เราอาจได้เห็นข่าวเจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อที่ตามเก็บเงินจากลูกหนี้ด้วยวิธีรุนแรงบนสื่ออยู่บ่อยครั้ง ส่วนตัวก็เป็นหนึ่งในคนที่รู้สึกสงสัยว่าทำไมเจ้าหนี้ถึงได้โหดกับลูกหนี้จังนะ ทั้งเก็บดอกเบี้ยแพงเกินเหตุ ตามทำร้ายกันจนถึงบ้าน จนกระทั่งได้กลายมาเป็นเจ้าหนี้เองทั้ง ๆ ที่ไม่เคยคิดจะปล่อยกู้มาก่อน ด้วยความที่เคยรู้จักกันมานานก็เลยยอมปล่อยเงินก้อนหนึ่งไปจากตอนแรกคิดว่าเป็นเงินไม่มากแต่พอนานวันเข้ากลายเป็นว่าลูกหนี้เจ้านี้กลับมายืมเพิ่มเรื่อย ๆ จนยอดหนี้เริ่มสูง ปัจจุบันอย่าว่าแต่ดอกเบี้ย ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะได้เงินก้อนนั้นคืนไหม จนเริ่มเข้าใจธรรมชาติของเจ้าหนี้ว่าทำไมต้องดูโหดและน่ากลัวขนาดนั้น (ส่วนตัวยังหวังว่าจะได้คืนอยู่แต่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงครับ) และสรุปออกมาได้เป็น 5 เหตุผล ส่วนจะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย! 1.เจ้าหนี้ดี ๆ ไม่ได้ (อยาก) ออกสื่อหรือเป็นข่าวสื่อในยุคปัจจุบันคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมมักเป็นข่าวสะเทือนใจ และเล่นกับอารมณ์ของผู้คนอยู่เสมอ พาดหัวจำพวก “เจ้าหนี้โหดยกพวกทวงเงินลูกหนี้” ก็เป็นอย่างนึงที่เราได้ยินข่าวเป็นประจำ และมีคนให้ความสนใจเยอะ ดังนั้นเหตุผลข้อแรกที่ทำให้เจ้าหนี้มีภาพลักษณ์เป็นลบก็มาจากสื่อส่วนนึงนั่นเองหากลองมีข่าวแบบ ”เจ้าหนี้คุณธรรมปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยถูกเหลือเชื่อ” คงมีอีกบรรทัดต่อท้าย “ปัจจุบันคนโทรไปขอกู้จนสายไหม้” ตามมาด้วย “สรรพากรเร่งตรวจสอบที่มาของเงิน”วุ่นวายกันเป็นแน่เลยทีเดียวเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่ขาโหดจึงมักไม่อยากมีปัญหากับลูกหนี้และไม่ปล่อยกู้จนเกินตัวตั้งแต่แรกครับ การไม่ปล่อยให้ใครยืมเงินจำนวนมากก็แน่นอนว่าทำให้ผลกระทบน้อยลง และโอกาสเป็นข่าวก็น้อยลงด้วยนั่นเอง ภาพลักษณ์ของเจ้าหนี้เงินนอกระบบที่เห็นตามสื่ออยู่บ่อย ๆ จึงกลายเป็นภาพแนวแก๊งมาเฟียข่มเหงลูกหนี้ไป แต่โดยทั่วไปเจ้าหนี้ก็คนธรรมดานี่แหละครับ2.การทำตัวเป็นเจ้าหนี้ที่ดีล้วนแต่จะเสียเปรียบเจ้าหนี้คนอื่นกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ไปกู้เงินจากเจ้าหนี้ 2 เจ้าขึ้นไป ยกตัวอย่างภาพนาย A และนาย B ปล่อยกู้ให้นาย C ด้วยอัตราดอกเบี้ย 2.5% และ 5% ตามลำดับ เมื่อนาย C นำเงินไปลงทุนได้เงินมาแต่พอใช้หนี้ได้แค่คนเดียว นาย C ก็จะต้องจ่ายเงินคืนให้กับนาย B ที่มีดอกเบี้ยแพงกว่าก่อนนาย A อย่างไม่ต้องสงสัย เพื่องวดต่อไปจะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง นาย A เห็นแบบนี้จะคิดดอกเบี้ยถูกทำไมก็คิดแพงบ้างดีกว่าจะได้คืนไว ๆ จนดอกเบี้ยที่เราเห็นในข่าวถึงได้สูงโอเวอร์ 20 - 30% ไปนั่นเองบางคนอาจแย้งว่า "แต่นาย A ก็สามารถเก็บดอกเบี้ยระยะยาวได้ไม่สบายกว่าเหรอ" ซึ่งก็ไม่ผิด แต่จนถึงป่านนั้นนาย B ก็สามารถนำเงินจำนวนนั้นไปปล่อยกู้ให้ลูกหนี้คนอื่นอีกหลายเจ้าแล้วแถมได้ดอกเบี้ยเยอะกว่าเท่าตัวอีกต่างหาก จึงไม่แปลกที่เจ้าหนี้จะขึ้นดอกเบี้ยแข่งกันในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคืองและการกู้เงินในระบบทำได้ยากครับอีกอย่างการคาดหวังว่านาย C จะหาดอกเบี้ยมาป้อนให้เจ้าหนี้ได้ตลอดก็ต้องอาศัยความเชื่อใจอย่างมาก ยิ่งไม่มีสินทรัพย์อะไรมาประกันไว้ ความเสี่ยงที่หนี้เหล่านั้นจะสูญไปก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เจ้าหนี้จึงมักต้องเรียกเก็บดอกเบี้ยจำนวนมากมาไว้กับตัว เพื่อนำทุนมาคืนให้ได้เร็วที่สุด แต่หากลูกหนี้จ่ายได้ตรงเวลาก็เป็นไปได้ครับว่าเจ้าหนี้จะยอมลดดอกเบี้ยด้วยความเชื่อใจ และเราเรียกความเชื่อใจนี้ว่าเครดิตนั่นเอง3.การผิดนัดชำระหนี้หลายครั้ง ก่อรอยร้าวที่ยากจะแก้ไข ปัญหายอดนิยมที่เราพบเจอในละครหรือซีรีส์บ่อย ๆ มองในมุมลูกหนี้ก็อาจจะคิดว่าก็มันหามาไม่ได้จะให้เอามาจากไหนขอเลื่อนไปอีกหน่อยสิ ยังไงก็ไม่หนีหรอก คืนแน่นอนอยู่แล้วแต่เมื่อมองจากมุมของเจ้าหนี้มันคือการผิดสัญญา และเครดิตของผู้ยืมก็เสียไปอย่างมาก ความสงสัยนี้จะก่อตัวขึ้น ยิ่งผิดนัดบ่อยเข้าต่อให้เป็นเพื่อนสนิทมาแต่ชาติปางไหนก็มีเคลือบแคลงสงสัย แม้จะเป็นพ่อพระยังไงก็มีโอกาสโกรธเป็นฟืนเป็นไฟจนน่ากลัวมาถึงจุดนี้ลูกหนี้อาจเกิดความรู้สึกหวาดกลัวทำให้พยายามเลื่อนนัดใหม่ โดยไม่ทราบชะตากรรมว่าจะหาเงินจากไหนกลายเป็นว่ายิ่งเติมน้ำมันเข้ากองเพลิงหากวันนัดชำระไม่สามารถจ่ายได้ หรือต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากคนอื่นมาคืนจนต้องอยู่ในวังวนของหนี้สินไม่รู้จบทางแก้ของลูกหนี้จึงควรตั้งสติ พยายามเจรจากับเจ้าหนี้ด้วยวิธีการชำระหนี้ที่เหมาะสมกับรายรับของตัวเอง ไม่สัญญาลอย ๆ เพราะในระยะยาวจะทำให้ความน่าเชื่อถือของลูกหนี้หมดลง และทำให้เจ้าหนี้เลือดขึ้นหน้าเอาได้ 4.เจ้าหนี้บางคนทำอาชีพปล่อยกู้โดยเฉพาะ ต้องหมุนเงินตลอดเวลาในช่วงแรกผู้ปล่อยกู้อาจปล่อยเงินให้ด้วยความเห็นใจ หรือสงสาร แต่พอนานวันเข้าก็เห็นช่องทางนี้เป็นช่องทางทำเงิน ตัดสินใจทำเป็นอาชีพหลัก แต่การจะทำให้รอดก็จำเป็นต้องใช้เงินสดจำนวนมากมาเป็นทุนแต่วันนึงถ้าหากเจอหนี้สูญไปสักเจ้าไม่ว่าจะด้วยลูกหนี้หนีหายไปหรือเสียชีวิต ก็ถือเป็นการขาดทุนครั้งใหญ่ เพราะนอกจากดอกไม่ได้เงินต้นยังหายไปอีก ไม่เหมือนกับการลงทุนประเภทอื่น ที่เมื่อลงไปแล้วต่อให้ขาดทุนไปบ้างก็ยังเหลือต้นทุนกลับมาไม่มากก็น้อยนอกจากนี้การกู้นอกระบบเจ้าหนี้ก็มักไม่มีข้อมูลทางการเงินของผู้กู้ หรือหากรู้ก็อาจเป็นข้อมูลเท็จ จึงต้องแบกรับความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะเชิดเงินหนีไปมากกว่าสถาบันการเงินอื่น เจ้าหนี้จึงมักอาศัยความกลัวข่มขู่ลูกหนี้เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่หนี และชำระเงินต้นให้ไวที่สุด 5.การกู้ยืมเงินนอกระบบ ทำให้เจอแต่คนนอกระบบเป็นแนวคิดง่าย ๆ เมื่อการกู้ยืมภายในระบบไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงของผู้กู้ได้ คนที่จะแบกรับความเสี่ยงแทนก็คือเหล่าผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบ ซึ่งบางครั้งผู้ให้กู้ก็เป็นแค่คนหาเช้ากินค่ำ แต่ด้วยความเห็นใจเจือกับความโลภ ก็เชื่อใจและปล่อยให้กู้ด้วยข้อเสนอดอกเบี้ยสูงทางฝั่งลูกหนี้เองตอนเสนอก็ไม่ทันคิดให้ถี่ถ้วน ด้วยสภาวะเหมือนคนจมน้ำหาเงินทางไหนได้ก็พยายามคว้าไว้ก่อน เสนอดอกเบี้ยสูงจนสุดท้ายรับไม่ไหว สุดท้ายต้องเลื่อนจ่ายไปเรื่อย ๆ หรือแย่ที่สุดก็หนีหายไปเลยฝั่งเจ้าหนี้ที่ถูกเบี้ยวก็รู้สึกเหมือนถูกทรยศจากความเห็นใจก็เปลี่ยนเป็นความไม่พอใจ แถมจะเอาผิดด้วยข้อกฎหมายก็ยุ่งยาก สุดท้ายความสัมพันธ์ที่เคยมีมาไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก หรือแม้แต่เลือดเนื้อเชื้อไขตัวเองก็มีแต่จะพังทลายลงจนกลายเป็นความรุนแรงอย่างที่เป็นข่าวตามสื่อ ทิ้งท้ายสำหรับเจ้าหนี้และลูกหนี้ข้อคิดสำหรับเจ้าหนี้ที่ดี การหาเงินด้วยดอกเบี้ยแม้จะดูเป็นทางที่สบาย แต่ด้วยธรรมชาติของความสัมพันธ์แบบเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่ไม่มีข้อกฎหมายมากำกับ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่เงินของเราจะหายไปง่าย ๆ ได้ตลอดเวลานอกจากนี้ควรเช็คความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้อย่างละเอียด อย่าหลงให้ยืมจนตัวเองลำบาก เพียงเพราะอีกฝั่งเสนอดอกเบี้ยจำนวนมาก หรือเห็นใจ เพราะอีกฝ่ายอาจมีเจ้าหนี้ของตัวเองอยู่อีกเพียบและกลายเป็นเราที่ต้องรับเคราะห์คอยแบกหนี้ให้อีกฝ่ายฝั่งลูกหนี้จะทำยังไงดีกลัวเจ้าหนี้มาก คงไม่สามารถพูดแทนได้ แต่ไม่ว่าเจ้าหนี้เราจะเป็นเจ้าหนี้ที่ดีหรือไม่ก็ไม่ควรกู้เงินนอกระบบครับ โดยเฉพาะการกู้ไปลงทุนโครงการใหญ่ เพราะดอกเบี้ยอาจสูงลิ่วจนรับไม่ไหวสุดท้ายพังยับทั้งหมดเพราะสายป่านขาดกลางทางแต่หากเป็นหนี้ไปแล้วก็อยากให้พยายามคุยกับเจ้าหนี้อย่างตรงไปตรงมา อย่ากลัวที่จะพูดคุย เจ้าหนี้อยากคุยกับลูกหนี้เสมอถ้าไม่ใช่การขอกู้เพิ่ม การไม่ตอบเป็นเหมือนชนวนที่จะทำให้ยิ่งโมโห แต่สิ่งที่ห้ามทำเลยคืออย่าไปสัญญาในสิ่งที่เจ้าหนี้อยากฟัง แต่ให้สัญญาในสิ่งที่เราพอจะทำได้ดีกว่าครับอย่างเช่นหากติดหนี้หนึ่งแสนบาท แล้วเจ้าหนี้ต้องการคืนทั้งหนึ่งแสนพร้อมดอกเบี้ย หากคิดว่าเป็นไปไม่ได้ก็ห้ามบอกว่าจะหาให้ได้เมื่อไหร่เด็ดขาด เพราะเมื่อถึงตอนนั้นคุณก็จะต้องไปหากู้จากคนอื่นมาอีก หรือหากหาไม่ได้ เครดิตที่คุณมีก็จะเสียหายอย่างหนักเช่นกันสิ่งที่ควรทำจึงเป็นการเจรจา พูดคุยถึงสิ่งที่ทำได้แน่ ๆ เช่น ขอจ่ายแค่ดอกเบี้ยก่อน และคืนต้นบางส่วน และบอกสถานะทางการเงินของตนเองให้ชัดเจน ส่วนตัวเชื่อว่าหากเป็นเจ้าหนี้ที่ดี ขอแค่ไม่โกหกเจ้าหนี้จะเข้าใจครับ เจ้าหนี้ที่ไหนก็อยากได้เงินคืน ไม่อยากฆ่าแกงลูกหนี้หรอกครับสุดท้ายนี้ถึงแม้การกู้นอกระบบจะเป็นช่องทางการเงินที่ได้มาง่ายแต่ก็ต้องแลกมาด้วยอะไรหลายอย่าง ทั้งความสัมพันธ์ ชื่อเสียงของตัวเอง หรือแย่ที่สุดมันอาจเปลี่ยนชีวิตของคุณจากที่ลำบากอยู่แล้วกลายเป็นลงเหวไปเลยก็ได้ จึงอยากเตือนคนที่พยายามคิดการใหญ่ว่าหากไม่สามารถกู้ในระบบได้การเก็บหอมรอมริบอาจจะคุ้มค่ากว่าการจ่ายดอกแพงหูฉี่จนสุดท้ายเราทำงานหาเงินมาให้คนอื่นใช้เสียหมดครับ ภาพปก โดย Rilson S. Avelar: Pixabay / แก้ไขโดยผู้เขียน Boomeranzภาพประกอบ 1 โดย Rilson S. Avelar: Pixabayภาพประกอบ 2 ถ่ายโดย brotiN biswaS: pexelsภาพประกอบ 3 โดยผู้เขียน Boomeranzภาพประกอบ 4 ถ่ายโดย Andrea Piacquadio: pexelsภาพประกอบ 5 ถ่ายโดย energepic.com: pexelsภาพประกอบ 6 ภาพโดย Tumisu: Pixabay เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !