รีเซต

สธ.เปิดห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 พร้อมตรวจเชื้อโรคความเสี่ยงสูง

สธ.เปิดห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 พร้อมตรวจเชื้อโรคความเสี่ยงสูง
มติชน
21 มิถุนายน 2564 ( 16:24 )
66
สธ.เปิดห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 พร้อมตรวจเชื้อโรคความเสี่ยงสูง
 

วันนี้ (21 มิถุนายน 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานรับมอบห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 (Biosafety Level 3 laboratory) จาก Mr.Nashida Kazuya เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ Dr.Daniel Kertesz ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้บริหาร สธ. เข้าร่วมด้วย

 

 

 

นายอนุทิน กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้สร้างความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น ในหลายโครงการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการก่อสร้างอาคารสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขแห่งชาติ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี เพื่อเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงของประเทศด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีหน้าที่ยืนยันสาเหตุและสถานการณ์ของโรคที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุข และปี 2563 กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านองค์การอนามัยโลก จำนวน 38.6 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 2 และระดับ 3 ให้มีความทันสมัย เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางชีวภาพ พร้อมที่จะดำเนินการเต็มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานกับเชื้อโรคอันตรายสูงด้วยความปลอดภัย ต่อชีวิตนักวิจัยและสิ่งแวดล้อม

 

 

 

 

“โดยเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนาห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ครั้งนี้ เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในด้านการตรวจชันสูตร การพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์ ชุดตรวจ วัคซีนและยารักษาโรค นอกจากนี้ ยังเสริมความเข้มแข็งในการเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมด้านปลอดภัยและความมั่นคงด้านชีวภาพทางห้องปฏิบัติการ (Laboratory Biosafety and Biosecurity Training Center) สำหรับภูมิภาคอาเซียนในอนาคต” นายอนุทิน กล่าว

 

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์ฯ เป็นห้องปฏิบัติการที่ออกแบบให้มีลักษณะพิเศษ สามารถป้องกันการหลุดรอดของเชื้อโรค สู่ภายนอก ใช้สำหรับการตรวจวิเคราะห์ วิจัยเชื้อโรคความเสี่ยงสูง เช่น ไข้หวัดนก โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์ส โรคซาร์ส และโรคโควิด-19 เป็นต้น โดยการปฏิบัติงานที่สำคัญได้แก่ การเพาะแยกเชื้อไวรัส การเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนเชื้อ การสกัดสารพันธุกรรม และการจัดการกับตัวอย่างติดเชื้ออุบัติใหม่ เพื่อเป็นคลังสายพันธุ์เชื้อแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนี้ การชันสูตรโรค การศึกษาวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข การควบคุมโรค การส่งเสริมพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการเครือข่าย การต่อยอดพัฒนายาและวัคซีน เพื่อการรักษาและการป้องกันโรค

“ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์ฯ นับเป็นหนึ่งในผลงานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินการได้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจริงจังจากองค์การอนามัยโลก ทำให้มีห้องปฏิบัติการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพและความพร้อมในการสนับสนุนนโยบายการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันควบคุมภัยคุกคามด้านสุขภาพของประชาชนชาวไทยและภูมิภาคอาเซียน” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง