รีเซต

สุรินทร์ ‘รำแม่มด’ ไล่โควิด ‘ปะโจลมะม๊วด’ ภูมิปัญญารักษาโรคด้วยดนตรี (ชมคลิป)

สุรินทร์ ‘รำแม่มด’ ไล่โควิด ‘ปะโจลมะม๊วด’ ภูมิปัญญารักษาโรคด้วยดนตรี (ชมคลิป)
มติชน
18 มกราคม 2564 ( 16:45 )
91
สุรินทร์ ‘รำแม่มด’ ไล่โควิด ‘ปะโจลมะม๊วด’ ภูมิปัญญารักษาโรคด้วยดนตรี (ชมคลิป)

ณ ใจกลางหมู่บ้าน หมู่ 9 บ้านภูมิโพธิ์ ต.ดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาด ชาวบ้านในชุมชนกว่า 50 คน ทั้งคนเฒ่า คนแก่ เด็กเล็ก คนหนุ่ม คนสาว ร่วมพิธีกรรมของชาวเขมรพื้นบ้านสุรินทร์ที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งเรียกพิธีกรรมนี้ว่า “ปะ-โจล-มะ-ม๊วด” หรือ รำผีฟ้า หรือ แม่มด ตามพิธีกรรมเชื่อว่าการเล่นมะม๊วด เป็นการรักษาอาการเจ็บป่วยของคนด้วยเสียงเพลง

 

โดยมีแม่หมอ หรือแม่มด เข้าทรงอัญเชิญเทพธิดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเสี่ยงทายดูอาการเจ็บป่วยเหล่านั้น การเล่น “มะม๊วด” ยังสามารถขจัดปัดเป่าทุกข์โศกโรคร้าย และเพื่ออัญเชิญเจ้าที่เจ้าทางในหมู่บ้าน ให้ปกปักรักษาให้ลูกหลานในชุมชนแคล้วคลาดปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก่อนจะมีการประกอบพิธีนั้น ในช่วงกลางวันชาวบ้านพากันเตรียมสถานที่โดยการทำ “ตะซาล” แปลว่า โรงเรือนสำหรับประกอบพิธี มีการนำเสาไม้ที่มีง่าม 9 ต้น นำไม้พาดเป็นขื่อบนง่าม หลังจากนั้นใช้ทางมะพร้าวสดผ่าเป็น 2 ซีก มุงหลังคา โดยบางชุมชนนิยมกางเต็นท์เป็นโรงประกอบพิธีเพราะสะดวกกว่า

 

มีการจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้บูชาวางไว้บนโต๊ะ เป็นแถวยาวด้านหัวโรง ซึ่งจะกำหนดทิศด้านใดด้านหนึ่งเป็นหัวโรง ขึ้นอยู่กับแม่หมอ โดยร่างทรงแต่ละคนจะมีเครื่องเซ่นไหว้ที่จัดเรียงไว้ในถาดของใครของมัน เครื่องเซ่นไหว้หลักๆ จะประกอบด้วย ผลไม้ ขนม ข้าวตอก ก่อนเริ่มพิธีนักดนตรีจะโหมโรงด้วยเพลงดนตรีเป็นจังหวะทำนองดนตรีพื้นบ้านสุรินทร์ เครื่องดนตรีจะมี 4 ชิ้น ประกอบด้วย แคน กลองโทน ฉิ่ง ฉาบ โดยมีการร้องรำเป็นจังหวะสลับกับการรำของแม่มดแต่ละคน บางห่วงจังหวะการละเล่น มีแม่หมอ หรือแม่มด ประกอบพิธีเข้าทรง โดยแต่ละคนจะมีขันคนละ 1 ใบ ข้างในจะใส่ข้าวสารไว้เกือบเต็มขันแล้วจุดธูปปักตรงขอบขัน พอดนตรีเริ่มบรรเลงเพลงแม่มดก็บูชาครูไหว้ครู เสร็จก็นั่งทางในสักครู่ก่อนจะอัญเชิญร่างทรง โดยการหมุนเวียนขันที่มีเทียนจุดอยู่วนๆ รอบจากช้าๆ ไปจนถึงเร็ว จะกี่รอบนั้นขึ้นอยู่ว่าร่างทรงจะมาประทับตอนนั้น จะสังเกตได้ตอนที่แม่มดกระแทกขันกับพื้นจนเทียนดับและข้าวสารกระเด็นกระดอนออกจากขัน

 

นางเพียบ ซ่อนจันทร์ อายุ 70 ปี แม่หมอ หรือแม่มด ชาวบ้านตาพราม หมู่ 8 ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เล่าว่า ตามที่ได้มีโรคระบาดอยู่ทุกวันนี้ การเล่นมะม๊วด เพื่อขจัดปัดเป่าโรคร้ายก็เป็นอีกความเชื่อหนึ่งของชุมชน พิธีกรรม “ปะโจลมะม๊วด” มีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด ทราบแต่เพียงว่าพิธีกรรมนี้มีมานานแล้ว ชาวเขมรสุรินทร์รับการถ่ายทอดต่อเนื่องกันมาจากรุ่นสู่รุ่นและปฏิบัติมาโดยตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ ความเชื่อเกี่ยวกับพิธีกรรม “ปะโจลมะม๊วด” ภูมิปัญญารักษาโรคด้วยเพลงดนตรี ที่สืบสานกันมานาน ตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งมีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของชาวไทยเชื้อสายสุรินทร์ เป็นพิธีกรรมที่ช่วยคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับธรรมชาติ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง