รีเซต

กรมควบคุมโรคจับตาแอฟริกาใต้ติดโอมิครอนพุ่ง แต่ยอดตายลด ย้ำ! ไทยป้องกันตัวเอง

กรมควบคุมโรคจับตาแอฟริกาใต้ติดโอมิครอนพุ่ง แต่ยอดตายลด ย้ำ! ไทยป้องกันตัวเอง
มติชน
30 ธันวาคม 2564 ( 15:00 )
38
กรมควบคุมโรคจับตาแอฟริกาใต้ติดโอมิครอนพุ่ง แต่ยอดตายลด ย้ำ! ไทยป้องกันตัวเอง

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน แถลงมาตรการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่า ภาพรวมโควิด-19 ในระดับโลก พบติดเชื้อรายใหม่วันเดียวถึง 1.49 ล้านราย สะสม 284.7 ล้านราย ส่วนผู้เสียชีวิตรายใหม่ 6,362 ราย สะสม 5.4 ล้านราย โดยประเทศที่ติดเชื้อสูงสุด คือ สหรัฐอเมริกา พบติดเชื้อใหม่ 4.5 แสนราย สะสม 54 ล้านราย เสียชีวิตใหม่ 1,436 ราย สะสม 8.4 แสราย โดยประเทศฝรั่งเศส พบติดเชื้อใหม่สูงถึง 2 แสนราย สะสม 9.5 ล้านราย ขณะที่อังกฤษ ที่เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ติดเชื้อราย 9 หมื่นราย แต่วันนี้พบถึง 1.8 แสนราย สะสม 12.5 ล้านราย แต่ผู้เสียชีวิตเพียง 57 รายเท่านั้น

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ประเด็นความสนใจเกี่ยวกับเชื้อโอมิครอน ขอยกเส้นกราฟจากแอฟริกาใต้ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดตั้งแต่ปี 2563 ใน 3 ระลอก จะเห็นว่าในแต่ละระลอกคลื่นจะมีผู้เสียชีวิตขยับสูงขึ้นสอดคล้องกันกับตัวเลขติดเชื้อ แต่เมื่อมาถึงระลอกโอมิครอน ปรากฎว่าตัวเลขติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นระลอกสูงกว่าเดลต้า แต่ตัวเลขเสียชีวิตกลับไม่เพิ่มขึ้น

 

“ทั้งนี้ แอฟริกาใต้เจอเชื้อโอมิครอน กลางเดือนพฤศจิกายน 2564 จนถึงขณะนี้จะเห็นว่าการติดเชื้อพ้นจุดสูงสุดแล้ว เป็นการแพร่กระจายที่ไว และมีโอกาสเป็นไปได้ที่ถึงจุดสูงสุดเร็วและเป็นไปได้ว่า จะผ่านพ้นไปได้เร็ว ขณะเดียวกัน อังกฤษ ก็ติดเชื้อสูงแต่ผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้สูงขึ้นตาม จากข้อมูลแอฟริกาใต้ค่อนข้างมั่นใจว่าโอมิครอนไม่ทำให้อาการหนักหรือเสียชีวิตในเปอร์เซ็นต์ที่สูง แต่ต้องติดตามต่อไป ยังไม่ด่วนสรุป” นพ.เฉวตสรร กล่าว

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 และผู้เสียชีวิตในประเทศไทย ว่า เมื่อนำกราฟ 2 ปีที่ผ่านมาเทียบกัน พบว่าปีที่แล้วตัวเลขติดเชื้อกับผู้เสียชีวิตน้อยมาก แต่เมื่อปลายปี 2563 มีคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้ง ต่อเนื่องมาถึงปี 2564 จะเห็นว่ามีระลอกคลื่นแอลฟาเล็กๆ ขึ้นมา แต่เมื่อมาเจอระลอกคลื่นเดลต้า ก็ทำให้ตัวเลขติดเชื้อ และเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น และช่วงนี้ไทยพบโอมิครอน ที่ล่าสุดวันนี้สะสม 934 ราย

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1-29 ธันวาคม 2564 เข้ามาใน 3 ระบบ คือ ระบบไม่กักตัว (Test and go) ระบบแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) และระบบกักตัว (Quarantine) รวม 270,851 คน พบการติดเชื้อโควิด-19 ในระบบ T&G 730 คน คิดเป็นร้อยละ 0.32 ระบบแซนด์บ็อกซ์ 121 คน คิดเป็น ร้อยละ 0.32 และ ระบบกักตัว 205 ราย คิดเป็น ร้อยละ 3.47

 

ด้าน นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เราก็มีประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้วว่า หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันเราจะสามารถผ่านไปได้อย่างปลอดภัย ดังนั้น ช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ สิ่งที่อยากเน้นย้ำด้วยมาตรการสำคัญ ประกอบ V – Vaccine วัคซีนโควิด-19 ที่หากฉีดครบก็จะลดการป่วยหนักได้ แต่หากฉีดไปนานแล้วภูมิต้านทานอาจไม่เพียงพอต่อโอมิครอน ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น U – Universal Prevention ป้องกันตัวเองตลอดเวลา C- COVID Free Setting สถานที่บริการพร้อม ผู้ให้บริการได้รับวัคซีนครบ A – ATK ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ เมื่อสงสัยหรือมีอาการและก่อนหรือหลังการร่วมกิจกรรมที่มีโอกาสเสี่ยง ทั้งนี้ สธ.ยังร่วมกับกระทรวงคมนาคม ได้จัดบริการตรวจโควิดด้วย ATK ได้ที่สถานีหมอชิต และสถานีหัวลำโพง ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 3 มกราคม 2564

ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงปีใหม่ประชาชนพบปะสังสรรค์มากขึ้น การตรวจ ATK ทุก 3 วัน จะถี่เกินไปหรือไม่ หรือมีโอกาสเจอผลบวกลวงหรือไม่ นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า การตรวจ ATK จะเป็นกรณีถ้าสงสัยว่ารับเชื้อหรือไม่ ก็ตรวจได้ด้วยตัวเอง ซึ่งทั่วไป หลังรับเชื้อจะพบในช่วง 3 วัน ซึ่งก็สามารถตรวจได้ แต่มาตรการการตรวจคัดกรอง ก็ยังไม่ใช่ป้องกัน 100% เพราะแม้ตรวจแล้วไม่เป็น แต่ก็ยังต้องมีมาตรการปฏิบัติตัวเช่นเดิม ทั้งสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ซึ่งคำแนะนำ สธ. คือ ต้องป้องกันตัวเองตลอดเวลา และใช้ ATK เป็นมาตรการเสริม ส่วนผลบวกลวงเกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถตรวจซ้ำเพื่อยืนยัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง