ลุ้นขยับเพดานดบ.สองล้อ MTCคงสินเชื่อจยย.โต30%
ทันหุ้น – สคบ.เปิดเฮียริ่งร่างประกาศควบคุมสัญญาเช่าซื้อฉบับที่ 2 ด้านสมาคมเช่าซื้อเข้าแจงความเสี่ยงธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ ขอขยายเพดานดอกเบี้ยอีกครั้งก่อนประกาศ-มีผลบังคับในเดือนเมษายน 2565 ขณะที่ MTC ยันเดินหน้าขยายพอร์ตรถสองล้อต่อตั้งเป้าปีหน้าโต 30% ต่อปี
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้เผยแพร่ร่างประกาศควบคุมสัญญาเช่าซื้อฉบับที่ 2 ซึ่งมีสาระสำคัญเปลี่ยนแปลงไปจากฉบับแรก ดังนี้ 1.ร่างประกาศฯ จะควบคุมเฉพาะสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์เท่านั้น (ฉบับแรกมีผลครอบคลุมรถแทรกเตอร์และเครื่องยนต์ทางการเกษตรด้วย), 2.ปรับเกณฑ์ควบคุมการคิดอัราดอกเบี้ยรถ-เครื่องจักรทุกประเภทไม่เกิน 15% เป็นแยกประเภทโดยกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่ไม่เกิน 15% ส่วนรถยนต์เก่า และรถจักรยานยนต์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ 20%
3.โครงการคืนรถจบหนี้ เปิดให้คืนรถได้เมื่อผ่อนไปแล้วอย่างน้อย 1 ใน 3 ของค่างวด จากเดิมไม่มีการกำหนดเงื่อนไขในส่วนนี้ โดยสามารถคืนได้ทุกช่วงเวลา และ 4.เมื่อคู่สัญญาต้องการชำระเพื่อปิดสัญญาก่อนครบกำหนด ผู้ประกอบการต้องให้ส่วนลดดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่น้อยกว่า 60-80% ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เข้ามาขอปิดสัญญา (ฉบับแรกกำหนดให้ลดดอกเบี้ยฯ 80% เมื่อแจ้งปิดสัญญา) โดย สคบ. อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 3-17 ธันวาคม 2564
นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ ประธานกรรมการสมาคมเช่าซื้อไทย เปิดเผยว่า ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในการทำธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อกลุ่มรถจักรยานยนต์ว่า มีความเสี่ยงมากและจะขอให้ทาง สคบ. ปรับเพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยงโดยเฉพาะกรณีรถหาย เพื่อช่วยลดความเสียหายของผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้คาดว่า สคบ. จะประกาศร่างประกาศควบคุมสัญญาเช่าซื้ออย่างเป็นทางการภายในเดือนธันวาคม 2564 นี้เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2565 เป็นต้นไป
MTC ลุยขยายฐานลูกค้า
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC กล่าวว่า กรณีที่ สคบ. มีแนวโน้มจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์สูงสุดที่ 20% ว่า เบื้องต้นอาจส่งผลต่อพฤติกรรมคู่สัญญา และนำไปสู่ความเสียหายของผู้ประกอบการ จึงอยากเรียกร้องให้ สคบ. พิจารณาปรับเกณฑ์การควบคุมอัตราดอกเบี้ยฯ ให้อยู่ระหว่าง 25-30%
อย่างไรก็ตาม MTC จะยังคงเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่ 30% ต่อปี และตั้งเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ทั้งปี 2565 ที่ 30% เนื่องจากหลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวประชาชนเริ่มมีรายได้ กลุ่มเกษตรเริ่มกลับมาเพาะปลูกกันมากขึ้น รวมถึงได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐบาลทั้งโครงการเยียวยา, ประกันราคาพืชผลทางการเกษตร ฯลฯ
กระทบกลุ่มเช่าซื้อ
บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า สคบ. พยายามสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ ขณะเดียวกันยังพิจารณาผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค จึงคาดว่า สคบ. จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างประกาศฯ ดังกล่าวอีกครั้งก่อนประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เบื้องต้นกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือกลุ่มเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ แม้จะขยายเพดานดอกเบี้ยจาก 15% เป็น 20%
แต่ปัจจุบันหลายบริษัทคิดดอกเบี้ยสูงกว่ากรอบที่กำหนด หากร่างฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะกดดันกำไรสุทธิทั้งปี 2565 ของ MTC ประมาณ 1.5-2%, SAWAD ประมาณ 5-6%, SAK ประมาณ 1.5-2% และ NCAP ประมาณ 30%ตามสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อต่อพอร์ตสินเชื่อรวมของแต่ละบริษัท พร้อมกันนี้แนะนำ “ซื้อ” MTC ราคาเหมาะสม 71 บาท, SAWADราคาเหมาะสม 74 บาท, และแนะนำ “ถือ” SAK และ NCAP