คืนหนึ่งของหน้าร้อนต้นเดือนเมษายน ผมนั่งทำงานที่บ้านในตอนกลางคืนจนถึงดึก เวลาล่วงเลยมาเที่ยงคืนกว่าแล้ว บรรยากาศเงียบสงบ และอากาศก็ไม่ร้อนมากเหมือนกับตอนกลางวัน มีลมเย็นพัดมาเบา ๆ แต่แล้วก็มีเสียงแมลงตัวหนึ่งบินเข้ามา เสียง..หวื่อ..หวื่อ..เข้ามาใกล้ ๆ ค่อย ๆ บินเข้าไปตอมหลอดไฟเสียงดัง..ปิ้ง..ปิ้ง.. อยู่พักหนึ่งผมหันไปดู มันแมลงอะไรตัวสีเขียว ๆ ตัวขนาดเท่านิ้วโป้งหัวแม่มือตั๊กแตนก็ไม่ใช่ตอนมันกางปีกบินข้างในปีกจะมีสีเหลืองสลับกับเขียว บินอยู่สักพักมันก็บินตกลงมาบนพื้น ผมค่อย ๆ ย่องเข้าไปดูใกล้ ๆ ปีกของมันเป็นสีเขียวมีลายจุดสีขาว ส่วนของหัวมีเขายาวชี้ขึ้นหนึ่งเขา คล้ายกับด้วงกว่าง มีขา 6 ขาสีออกแดงส้ม ผมจึงรีบไปหยิบโทรศัพท์มาถ่ายรูปเอาไว้ ค่อยเข้าไปใกล้ ๆ มันก็ไม่กลัวคนนะครับ มองเห็นรายละเอียดของปีกมันคล้ายกับปีกผีเสื้อ ผมก็ไม่ทราบหรอกครับว่ามันคือแมลงอะไรและไม่เคยเห็นมาก่อนด้วย มองดูปีกมันสวยดีรูปร่างแปลกตา รู้แต่ว่ามันต้องอยู่ในกลุ่มของแมลงด้วงกว่างแน่นอนเพราะมันมีเขาเหมือนกว่างแต่ก็ไม่ทราบชื่อ หลังจากนั้นแมลงตัวนี้ก็ค่อย ๆ ใช้ขาหลังดีดตัวบินหนีออกไป ผมจึงนำรูปที่ถ่ายได้ไปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ถามเพื่อนในนั้นว่า "นี่มันคือแมลงอะไร?" สักพักก็มีพี่สาวคนหนึ่งเข้ามาตอบ เธอบอกว่าในสมัยเด็ก ๆ ตอนอยู่ที่บ้านนอกเคยวิ่งไล่จับแมลงชนิดนี้เอามาเล่น ซึ่งคนท้องถิ่นในสมัยนั้นเรียกเจ้าแมลงตัวนี้ว่า "แมงไก่ฟ้า" ("แมง" ภาษาเหนือ คือ แมลง) เป็นภาษาเหนือท้องถิ่น ที่เรียกตามลักษณะของปีกแมลงที่เหมือนกับหางของ "ไก่ฟ้า" พี่เขาบอกต่ออีกว่าในสมัยก่อนนั้นมีเยอะมาก และเมื่อย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองก็ไม่เคยเห็นอีกเลยก็นึกว่ามันสูญพันธ์ุไปแล้ว (สมัยก่อนคือเมื่อ 30 ปีที่แล้ว) จนได้มาเห็นรูปถ่ายที่ผมเอาลงเฟซบุ๊กนี่แหละ แต่พี่เขาก็ไม่รู้นะว่าในภาษาไทยทางภาคกลางเขาเรียกว่าอะไรภาพประกอบโดยผู้เขียนด้วยความสงสัยและอยากรู้ผมเลยต้องไปหาข้อมูลต่อด้วยตัวเองครับโดยใช้คำว่า "ด้วงสวยงาม" เป็นคำค้นหา และในที่สุดก็เจอครับ สรุปแล้วแมลงในภาพก็คือ "จั๊กจั่นงวง" หรือ "ด้วงงวงช้าง" (ชื่อเรียกทั่วไป) ชื่อสามัญภาษาอังกฤษแบบที่ใช้เรียกทั่วไปคือ Fulgorid bug หรือ Planthopper อยู่ในวงศ์ Fulgoridae ซึ่งสังเกตุจากลักษณะของปีกที่เป็นเยื่อบาง ๆ มีสีสันสวยงามเหมือนปีกผีเสื้อ และมีเส้นขวางบนปีกเป็นจำนวนมาก ปีกของมันไม่สามารถสีกันจนทำให้เกิดเสียงได้ เป็นแมลงที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับเพลี้ยกระโดดแต่เป็นญาติห่าง ๆ กัน มีขนาดลำตัวใหญ่กว่าเพลี้ยกระโดดค่อนข้างมากภาพประกอบโดยผู้เขียนแมลงในตระกูลนี้มีทั้งแบบมีงวง และไม่มีงวง แถมยังมีขาหลังที่ทรงพลังเอาไว้กระโดดดีดตัวออกบินหนีด้วยความรวดเร็ว อาหารของจั๊กจั่นงวงคือการดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ซึ่งจั๊กจั่นงวงที่ผมพบเจอนี้ มีชื่อพันธุ์ว่า Pyrops candelaria (Linnaeus), 1758 ซื่งพบได้ในป่าเบญจพรรณทั่วไป และจะพบมากทางภาคเหนือและทางภาคอีสานตอนบนของไทยเป็นส่วงใหญ่ (ตามแผนที่แมลง) จั๊กจั่นงวงชนิดนี้จะชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และชอบเกาะอยู่ตามต้นลำไย อยู่ตามป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์จะพบเป็นจำนวนมากในช่วงปลายฤดูหนาวจนเข้าสู่หน้าร้อนซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์ โดยมันจะวางไข่เกาะอยู่ตามใบไม้ หลังจากฟักไข่เป็นตัวอ่อนแล้ว มันจะร่วงลงดินขุดลงไปใต้ดินค่อย ๆ กระดึ๊บกระดึ๊บขุดหารากของต้นไม้ และดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากพืชเป็นอาหาร พอถึงขนาดตัวโตเต็มวัยก็มุดออกมาจากพื้นดิน แปลงร่างเป็นจั๊กจั่นงวงปีกสวยงามโบยบินออกหาคู่ผสมพันธุ์มีชีวิตประมาณ 1-2 เดือนแล้วก็ตายจากไปวนเวียนอยู่อย่างนี้ ในหนึ่งปีจะพบเห็นจั๊กจั่นงวงชนิดนี้ได้เพียงแค่ครั้งเดียว คือช่วงต้นฤดูร้อนของทุกปี ซึ่งทั่วโลกนั้นมีจั๊กจั่นงวงทั้งมีงวง และไม่มีงวง รวมทั้งสิ้นถึง 143 สกุล แบ่งย่อยเป็น 716 ชนิด (ข้อมูลเมื่อ ค.ศ. 2016) สำหรับในประเทศไทยพบอยู่ 2 สกุล คือ Subfamily Aphaeninae และ Subfamily Fulgorinae มีประมาณ 28 - 30 ชนิด จั๊กจั่นงวงชนิดนี้ไม่มีพิษมีภัยต่อคนและพืช มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศของธรรมชาติตรงที่ ฉี่ของมันประกอบไปด้วยแร่ธาตุมากมาย และเป็นประโยชน์ต่อสัตว์เลื้อยคลานชนิดต่าง ๆ ที่เข้ามากินฉี่ของมันเพื่อเสริมธาตุอาหารภาพจาก : pxhere.comภาพจาก : pxhere.comถ้าถามผมว่าเจ้าจั๊กจั่นงวงนี้มันหาดูได้ง่ายไหม ผมขอบอกว่า "หาดูยากครับ" นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเคยเห็นแบบตัวเป็น ๆ ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต แต่มันก็ไม่ถึงกับจะสูญพันธุ์ไปหรอกนะครับ ตัวที่บินหลงเข้ามาในเมืองหนึ่งตัวนี้มันอาจจะบินหลงมาจากสวนลำไยที่ไหนสักที่หนึ่ง หรืออาจบินมาจากป่าที่อยู่ใกล้ ๆ ซึ่งป่าตอนนี้แห้งแล้งเหลือเกินแถมยังเกิดไฟป่าอยู่บ่อย ๆ บ้านผมก็อยู่ไม่ไกลจากป่า คงไม่ได้เป็นเพราะแถวนี้มันอุดมสมบูรณ์หรอกครับ มันทั้งแห้งแล้งและขาดอาหารและน้ำมากกว่า จั๊กจั่นงวงมันต้องบินออกหาอาหารไกลขึ้น บนภูเขานั้นก็มีปัญหาไฟป่าเกิดขึ้นทุกปี ซึ่งก็ไม่แน่นะในอนาคตผมอาจจะไม่ได้เห็นเจ้าจั๊กจั่นงวงพวกนี้อีกแล้วก็ได้ จริงอยู่ที่ว่าจั๊กจั่นงวง หรือด้วงงวงช้างนั้นเป็นเหมือนตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า แต่ในทุกวันนี้ป่าในภาคเหนือก็ยังถูกทำลายเหมือนเดิมเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในหน้าแล้ง ก็เพราะยังมีผู้ที่ลักลอบเข้าไปเผาทำลายอยู่ ถึงแม้จะติดตามจับตัวคนผิดมาได้ และปลูกป่าทดแทนแล้ว แต่ป่าก็ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นคืนกลับมา จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันดูแลรักษาป่าครับ เพื่อให้สัตว์ป่าได้มีที่อยู่อาศัย มีอาหารที่สมบูรณ์เพียงพอ และเราก็จะได้มีแหล่งน้ำที่มาจากป่า ได้อากาศที่ดีที่บริสุทธิ์กลับคืนมา ไม่ต้องวนอยู่กับปัญหาเดิม ๆ แบบนี้อีกต่อไปบทความโดย : กัมบี้บ๊อกซ์ภาพปกจาก : pxhere.comอ้างอิงข้อมูลhttps://sites.udel.eduhttp://www.dnp.go.th