รีเซต

"บราเดอร์" กับอีกปีที่ท้าทาย บนความวุ่นวาย(ของโลก)ตั้งแต่ต้นปี

"บราเดอร์" กับอีกปีที่ท้าทาย บนความวุ่นวาย(ของโลก)ตั้งแต่ต้นปี
มติชน
5 มีนาคม 2563 ( 16:57 )
54

ได้เวลาใกล้หมดไตรมาสสุดท้ายแล้ว สำหรับบริษัทจากญี่ปุ่น อย่าง “บราเดอร์” ที่ปีงบประมาณจะจบที่ปลายเดือนมีนาคมนี้ จึงได้มีการจัดการแถลงผลประกอบการของบราเดอร์ ประเทศไทย ที่พบว่ามีการเติบโตกว่า 5 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า เริ่มต้นปีที่ผ่านมา สถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลกดูจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ไหนจะเรื่องค่าเงินบาท สงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน จนมาถึงตอนนี้ เรื่องของการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 จึงทำให้ต้องมีการปรับตัวเลขการเติบโต ของบราเดอร์ ประเทศไทย เป็น 5 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว จะอยู่ที่ 6-7 เปอร์เซ็นต์

สำหรับในปี 2020 นี้ ก็คาดว่าจะมียอดขายเติบโตจากปี 2019 อีก 5 เปอร์เซ็นต์ โดยนายธีรวุธกล่าวว่า ปี 2020 ถือเป็นปีที่ท้าทายอย่างมาก สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ยังเป็นดาวเด่นของบราเดอร์ ก็แน่นอนว่าต้องเป็นกลุ่มพรินเตอร์นั่นเอง ซึ่งถือว่าในปีที่ผ่านมา มีการเติบโตที่ดี แม้ว่าตลาดโดยรวมจะนิ่งก็ตาม

กลุ่มแรกคือ โมโน เลเซอร์ มัลติฟังก์ชั่นพรินเตอร์ ที่บราเดอร์ยังคงครองอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น จากปี 2018 อยู่ทมี่ 48 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นเป็น 66 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2019 ส่วนเลเซอร์สี มัลติฟังก์ชั่นพรินเตอร์ ก็เช่นกัน บราเดอร์ยังครองอันดับ 1 ในตลาด จากปี 2018 ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ปี 2019 เพิ่มส่วนแบ่งตลาดขึ้นมาเป็น 33 เปอร์เซ็นต์

ส่วนของ โมโน เลเซอร์ พรินเตอร์นั้น จากปี 2018 ที่อยู่อันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 29 เปอร์เซ็นต์ มาในปี 2019 สามารถขึ้นเป็นอันดับ 1 ในตลาด ด้วยส่วนแบ่ง 38 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ เลเซอร์สี พรินเตอร์ จากส่วนแบ่งอันดับ 3 ที่ 18 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2018 ก็ขยับขึ้นเป็นอันดับ 2 ของตลาด ด้วยส่วนแบ่ง 18 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิม

และสุดท้าย อิงค์เจ็ท แท้. บราเดอร์ ยังคงมีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 3 ของตลาด เหมือนเมื่อปี 2018 แต่สัดส่วนในตลาดลดลงจาก 20 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 17 เปอร์เซ็นต์

ในส่วนของกลยุทธ์นั้น นายธีรวุธกล่าวว่า ยังคงเป็นไปตามกลยุทธ์เดิมที่วางไว้ในช่วง 3 ปี คือ กลยุทธ์ “3C” คือ Customer-ลูกค้า Channel Partner-ช่องทางการจัดจำหน่าย และ Company-ตัวองค์กร

ซึ่งในส่วนของลูกค้านั้น นายธีรวุธกล่าวว่า จะต้องทำให้ลูกค้าอยู่กับบราเดอร์ให้นานที่สุด จะมีการออกแพคเกจเสริมต่างๆ ให้แก่ลูกค้า โดยอาจจะต้องเพิ่มเงินเพื่อซื้อบริการเสริม หรือจะเป็นการนำเสนอให้ลูกค้าเช่าเครื่อง โดยไม่ต้องซื้อ รวมไปถึงการสร้างคุณค่าให้แก่สินค้า สร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ให้ลูกค้ารู้สึกชื่นชอบ บราเดอร์

สำหรับเรื่องของช่องทางการจัดจำหน่ายนั้น ก็จะมีการทำงานกับคู่ค้าให้มากขึ้น โดยในปีนี้จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ด้วยการสร้างการทำงานภายใต้คอนเซปต์ Brother : the Power of TEAM ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างทีมที่ปรึกษาให้แก่กลุ่มตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ สร้างโอกาสในการขายใหม่ๆ ด้วยการส่งทีมผลิตภัณฑ์ ทีมงาย ทีมสื่อสารการตลาด ทีมเทคนิค และทีมบริการ เพื่อสร้างความมั่นใจในแบรนด์บราเดอร์

และสุดท้าย ตัวองค์กร ที่บราเดอร์จะนำระบบ “Agile” มาใช้ในการทำงานในแต่ละโครงการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน เกิดความยืดหยุ่นและเกิดความรวดเร็วในการสร้างผลงาน โดยจะมีการคัดเลือกบุคลากรในแต่ละแผนกเข้ามาระดมความคิด เพื่อกำหนดแนวทางในการเพิ่มศักยภาพ ความคล่องตัว และบริหารการใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งระบบดังกล่าวจะใช้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

นอกเหนือจากประเทศไทยแล้ว บราเดอร์ ประเทศไทย ยังดูแลตลาดในประเทศลาวด้วย ซึ่งนายธีรวุธกล่าวว่า ตลาดลาวปีที่ผ่านมามีการเติบโตขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และบราเดอร์เองก็รุกตลาดในลาวหนักมากในช่วงปีที่ผ่านมา รวมไปถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างคอนเสิร์ต เป็นต้น

และปีนี้ ก็จะมุ่งไปทำตลาดในลาวให้มากขึ้น แต่ยังไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่มาก โดยตลาดที่จะรุกเข้าไป ก็มีทั้งส่วนของราชการ และเอกชน ซึ่งตอนนี้ บราเดอร์เองก็ถือเป็นอันดับต้นๆ ของพรินเตอร์ในลาว ตอนนี้ก็มีศูนย์บริการอยุ่ในกรุงเวียงจันทน์แล้ว 5 แห่ง และปีนี้คาดว่าจะเปิดเพิ่มที่เมืองสะหวันนะเขต และหลวงพระบาง ที่ละแห่ง

สุดท้ายแล้ว ในปีนี้แม้เริ่มต้นปีจะดูมีอุปสรรคมากมายระดับโลก หากแต่นายธีรวุธกลับมองว่า เป็นความท้าทายในการทำงาน โดยเฉพาะตอนนี้ เรื่องของไวรัสที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ แม้ว่าตลาดหน้าร้านจะขายไม่ค่อยได้ แต่ได้มองเห็นว่าผู้คนก็หันมาซื้อของผ่านออนไลน์กันมากขึ้น

“สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เราต้องปรับตัวตลอดเวลา ผมชอบนะ ผมมองว่าเป็นความท้าทายมากกว่า” นายธีรวุธกล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง