สกาลา: บันทึกความทรงจำถึง “ราชาโรงหนังแห่งสยาม” โรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ
"ความฝันของคุณพ่อก็คือการสร้างโรงภาพยนตร์ที่สวยที่สุดในชีวิตและท่านก็ทำได้จริง ๆ กับที่นี่" นันทา ตันสัจจา ประธานโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ พูดพลางเงยหน้าขึ้นมองที่เพดานทรงโค้งของโรงภาพยนตร์สกาลา โรงภาพยนตร์ในเครือแห่งสุดท้ายที่เพิ่งประกาศปิดตัวลง
นันทากลับมาที่โรงภาพยนตร์แห่งนี้อีกครั้งไม่ใช่ในฐานะผู้บริหารที่เข้ามาดูแลกิจการเหมือนที่เคยทำตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่มาเพื่อตรวจตราความเรียบร้อยของสถานที่สำหรับงาน "La Scala" ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ค. เพื่ออำลาโรงภาพยนตร์ก่อนจะปิดตัวถาวรในวันอาทิตย์ที่ 5 ก.ค.นี้
หลายเดือนที่ผ่านมา ข่าวคราวเรื่องการปิดโรงภาพยนตร์สกาลาได้รับการพูดถึงเป็นระยะ ๆ ในโซเชียลมีเดีย แต่ยังไม่มีคำยืนยันอย่างเป็นทางการจากเครือเอเพ็กซ์ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงภาพยนตร์สกาลาประกาศ "งดให้บริการชั่วคราว" ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.จนถึง 31 พ.ค. ตามมาตรการของภาครัฐ
- หอภาพยนตร์คัดสรรหนังดีฉายอำลาโรงหนังในตำนานที่ให้บริการมากว่าครึ่งศตวรรษ
- ร้านค้าและสถานที่เก่าแก่อะไรบ้างที่ต้องหลีกทางให้การพัฒนาพื้นที่ของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ
แต่หลังจากวันที่ 31 พ.ค. สกาลาก็ยังไม่เปิดบริการ จนกระทั่งวันที่ 23 มิ.ย. โรงภาพยนตร์สกาลาประกาศ "ปิดม่านการฉายภาพยนตร์" ผ่านเฟซบุ๊ก Apex Scala พร้อมกับประชาสัมพันธ์งาน "La Scala" ร่วมจัดโดยหอภาพยนตร์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรักและความผูกพันกับโรงภาพยนตร์สกาลาได้ร่วมชม ณ โรงภาพยนตร์แห่งนี้เป็นครั้งสุดท้าย
"สยามสแควร์เคยมีโรงหนังขนาดใหญ่สามทหารเสือ สยาม ลิโด สกาลา จนเป็นส่วนสำคัญที่ให้ สยามสแควร์เติบโตเป็นทำเลทองทางธุรกิจที่เจริญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย" ส่วนหนึ่งข้อความประชาสัมพันธ์ระบุ
แม้เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมาย แต่การยืนยันว่าสกาลากำลังจะปิดตัวลงถาวรในวันที่ 5 ก.ค.นี้ก็ได้สร้างความอาลัยอาวรณ์ให้แฟน ๆ สกาลาที่พากันเขียนข้อความอำลาและรำลึกความทรงจำที่มีร่วมกับสกาลาผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างล้นหลาม
โรงภาพยนตร์ที่มีความงดงามทางสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์แห่งนี้เต็มไปด้วยร่องรอยแห่งอดีต ความผูกพันและความทรงจำ ไม่เพียงสำหรับสมาชิกครอบครัวตันสัจจา แต่ยังเป็นสถานที่ที่มีความหมายสำหรับคนอีกมากมายที่เคยมาเยือน ทั้งในฐานะผู้ชมภาพยนตร์ คนสร้างหนัง นักแสดง นักวิจารณ์ภาพยนตร์
บีบีซีไทยชวนบุคคลเหล่านี้มาร่วมแบ่งปันความทรงจำที่มีต่อสกาลาก่อนวันปิดม่านของโรงภาพยนตร์ในตำนานแห่งนี้
จากกันด้วยความสุข
1 ก.ค. ก่อนหน้า "โปรแกรมฉายหนังครั้งสุดท้าย" จะเริ่มขึ้นไม่กี่วัน นันทาเข้ามาที่สกาลาเงียบ ๆ เธอเดินตรวจตราความเรียบร้อยบริเวณโถงหลัก เพื่อให้มั่นใจว่าภาพสุดท้ายของสกาลาจะงดงามในความทรงจำของผู้มาร่วมงาน
"เราอยากจะจากกันไปด้วยความสุข ความสว่างไสว และอยากให้ทุกอย่างอยู่ในความทรงจำของผู้มาร่วมงาน" นันทาบอกกับบีบีซีไทย "เราอยากจะจากกันไปด้วยความทรงจำที่ดี"
"เราสร้างความสุขให้คนไทยมากว่า 50 ปี และเมื่อมาถึงวันสุดท้ายเราก็อยากให้ทุกคนได้รับความสุขนั้นกลับไป"
นันทาอธิบายเพิ่มเติมว่าจริง ๆ แล้ว สัญญาเช่าพื้นที่ของโรงภาพยนตร์สกาลาที่ทำไว้กับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะหมดในปี 2564 แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้โรงภาพยนตร์ไม่สามารถประกอบการได้เหมือนเดิม จึงตัดสินใจปิดกิจการ โดยไม่ลืมที่จะเตรียมการช่วยเหลือพนักงานสกาลา รวมทั้ง "บุรุษชุดเหลือง" ที่ทำหน้าที่เก็บตั๋วภาพยนตร์
"พนักงานสกาลาทำงานกับเรามาเป็น 10-20 ปี และถ้าใครประสงค์จะทำงานต่อ เราก็มีตำแหน่งรองรับเพียงพอที่สวนนงนุช" นันทากล่าวถึงสวนนงนุชพัทยา อีกหนึ่งธุรกิจหลักของครอบครัวตันสัจจา
ส่วนโคมไฟระย้าทรงหยดนํ้าค้างแข็ง 5 ชั้นขนาดยักษ์ที่สั่งตรงจากอิตาลีและเครื่องประดับอาคารต่าง ๆ ที่ทางโรงภาพยนตร์สั่งทำขึ้นมาพิเศษ และกลายเป็นเอกลักษณ์ที่อยู่คู่กับสกาลา ก็จะย้ายไปประดับที่สวนนงนุชด้วยเช่นกัน
ผู้บุกเบิกสยามสแควร์
นันทาย้อนอดีตให้บีบีซีไทยฟังว่าช่วงที่โรงภาพยนตร์สยาม ลิโด้ และสกาลามาเปิดใหม่ ๆ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว สยามสแควร์ไม่ได้คึกคักล้ำสมัยอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นเพียงพื้นที่รกร้างที่อยู่ท่ามกลางชุมชนแออัด
- ประชาชนร่วม #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ก่อนจุฬาฯ รื้อถอน
- ห้องสมุดคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ โฉมใหม่ ทำไมจึงเป็น "ห้องสมุดที่ไม่มีวันสร้างเสร็จ"
"เราต้องเปิดไฟของโรงภาพยนตร์ให้สว่างเต็มที่เพราะพอตกกลางคืน แถวนี้ไม่มีแม้กระทั่งไฟถนน แถมยังอยู่ใกล้กับชุมชนแออัดด้วย แต่พอโรงภาพยนตร์ของเราได้รับความนิยมขึ้นมา พื้นที่แถวนี้ก็เริ่มมีความเจริญเข้ามาทันที" นันทาเล่า
"โรงหนังของเราเหมือนสร้างกระแสให้สยามสแควร์เลยด้วยซ้ำ พอมาถึงวันนี้ที่สยามสแควร์พัฒนาเต็มที่แล้วเราต้องมาจากไปก็รู้สึกเสียดาย สกาลาเต็มไปด้วยเรื่องราวและประวัติศาสตร์ ต่อให้เราย้ายสิ่งประดับทั้งหมดไปไว้ที่อื่น ก็จะไม่มีที่ไหนเหมือนสกาลาอีกแล้ว" นันทาเผยความรู้สึก
คุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่กำลังถูกทำลาย
แม้ว่าโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ตามห้างสรรพสินค้าจะเริ่มเข้ามาแทนที่โรงหนังที่ตั้งอยู่เดี่ยว ๆ แบบ สแตนด์ อะโลน ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1990 แต่โรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ทั้งสามโรง คือ สยาม ลิโด และสกาลา ก็ยังคงยืดหยัดอย่างแข็งแกร่ง
ก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ เป็นคนหนึ่งที่เติบโตมาในยุคที่สกาลารุ่งเรือง ด้วยความที่เป็นคนชอบดูหนัง เขาจึงวนเวียนอยู่แถวสยามและโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น
"หนังที่อยู่ในความทรงจำและที่ประทับใจกับการดูที่สกาลาคือเรื่อง The Last Emperor และที่จำได้ดีคือที่นี่มีการพักระหว่างการฉายภาพยนตร์ด้วย" ก้องกล่าว "โรงภาพยนตร์ยิ่งใหญ่อลังการ จอใหญ่ สกาลาเป็นแลนด์มาร์ก เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต"
แฟนโรงหนังสกาลาต่างมีสิ่งที่จดจำเกี่ยวกับสถานที่นี้แตกต่างกันไป บางคนอาจนึกถึงช่องขายตั๋ว บางคนชอบตั๋วภาพยนตร์กระดาษที่เขียนด้วยลายมือ พนักงานเดินตั๋วในสูทเหลือง คนขายข้าวโพดคั่ว ไปจนถึงโคมไฟ บันไดและเพดานโค้ง
"ส่วนตัวแล้วสิ่งที่จดจำได้มากที่สุดคือการแหวกผ้าม่านที่กั้นระหว่างประตูกับโรงภาพยนตร์ มันเปรียบเสมือนธรณีประตูที่เปลี่ยนผ่านโลกของความจริงไปสู่อีกโลกหนึ่ง" รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์กล่าว
เขายังได้ให้ความเห็นถึงความแตกต่างระหว่างโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อะโลนกับโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ให้ฟังว่า
"โรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อะโลนมันเป็นเรื่องของการที่เราจะออกจากบ้านเพื่อไปโรงหนัง แต่พอมีมัลติเพล็กซ์เกิดขึ้นก็ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป จากที่บอกว่าไปดูหนัง เราก็พูดว่าเราไปห้าง เสน่ห์และมนต์ขลังมันมาจากสถานที่ ความสัมพันธ์ระหว่างที่มีต่อโรงภาพยนตร์ก็เปลี่ยนไป"
"ไม่ได้บอกว่าเปลี่ยนไม่ได้หรือเปลี่ยนแปลงแล้วไม่ดี แต่พอสกาลาที่มีสถานะเป็นโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อะโลนแห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ ต้องปิดตัวไปจริง ๆ ก็เท่ากับว่าประวัติศาสตร์ด้านวัตถุและประวัติศาสตร์ทางความทรงจำกำลังถูกทำลาย" เขากล่าว
เขาบอกว่าการปิดตัวของสกาลาส่งผลกระทบทางจิตใจของแฟนภาพยนตร์ เพราะมันเป็นสถานที่ที่คนจำนวนมากและหลายรุ่นมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน และยังเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของย่านสยามสแควร์ เพราะโรงภาพยนตร์สยาม ลิโด้และสกาลานับเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ย่านสยามสแควร์บูมขึ้นมา กลายเป็นจุดนัดพบของวัยรุ่น และส่งผลให้เป็นย่านที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงลิบลิ่วจนมาถึงวันนี้
"การที่สกาลายืนหยัดมาได้จนถึงวันนี้ถือได้ว่าใจสู้มาก ด้วยขนาดของโรงภาพยนตร์กว่า 900 ที่นั่ง ในเชิงธุรกิจเองก็ถือว่าประคองลำบาก การที่อยู่มาได้ถึงวันนี้ก็เก่งมากแล้ว ประกอบกับสถานที่นี้เป็นที่พึ่งของคนดูหนัง เป็นสถานที่จ้างงานของคนเก่าแก่ การปิดตัวลงย่อมส่งผลกระทบทางจิตใจต่อผู้คนมากมายแน่นอน" ก้องให้ความเห็น
"ในบรรดาโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ที่มีอยู่มากมาย การมีโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อะโลนอยู่สักโรงนึงก็น่าจะเป็นเรื่องดี ถึงแม้สกาลาจะไม่ได้ตอบโจทย์ทางด้านธุรกิจมาก แต่สถานที่นี้มีคุณค่าต่อจิตใจ ด้านสถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์"
ความทรงจำของคนรักสกาลา
พัชริดา วัฒนา หรือ "แหม่ม สาว สาว สาว" อดีตนักร้องแห่งวงเกิร์ลกรุ๊ปรุ่นบุกเบิกในยุค 80 ก็เป็นแฟนตัวยงของสกาลา
"ตอนเด็ก ๆ คุณแม่จะพาไปดูหนังปีละหน แต่พอเป็นวัยรุ่น ไปไหนมาไหนได้เองก็เลือกไปดูหนังที่สกาลาครั้งแรกตอนอายุ 17 ตอนนั้นจำได้ว่าไปดู Back to the Future และสิ่งที่จดจำได้มากที่สุดก็คือการได้ไปกินแซนวิชอุ่น ๆ ในตู้ แล้วก็ป๊อบคอร์นถุงเล็ก ๆ บวกกับความใหญ่ของจอและการเปิดม่านตอนเริ่มฉาย" พัชริดาเล่า
"ทุกวันนี้ เวลาไปสกาลาแล้วเห็นภาพอดีต วันที่พ่อแม่พาเราไปดูหนัง ทั้งบันได โคมไฟ และบรรยากาศมันเหมือนโรงหนังให้เกียรติเรา"
ปีที่แล้ว พัชริดามีโอกาสขึ้นเวทีพร้อมกับสมาชิกวง สาว สาว สาว ที่โรงภาพยนตร์สกาลา นับเป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่ดีที่สุดกับโรงหนังในดวงใจ
"รู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้มาเล่นคอนเสริ์ตในโรงหนังเพราะเราไม่เคยทำมาก่อน เคยแต่ได้ยินแม่เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อน ถ้าหนังเรื่องไหนที่ดัง ๆ จะมีวงดนตรีมาเล่นก่อนหนังฉาย เรารู้สึกดีมากที่ได้มีประสบการณ์นี้เพราะมันรู้สึกขลังกับบรรยากาศที่ไม่เหมือนเวทีอื่น"
วิทยา ทองอยู่ยง หรือ บอล ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีผลงานเป็นที่รู้จักอย่างเรื่อง แฟนฉัน และ น้องพี่ที่รัก บอกกับบีบีซีไทยว่าประสบการณ์ที่ถือว่า "เป็นที่สุด" ก็คือการได้เห็นชื่อตัวเองอยู่ที่ป้ายโรงภาพยนตร์สกาลา
"ผมเรียนอยู่แถวนี้และที่นี่ก็เป็นที่ที่ผมได้ดูหนังเรื่องแรกตั้งแต่ย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ ในปี 2536 เรื่องแรกที่ดูก็คือ Jurassic Park ตอนนั้นจำได้ว่าขนาดของจอมันทำให้รู้สึกว่าไดโนเสาร์ดูมีชีวิตจริง ๆ รู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก" วิทยาย้อนอดีต
"ด้วยความที่เรียนด้านภาพยนตร์มา ความฝันอันสูงสุดก็คือการได้สร้างหนังหนึ่งเรื่องและเราได้มีชื่อขึ้นจอในฐานะผู้กำกับ และฝันก็เป็นจริงเมื่อหนังเรื่องน้องพี่ที่รักที่ผมกำกับเองได้เข้าฉายที่สกาลา และทางโรงหนังก็เอาชื่อผมขึ้นมาไว้ที่ป้ายหน้าโรงหนังในฐานะผู้กำกับ"
"สกาลาทำให้นึกย้อนไปในวัยเด็ก ผมมั่นใจว่าคนที่มาดูหนังที่นี่จะต้องเคยถ่ายรูปคู่กับลุงที่ใส่สูทสีเหลืองที่คอยฉีกตั๋วอยู่หน้าประตูทางเข้า และผมก็มั่นใจว่าทุกคนที่มาก็ต้องเคยมีประสบการณ์จับมือสาวในโรงหนังด้วย"
อมราพร แผ่นดินทอง ผู้เขียนบทภาพยนตร์ชื่อดังหลายเรื่องเช่น แฟนฉัน, ซีซันเชนจ์ : เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย, ความจำสั้นแต่รักฉันยาว บอกกับบีบีซีไทยว่าเธอมีความผูกพันกับสกาลามาตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"สกาลาเป็นที่จัดงานสำคัญเวลาที่มีหนังใหม่ ๆ หนังใหญ่ ๆ ก็ต้องเข้าไปดูที่นี่" อมราพรเล่าถึงสกาลาในความทรงจำ "หนังเรื่องที่ประทับใจที่สุดคือ Speed จำได้ว่านั่งจิกเบาะตลอดเวลา"
"เหตุผลที่ชอบมาดูหนังที่สกาลาเพราะมาง่าย จอใหญ่อลังการ รู้สึกเหมือนมาดูมหรสพจริง ๆ และโฆษณาไม่เยอะเหมือนตามมัลติเพล็กซ์อื่น ๆ และค่อนข้างตรงต่อเวลา" เธอยังประทับใจความงดงามของสถาปัตยกรรมที่นี่เป็นพิเศษอีกด้วย
นักเขียนบทภาพยนตร์บอกว่าเธอรู้สึกเสียดายที่สกาลาต้องปิดตัวลงแต่ก็ "เข้าใจได้ถึงความเปลี่ยนแปลง"
เธอเลือกที่จะไม่ไปร่วมงานฉายภาพยนตร์อำลาสกาลาเพราะ "อยากจะเก็บความทรงจำที่ดีที่เราเคยมีร่วมกับมันเอาไว้ ไม่อยากไปเห็นวันที่ต้องบอกลา"