รีเซต

คนเลี้ยงโวย กุ้งราคาตกแรง หลังบอร์ดกุ้งอนุมัตินำเข้า โอดต้นทุนเพิ่ม 30%

คนเลี้ยงโวย กุ้งราคาตกแรง หลังบอร์ดกุ้งอนุมัตินำเข้า โอดต้นทุนเพิ่ม 30%
มติชน
22 ตุลาคม 2565 ( 12:00 )
36
คนเลี้ยงโวย กุ้งราคาตกแรง หลังบอร์ดกุ้งอนุมัตินำเข้า โอดต้นทุนเพิ่ม 30%

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) หรือ บอร์ดกุ้ง มีมติให้นำเข้ากุ้งจากอินเดีย และเอกวาดอร์ มาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ล่าสุดนั้นพบว่าได้ส่งผลกระทบต่อราคากุ้งในประเทศอย่างชัดเจนมากขึ้น

 

โดยนายปรีชา สุขเกษม ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ในอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ในรอบนี้ตนเองเลี้ยงกุ้งมาเป็นเวลา กว่า 60 วัน หรือ 2 เดือน เพิ่งทำการจับกุ้งขาย ที่ขนาด 44 – 48 ตัวต่อกิโลกรัม ได้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 170-171 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่ปรับลดลงมาจากที่ควรจะเป็น ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการนำเข้ากุ้งนั้น ราคาไซส์ขนาดนี้จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 200 บาท และเคยสูงถึงกิโลกรัมละ 230 บาท นอกจากนั้น กุ้งขนาด 50-70 ตัวต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่บอร์ดกุ้งอ้างว่าขาดแคลนและให้นำเข้ากุ้งขนาดนี้เข้ามานั้น ขณะนี้ ห้องเย็นก็อ้างว่าไม่สามารถรับซื้อได้ เพราะไม่มีห้องเย็นเก็บรักษา เป็นเพราะมีการใช้ห้องเย็นในการเก็บกุ้งที่นำเข้ามาแทน ซึ่งถือเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรอย่างมาก และเมื่อเกษตรกรได้รับผลกระทบเช่นนี้ บอร์ดกุ้งจะรับผิดชอบหรือช่วยเหลืออย่างไร

 

นายปรีชากล่าวอีกว่า การที่บอร์ดกุ้งอ้างว่า หากราคาตกต่ำลงก็จะมีการประกันราคาให้เกษตรกร แต่ราคาที่จะประกันนั้นเป็นราคาที่อยู่ระดับเดียวกับภาระต้นทุน นั่นหมายถึงว่า เกษตรกรเลี้ยงกุ้งมา 2-3 เดือน จะไม่มีกำไรเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะคิดใหม่ และหากจะมีการนำเข้ากุ้งมาอีก บอร์ดกุ้ง ควรจะมีการสอบถามความเห็นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่เสียก่อน ไม่ใช่ถามกับคนไม่มีกี่คน และมีกุ้งที่เลี้ยงอยู่หรือไม่

 

“ในปัจจุบันนี้การเลี้ยงกุ้งนั้นมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารกุ้ง ค่าไฟฟ้า และค่าอื่นๆ นอกจากนั้นยังต้องแก้ปัญหาเรื่องของโรคระบาดกันเอง แทนที่บอร์ดกุ้งจะมาช่วยส่งเสริมให้การเลี้ยงให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงให้ได้ผลผลิตที่ดีมากขึ้น แก้ปัญหาโรคระบาด แต่กลับแก้ปัญหาด้วยการนำเข้ากุ้ง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาราคากุ้งในประเทศตกต่ำแทน” นายปรีชากล่าวและว่า บอร์ดกุ้งจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในกรณีที่ราคาตกต่ำนี้อย่างไรบ้าง กรณีการประกันราคาควรจะพิจารณาจากภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย เกษตรกรควรจะมีกำไรจากการเลี้ยง 2-3 เดือน ไม่ใช่ได้ราคาเท่ากับราคาต้นทุนเช่นที่เกิดขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง