จากคำกล่าวสุนทรพจน์ ในงานจบการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ของสตีฟ จ๊อบส์ ผู้บริหารของ Apple Computer และ Pixar Animation Studios ตอนหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องการที่เขามีโอกาสได้ลงเรียนวิชาประดิษฐ์อักษร ในช่วงเวลาที่เขาพักการเรียนวิชาหลัก โดยที่เขาไม่แม้แต่จะหวังว่าประกอบวิชาชีพใด ๆ จากวิชานี้ แต่เมื่อสิบปีให้หลัง ความรู้เรื่องนี้กลับมาเป็นประโยชน์แก่เขาในการนำมาใช้ในเครื่อง Mac เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่มีการจัดวางตัวอักษรได้สวยงาม ทำให้ฉันหวนนึกถึงวิชา วิชาหนึ่งในสมัยเรียนชั้นประถมที่ฉันเคยตื่นเต้นกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะไว้ใช้ประกอบการเรียนวิชาสปีดบอล ไม่ว่าจะเป็น ปากกาคอแร้ง น้ำหมึก ปากกาหัวตัดสปีดบอล และใบแบบฟอร์มตัวอักษรสปีดบอล A-Z แต่เมื่อได้มาเรียนจริงกลับกลายเป็นวิชาที่น่าเบื่อสำหรับฉันไปในสมัยนั้น เนื่องจากว่าเป็นวิชาที่ต้องนั่งคัดลายมือตัวสปีดบอล แต่ละตัวอักษรเหมือนเรานั่งเขียนคัดไทยในสมัยอนุบาลยังไงยังงั้นตัวอักษรสปีดบอล จะเป็นระเบียบ ตัวตรงแข็งทื่อไม่อ่อนช้อยเท่าแบบ Calligraphyภาพประกอบจาก Henryk Niestrój จาก Pixabay">Pixabay โดย Arcaionเวลาผ่านไปปีแล้วปีเล่า จนฉันลืมเรื่องราวของเจ้าวิชาสปีดบอลนี้ไปตามกาลเวลา แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อฉันได้กลับมาพบกับการเขียนแบบอักษรวิจิตร บนหน้า Feed IG อีกครั้ง ฉันได้แต่อุทานเบา ๆ กับตัวเองว่า นี่มันตัวอักษรสปีดบอลนี่นา แต่กลับพบว่ามันไม่ได้ถูกเรียกว่า สปีดบอล ตามที่ฉันเข้าใจ แต่กลายเป็นเจ้า Calligraphy หรือ ตัวอักษรวิจิตร แทนCalligraphy อักษรวิจิตร ตัวหนังสืออ่อนช้อยเหมือนดั่งภาพวาดภาพประกอบจาก Ian Wilson จาก Pixabay">Pixabay โดย 6277974ความเป็นจริงแล้วหากใครที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปคงคุ้นชินกับคำว่า "สปีดบอล" กันอย่างแน่นอน เพราะโรงเรียนในยุคนั้นได้บรรจุการคัดลายมือภาษาอังกฤษไว้ในแบบเรียน ให้เด็ก ๆ ได้ฝึกการเขียนด้วยปากกาหัวตัด โดยต้องจุ่มหมึกแล้วเขียน และเพื่อความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น บริษัทเก่าแก่ของอเมริกาที่ผลิตอุปกรณ์ศิลปะจำหน่าย ได้คิดค้นปากกาที่สามารถจุ่มหมึกเพียงครั้งเดียว แต่เขียนได้นานขึ้น โดยมีตัวหัวกลมนูน ๆ ยื่นออกมาเพื่อใช้เป็นตัวกักเก็บน้ำหมึกให้ได้มากขึ้น และบริษัทนี้มีชื่อว่า Speedball ทำให้คนในยุคนั้นเรียกการเขียนตัวอักษรวิจิตรแบบนี้ตามชื่อบริษัทผู้ผลิตปากกาที่เอาไว้ใช้เขียนว่า การคัดลายมือสปีดบอล ไปเสียเลย และคุณเชื่อไหมว่าฉันพึ่งมารู้ความจริงเรื่องนี้ในครานี้เองปากกาแบบจุ่มหมึก หัวมีหลายแบบ หลายขนาดภาพประกอบจาก AnnaER จาก Pixabay">Pixabay โดย AnnaERการเขียนตัวอักษรวิจิตร Calligraphy นี้ ทำให้ฉันตื่นตาตื่นใจมากกับลายเส้นที่อ่อนช้อย อ่อนไหว เหมือนดั่งภาพวาดในรูปแบบตัวอักษร และที่น่าประหลาดใจสำหรับฉันมาก เมื่อฉันรู้สึกว่าฉันสามารถเขียนตัวอักษร Calligraphy นี้ได้อย่างไม่ยากเย็นเลย ทักษะการฝึกคัดลายมือตัวสปีดบอลในสมัยเด็กนั้นมันยังคงอยู่ในตัวฉัน การวางน้ำหนักมือลงบนปากกา ขึ้นเบา ลงหนัก คือคำที่ฉันท่องจำได้ขึ้นใจเวลาคัดเจ้าตัวอักษรสปีดบอล และวิธีการเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ร่างกายของฉันคุ้นชินโดยอัตโนมัติ ทักษะนี้มันไม่เคยไปไหน มันแค่พักอยู่ในตัวฉัน แต่เมื่อถึงคราวที่ฉันเรียกมันขึ้นมา มันก็พร้อมทุกเมื่อ ความเป็นจริงแล้ว หลักการสำคัญของการเขียนอักษรวิจิตรนี้ คือ การฝึกฝนซ้ำไปซ้ำมาจนเชี่ยวชาญชำนาญ เหมือนดั่งที่นักกีฬาที่เก่ง ๆ ล้วนแต่ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนักมาทั้งนั้น ความน่าเบื่อในสมัยเด็กของฉันมันกลับมามีประโยชน์ให้ฉันในเวลานี้ เหมือนดั่งคำสุนทรพจน์ของสตีฟจ๊อบ ที่ว่าทุกการเรียนรู้ของเราบนโลกใบนี้ไม่มีคำว่าเสียเปล่า เพียงแต่รอเวลาที่จะใช้มันเท่านั้นเองภาพประกอบโดย Buakhow(ผู้เขียน)Calligraphy เป็นศาสตร์ที่มีมานานหลายพันปีแล้ว เริ่มจากการเขียนจดหมายถึงกันในสมัยที่คนยังคงสื่อสารด้วยการเขียนด้วยมือ เพียงแต่เพิ่มความวิจิตรงดงามของอักษรเข้าไปให้ดูน่าอ่าน สวยงาม แต่ในปัจจุบันมันเป็นมากกว่าแค่การเขียนจดหมาย มันเหมือนกับเป็นการวาดรูปด้วยตัวอักษรเสียมากกว่า มีการจัดวางองค์ประกอบ ตัวอักษรเล็กใหญ่ สีสันที่ใช้ลงรายละเอียดต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เหมือนการวาดรูปภาพรูปหนึ่งเลยทีเดียว ดังนั้นใครที่คิดว่าลายมือตัวเองไม่สวยคงไม่เหมาะกับศาสตร์นี้แล้วละก็ ขอบอกว่าคิดผิดถนัด หากคุณมีไอเดียบวกกับการฝึกฝนแล้วละก็คุณก็สามารถวาดรูปจากตัวหนังสือได้เช่นกัน