ถ้ามีใครสักคนถามคุณว่า "คุณคิดว่าเพื่อนร่วมงานมองคุณยังไง" คุณอาจตอบว่า “ไม่รู้สิ คงมองว่าเป็นคนง่าย ๆ สบาย ๆ มั้ง” แต่เชื่อไหมว่า ถ้าไปถามเพื่อนร่วมงานว่ามองคุณยังไง คำตอบที่ได้อาจเป็นตรงข้าม “เป็นคนซีเรียสจริงจัง บางครั้งก็ออกจะดุนิดนึงค่ะ” โอ๊ะโอ! ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นไปได้ ทำไมคนอื่นถึงมองเราไม่เหมือนกับที่เรามองตัวเองฉันเองก็เป็นแบบนั้น มองตัวเองอย่างไร ก็เผลอเข้าใจว่าคนอื่นจะมองเราแบบนั้นด้วย เราว่าเราเป็นคนอารมณ์ดี ตลกขบขัน เป็นคนง่าย ๆ แต่เอาจริงคนอื่นอาจมองว่าเราเป็นทุกอย่างที่ตรงกันข้ามนักจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า “Egocentric Bias” หรือความคิดแบบเข้าข้างตัวเอง และเมื่อเราคิดถึงตัวเราเช่นนั้นไปแล้ว เราก็สูญเสียความสามารถที่จะคิดถึงตัวเราในทางอื่นแต่คนอื่นมักมองเราในทางตรงกันข้าม เพราะเขาไม่ได้มองเราจากมุมที่เรามองความคิดเข้าข้างตัวเอง ทำให้เรามองตัวเองผ่านมุมมองที่กรองผ่านความเชื่อ ทัศนคติ หรือความเข้าใจลึกซึ้งที่เรามีต่อตัวเรา จึงมีโอกาสสูงมากที่เราจะประเมินตัวเราหรือสิ่งที่เราทำดีกว่าที่คนอื่นมองเรา ขณะที่คนอื่นมองเราผ่านสายตาของเขาล้วน ๆ เขามองเราอย่างที่เขาเห็น เขาไม่มีความคิดเข้าข้างเรา (เหมือนเรา) เขาจึงมองเห็นเราต่างไปจากเราเห็นตัวเองฉันขอยกตัวอย่างความคิดเข้าข้างตัวเองแบบง่าย ๆ ใครที่เคยต้องอยู่บ้านเดียวหรือห้องเดียวกับคนอื่นคงเข้าใจ สมัยที่ฉันกับพี่สาวอยู่ในห้องเดียวกัน ฉันจะรู้สึกว่าฉันจัดห้อง ทำความสะอาดห้อง หรือเอาขยะไปเททิ้ง บ่อยครั้งกว่าพี่สาวฉันมาก แต่หากคุณไปถามพี่สาวฉัน เขาคงตะลึงงันและบอกว่าเขาต่างหากที่ทำ ฉันแทบไม่เคยทำสิ่งที่ว่านั่นเลยเอาอีกสักตัวอย่าง คนทั้งบ้านต่างเห็นตรงกันว่าพี่ชายฉันเป็นคนโมโหง่าย ขี้โวยวายและอารมณ์เสียเก่งที่สุดในบ้าน แต่พี่ชายฉันกลับเป็นคนเดียวที่คิดว่าบ้านนี้ทุกคนเอาแต่ใจ มีแต่คนอารมณ์แปรปรวน ทุกคนขี้โวยวายยกเว้นเขาคนเดียว เป็นต้นดังนั้นไม่ว่าคุณจะมโนว่าคนอื่นคิดกับคุณอย่างไร ขอให้เตรียมใจเถอะว่ามันอาจไม่ใช่สักอย่าง !ฉันเองยิ่งนับวันก็ยิ่งได้รู้ความจริงที่คิดไม่ถึงเกี่ยวกับตัวเองมากมาย ได้รับรู้ว่าคนอื่นมองตัวเราต่างออกไป และตัวเรารู้จักตัวเองน้อยกว่าที่คิดแม้แต่รูปร่างหน้าตาของตัวเรา เอาจริง ๆ เราก็เห็นแต่ที่สิ่งที่ตาเรามองเห็นได้ เราไม่เห็นท้ายทอย หลังคอ แผ่นหลัง หรือแม้แต่บั้นท้ายของเราเอง ขณะที่คนที่ใกล้ชิดกับเรามองเห็นเรา 360 องศา เห็นตัวเราครบด้านกว่าตัวเราเสียอีกมีงานวิจัยในปี 2010 ผู้วิจัยตั้งคำถามให้อาสาสมัครตอบว่า “คุณคิดว่าคนอื่นมองคุณหล่อสวยแค่ไหน” โดยผู้วิจัยแยกอาสาสมัครออกเป็นสองกลุ่มกลุ่มแรกให้ลองคิดว่าตัวเองเป็นคนอื่น ใช้สายตาคนอื่นมองกล้บเข้ามา แล้วลองเดาว่าคนอื่นมองตัวเราหล่อสวยแค่ไหน ปรากฏว่ากลุ่มแรกนี้ เดาคำตอบผิดความจริงไปเยอะมากกลุ่มที่สองให้ลองจินตนาการไปถึงอนาคต ว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร ปรากฏว่าเมื่อหันไปใช้จินตนาการแทนการเดาใจ คำตอบกลับออกมาใกล้เคียงกว่านักวิจัยอธิบายว่า สิ่งที่เรามองเห็นในกระจก กับสิ่งที่คนอื่นมองเห็นเราในชีวิตจริงนั้นมักไม่เหมือนกัน เพราะภาพที่เรามองตัวเราเองถูกบดบังด้วยความคิดของเราเองแต่การใช้จินตนาการถึงตัวเราในอนาคต เป็นการเคลื่อนความคิดเราออกไปจากตัวตนปัจจุบัน การจินตนาการพาสมองเราออกไปสู่จุดเดียวกันกับคนอื่น เราจึงมองเห็นตัวเราชัดขึ้นดังนั้น หากคุณอยากจะรู้ว่าคนอื่นมองคุณอย่างไร พยายามอย่าใช้ความคิดความเชื่อที่อยู่ภายในตัวคุณเองเป็นตัวกำหนด เมื่อคุณมองดูต้นไม้ คุณจะไม่เห็นป่าทั้งป่า ให้ถอยออกมาเรื่อย ๆ ห่างจากตัวตนของคุณเองออกมา คุณจึงจะเห็นมิติที่กว้างขึ้นถ้าอยากรู้จริง ๆ ว่าคนอื่นมองคุณอย่างไร คุณต้องทิ้งอัตตาลงก่อน เลิกเอาความคิดตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วเปิดใจรับฟังจากคนอื่น คนรัก เพื่อน ครอบครัว คนที่คุณไว้ใจ ว่าเขามองคุณเป็นคนอย่างไร ให้เขาพูดแบบตรงไปตรงมานั่นแหละที่คุณจะได้คำตอบของจริง สิ่งที่จะทำให้คุณแปลกใจ เพราะคุณจะรู้จักตัวเองในมุมมองใหม่ชนิด 360 องศาแนะนำให้เตรียมใจไว้เลยว่า มันจะต่างไปจากที่คุณคิดอย่างหน้ามือเป็นหลังมือหากคุณเริ่มมองเห็นแล้วว่า "ความคิดเข้าข้างตัวเอง" ทำให้คุณประเมินตัวเองผิดไป มีสามเทคนิคที่คุณจะนำมาใช้ เพื่อปรามมันไว้ไม่ให้คอยบดบังความจริงจากคุณทุกครั้งที่กำลังจะตัดสินอะไร ให้ถามตัวเองเป็นการเตือนสติบ่อย ๆ ว่า "นี่เรากำลังคิดเข้าข้างตัวเองอยู่หรือเปล่า"พยายามมองสิ่งต่าง ๆ จากมุมมองอื่นบ้าง ไม่ว่าคุณจะคิดเรื่องอะไร เมื่อคิดได้แล้วให้ลองสั่งตัวเองอีกรอบ "มีมุมอื่นให้มองไหม" "คนอื่นน่าจะมองเรื่องนี้ยังไง" "ถ้าเราเป็นเขาเราจะรู้สึกยังไง"เปลี่ยนภาษาที่พูดกับตัวเองใหม่ เพิ่มระยะห่างระหว่างตัวตนของคุณกับสิ่งที่คุณคิดด้วยการเปลี่ยนสรรพนามที่ใช้เวลาพูดกับตัวเอง เช่น เดิมคุณอาจเคยถามตัวเองว่า "ฉันควรทำยังไงดี" ให้เปลี่ยนมาถามตัวเองว่า "เธอว่าเธอควรทำยังไงดี" การใช้สรรพนามที่สองเวลาที่คุณคุยกับตัวเองนี้ จะทำให้คุณมองตัวเองในสายตาแบบที่คนอื่นมองคุณอย่าด่วนตัดสินใจตามใจตัวเอง ชะลอมันออกไปก่อน ลองถามความเห็นคนอื่น ๆ แล้วนำมาเป็นข้อมูลประกอบให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรที่สำคัญ ขอบคุณภาพประกอบจาก Unsplash และ Pexelsภาพปก : Photo by Sergey Zhumaev from Pexelsภาพประกอบ 1 : Photo by lucas da miranda from Pexelsภาพประกอบ 2 : Photo by Thiago Matos from Pexelsภาพประกอบ 3 : Photo by Dawid Zawiła from Unsplashภาพประกอบ 4 : Photo by asim alnamat from Pexels