภูมิภาคให้ก้าวสู่ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โครงการสัมมนาหลักสูตร “เกษตรทันสมัย พาณิชย์ขายให้ออนไลน์ทั่วโลก” เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับการทำการตลาดด้วยช่องทางการค้าออนไลน์อย่างครบวงจร

 

 

การจัดงานยี่ปั๊วออนไลน์ คอนเนค ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยให้มีโอกาสในการก้าวสู่ตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศได้ เป็นเวทีให้กลุ่มยี่ปั๊วออนไลน์ รวมถึงแพลตฟอร์มในต่างประเทศ อาทิ จีน สหรัฐ อินเดีย ฮ่องกง อาร์เจนตินา สปป.ลาว ไนจีเรีย เลือกซื้อสินค้าจากผู้ผลิตไทยโดยตรง ผ่านการเจรจาการค้าออนไลน์ เพื่อนำไปขายบนแพลตฟอร์มชั้นนำต่างๆ ทั่วโลก นับเป็นงาน E-Commerce สำหรับยี่ปั๊วและแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับนานาชาติที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual E-Commerce Event)

 

 

ในแผนพัฒนาตลาดภาคบริการ มุ่งส่งเสริม 4 ภาคบริการ ได้แก่ บริการสุขภาพและการแพทย์ บริการคอนเทนต์ บริการสาขาวิชาชีพและสาขาสนับสนุนการค้า และบริการโลจิสติกส์ โดยบริการสุขภาพและการแพทย์ รวมถึงบริการคอนเทนต์ ส่งเสริมธุรกิจภาพยนตร์ แอนิเมชั่น คาแร็กเตอร์ ไทยถูกยกให้เป็นฮับด้านคอนเทนต์ กลุ่ม ซีรีส์วายได้รับความนิยมสูงมากในเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา และลาตินอเมริกา

 

 

ขณะที่ตลาดแอนิเมชั่นและคาแรคเตอร์ มีญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าสำคัญสำหรับธุรกิจแอนิเมชั่นไทย โดยว่าจ้างผลิตและร่วมลงทุน ส่วนธุรกิจคาแร็กเตอร์ มีจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ เป็นตลาดใหญ่ ในด้านการซื้อขายลิขสิทธิ์คาแร็กเตอร์

 

 

บริการสาขาวิชาชีพและบริการสนับสนุนการค้า ได้แก่ ธุรกิจการศึกษานานาชาติ ธุรกิจแฟรนไชส์ บริการสิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ ก่อสร้าง บริการวิชาชีพวิศวกรรม สถาปนิก เป็นต้น มีเป้าหมาย สร้างความเข้มแข็งและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ Trade Supporting Services ในภูมิภาคอาเซียน บริการโลจิสติกส์

 

 

รวมถึงการพัฒนาตลาดให้ SME/Micro SME จัดโครงการเพื่อยกระดับทักษะผู้ประกอบการในหลายโครงการ อาทิ โครงการต้นกล้า ทู โกล โครงการยกระดับผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจกระแสใหม่ Up Skill & Reskill กับหัวเว่ย กิจกรรมเจรจาการค้าออนไลน์กลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม

 

 

อีกแผนคือเร่งรัดการส่งออก New Normal โดยนำนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการตลาดมาใช้ ปรับรูปแบบส่งเสริมการค้าเป็นรูปแบบออนไลน์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด และส่งเสริมอีคอมเมิร์ซ เป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการการ SMEs เข้าถึงผู้บริโภคในต่างประเทศได้โดยตรง

 

 

ส่วนแผนงานการค้าชายแดน ไทยสามารถเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเปิดด่านชายแดน หลังจากที่ต้องปิดชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของโควิดได้แล้ว 45 ด่าน และจะเร่งเจรจาเปิดเพิ่มอีก 11 ด่าน

 

 

อีกแผนเร่งรัดเจรจา FTA 5 ฉบับ คือ ไทย-อียู, ไทย-สหราชอาณาจักร, ไทย-เอฟต้า (EFTA), ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย และอาเซียน-แคนาดา อัพเดต FTA ที่มีอยู่ในทันสมัยต่อ ได้แก่ อาเซียน-จีน, อาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลีใต้ เร่งให้สัตยาบัน RCEP ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564

 

 

นอกจากนี้ มีแผนเร่งจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ปัจจุบันไทยมีสินค้า GI รวม 141 รายการ ครบทุกจังหวัดแล้ว คาดว่าสิ้นปีนี้จะขึ้นทะเบียนได้รวม 150 รายการ จะสร้างมูลค่าการตลาดให้ไทยกว่า 36,000 ล้านบาท

 

 

ส่วนทิศทางการค้าหลังโควิดเรื่องเมะเทรนด์รูปแบบการค้าและความต้องการสินค้าเปลี่ยนแปลงไป นโยบายของผู้นำทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น ซึ่งล้วนเป็นคู่ค้าและตลาดส่งออกหลักของไทย ต่างเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มโลก ให้ความสำคัญกับการยกระดับภาคการผลิต เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

 

 

รูปแบบการค้าและความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในระยะยาวหลังยุคโควิด จะทำให้ความต้องการสินค้าเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นได้แก่ 1.กระแสการเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการใช้เทคโนโลยี จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT),Cloud Computing, AI/Machine Learning, Robotic, Blockchain อุปกรณ์/เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ หุ่นยนต์ ซอฟต์แวร์ ดิจิทัลคอนเทนต์

 

 

2.กระแสการขยายความเป็นเมือง เทคโนโลยีทำให้ทำงานระยะไกลได้ ผู้คนกังวลเรื่องโรคระบาด จึงลดการกระจุกตัวในเมืองใหญ่ หรือในพื้นที่แออัด และกระจายตัวไปอยู่ในเมืองรองต่างจังหวัด ลดความเสี่ยงการติดเชื้อและเข้าถึงระบบสาธารณสุข เพิ่มโอกาสให้สินค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง รถจักรยาน รถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพืชพันธุ์ไม้ การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อสนับสนุนเมืองอัจฉริยะ

 

 

3.กระแสการเข้าสู่สังคมสูงวัย ผู้สูงอายุต้องการสินค้าตอบโจทย์ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เช่น สินค้านวัตกรรมเพื่อสุขภาพ เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ที่ใช้ในบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์อาหารบำรุงและชะลอวัย เครื่องสำอางจากธรรมชาติ เทคโนโลยีดูแลสุขภาพ และแอพพลิเคชั่นดูแลสุขภาพทางไกล

 

 

4.กระแสการใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด กระตุ้นให้เกิดความต้องการในสินค้าตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน เครื่องเล่นเกม โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ ลำโพง อุปกรณ์กีฬาในร่ม

 

 

5.กระแสการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ต้องการในสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ ยานยนต์ไฟฟ้า (เซ็นเซอร์ เซมิคอนดักเตอร์ ระบบประจุไฟฟ้า แบตเตอรี่) สินค้าด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น สินค้าที่ช่วยผลิตพลังงานหมุนเวียน สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำเสียและบำบัดน้ำเสีย เครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจ ประเมิน วิเคราะห์สิ่งแวดล้อมทั้งในดิน น้ำ และอากาศ)

 

 

6.กระแสการใส่ใจสุขภาพ กระแสรักษาสุขภาพเกิดแนวโน้มการบริโภคอาหารที่ดี ทำให้ความต้องการอาหารออร์แกนิค อาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชั่น อาหารและโปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ สิ่งทอทางการแพทย์ เป็นที่ต้องการมากขึ้น

 

 

ในอนาคตยุค new normal ที่เราอยู่ร่วมกับโควิด อย่างเป็นปกติ ผู้ประกอบการส่งออกควรเตรียมพร้อม ดังนี้

1.ปรับเปลี่ยนและพัฒนาการผลิตและส่งออกสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นส่งออกสินค้าที่เติบโตตามเทรนด์ของโลก สินค้าที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้เป็นพื้นฐาน ตามการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งภาครัฐเองต้องสนับสนุนผู้ผลิตนวัตกรรมและ start-up ให้มากขึ้น

 

 

2.พัฒนาทักษะ Upskill & Reskill และแสวงหาโอกาสทางการค้าจากเทคโนโลยีดิจิทัล ทำการตลาดออนไลน์และการค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

 

 

3.โอกาสการค้าในอนาคตในภาคบริการสมัยใหม่ที่มูลค่าสูง ได้แก่ บริการสุขภาพ ดิจิทัลคอนเทนต์ (เช่น เกมส์ ซอฟต์แวร์ โซลูชั่น แอนิเมชั่น ภาพยนตร์) บริการด้านการศึกษานานาชาติ โลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งเป็นภาคบริการที่มีมูลค่าสูง นอกเหนือจากการท่องเที่ยวที่ไทยมีความโดดเด่นอยู่แล้ว

 

 

4.ศึกษากฎระเบียบการค้า ตลอดจนมาตรฐานสินค้าและบริการของแต่ละประเทศ อาทิ มาตรฐานความยั่งยืนของสินค้า มาตรฐานความปลอดภัยของสินค้า แสวงหาความร่วมมือและปรับเปลี่ยนแนวทางการผลิต หรือส่งออกสินค้าให้สอดคล้องกับข้อกำหนดและระเบียบปฏิบัติต่างๆ

 

 

5.แสวงหาความร่วมมือรูปแบบพันธมิตรการค้า เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานเดียวกันภายในภูมิภาค ซึ่งแต่ละประเทศจะผลิตตามที่ตนมีความสามารถในการแข่งขันภายในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน ร่วมมือเพื่อเติบโตร่วมกันอย่างแข็งแกร่งและประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค ตลอดจนทำให้ภูมิภาคนี้น่าทำการค้าและการลงทุนยิ่งขึ้นต่อไป

 

 

ส่วนข้อเสนอการพัฒนาด้านเศรษฐกิจการค้าของประเทศไทย ต้องเร่งพัฒนาภาคบริการให้ส่งออกบริการสมัยใหม่ (Modern Services) อาทิ บริการรักษาพยาบาลและส่งเสริมสุขภาพ โลจิสติกส์การค้า และดิจิทัล และเพิ่มมูลค่าในสาขาบริการศักยภาพที่ไทยมีพื้นฐานดี ได้แก่ ค้าส่งค้าปลีก

 

 

อีกเรื่องสร้างพลังและอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจจากการผนึกกำลังกับอาเซียน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญสอดคล้องกับทั้งยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (The Free and Open Indo-Pacific Strategy-FOIP) ของสหรัฐ และความริเริ่มแถบและทางของจีน (Belt and Road Initiative-BRI) ตลอดจนเร่งผลักดันการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน อาเซียนพลัส RCEP และระดับอนุภูมิภาค เช่น CLMVT และ GMS

 

 

การพัฒนาศักยภาพคนไทย และยกระดับทักษะแรงงาน ให้เคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูงกว่า และพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดรับกับภาคการผลิต/เศรษฐกิจยุคใหม่ เช่น ทักษะด้านดิจิทัล ภาษาต่างประเทศ ตลอดจนดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและแรงงานโดยเฉพาะแรงงานทักษะจากต่างชาติ เพื่อรับมือกับปัญหาขาดแคลนแรงงานและการเข้าสู่สังคมสูงวัย

 

 

การส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และระบบทรัพย์สินทางปัญญา ให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นของตนเอง ยกระดับประเทศให้พ้นจากการเป็นผู้รับจ้างผลิต และสามารถผลิตสินค้า หรือบริการใหม่ๆ ที่มีมูลค่าและแข่งขันได้ ตลอดจนเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากที่อาศัยแรงงาน เป็นการผลิตที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบอัตโนมัติมาใช้ เพื่อรับมือแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย

 

 

เรื่อง Digital Transformation นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกิจ ปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล 1.ด้านการผลิต มีการนำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 2.ด้านการบริการ อำนวยความสะดวกลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ จ่ายเงินออนไลน์ และให้บริการจัดส่งสินค้า 3.ด้านทรัพยากรบุคคล เช่น ใช้โซเชียลมีเดียรับสมัครงาน มีโปรแกรม KPI ประเมินคุณภาพการทำงาน ให้ความยืดหยุ่นการทำงานแบบ remote working เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง