ในแถบถิ่นอีสานบ้านเรา แต่โบราณนั้นเล่าก็มีวัฒนธรรมที่เจริญขึ้นอยู่หลากหลายยุค หลักฐานคือศิลปกรรมโบราณที่ยังอยู่ยั่งยืนมาจนสมัยนี้ อยากชวนคุณไปชมคือใบเสมาโบราณที่สลักเสลาเป็นภาพเล่าเรื่องยุคทวารวดีเมื่อพันกว่าปีก่อน ที่พบเจออยู่หลายแหล่งในภาคอีสาน ใบเสมาเหล่านี้คงสร้างขึ้นสืบมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แรกเริ่มคงใช้เป็นหลักปักไว้เพื่อแสดงขอบเขตของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หรือพื้นที่สำหรับทำพิธีกรรม ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาแผ่เข้ามาในยุคทวารวดี ก็ยังใช้เป็นสิ่งบอกเขตสำคัญสำหรับพิธีกรรมทางพุทธ แต่มีการสลักภาพเล่าเรื่องและสัญลักษณ์ในพุทธศาสนาอยู่ด้วยเช่นรูปสถูปเจดีย์ซึ่งใช้ปักแทนความหมายการมีพระเจดีย์สถิตอยู่ ส่วนภาพเล่าเรื่องก็คือภาพพุทธประวัติ และภาพชาดกหรืออดีตชาติของพระพุทธองค์ ภาพเล่าเรื่องเหล่านี้ คงทำขึ้นเหมือนสื่อชนิดหนึ่งเพื่อสอนผู้คนให้เข้าใจพุทธศาสนาในสังคมยุคที่การอ่านเขียนยังมิได้แพร่หลาย ใบเสมาเหล่านี้พบได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะแบบที่มีภาพสลักมักพบที่เคยเป็นชุมชนโบราณสมัยทวารวดี ได้แก่เมืองฟ้าแดดสงยางที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ใบเสมาที่พบที่นี่มักสลักเป็นภาพเล่าเรื่องที่มีความงดงามประณีตมากกว่าแหล่งอื่นและเป็นแหล่งที่พบจำนวนมากที่สุดด้วย แสดงว่าชุมชนโบราณแห่งนี้ ในอดีตน่าจะเจริญรุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนา ส่งผลให้งานช่างเกิดขึ้นอย่างเฟื่องฟูไม่แพ้กัน ปัจจุบัน ใบเสมาจำนวนหนึ่งยังคงอยู่ที่เดิมคือที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และอีกจำนวนหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นพิเศษซึ่งบางชิ้นถือว่ามีความงามระดับเอกและใช้ศึกษาเรื่องราวของอีสานโบราณได้นั้น ได้นำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น ชิ้นที่ถือกันว่ามีความงดงามและสมบูรณ์มากชิ้นหนึ่งคือใบเสมาที่แสดงพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ หรือเรียกกันว่าตอนพิมพาพิลาป เป็นตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงรองรับพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งในวัฒนธรรมโบราณโดยเฉพาะชาวมอญและพม่าก็มีธรรมเนียมการถวายความเคารพสูงสุดในรูปแบบนี้ ซึ่งการแกะสลักงานแบบนี้คงได้รับแรงบันดาลใจถ่ายทอดกันไปมาก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังมีพุทธประวัติและชาดกตอนอื่น ๆ ที่แกะสลักในใบเสมาอีกหลายชิ้น สามารถไปชมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น เช่น ตอนพระพุทธเจ้าโปรดพระราหุล หรือรูปสลักเป็นเทพเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ แต่ละชิ้นล้วนงดงามตามแบบของศิลปะทวารวดีที่ดูเรียบง่ายน่ารักตามแบบท้องถิ่น เมื่อลองใช้ใจมองดู เราจะเห็นศรัทธาที่บริสุทธิ์ของผู้คนเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว ถ่ายทอดลงมาเป็นงานศิลปะ ที่อยู่ยั่งยืนมาจนเราได้เห็นความงามเหล่านั้น.(เรื่องและรูปทุกรูปโดย วารุ วิชญรัฐ))