รีเซต

ร้อง"ป.ป.ช."สอบเช่าระบบคอมพ์ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ส่อเอื้อบางราย ทำรัฐเสียหายกว่า300ล้าน

ร้อง"ป.ป.ช."สอบเช่าระบบคอมพ์ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ส่อเอื้อบางราย ทำรัฐเสียหายกว่า300ล้าน
มติชน
3 ธันวาคม 2564 ( 14:25 )
27
ร้อง"ป.ป.ช."สอบเช่าระบบคอมพ์ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ส่อเอื้อบางราย ทำรัฐเสียหายกว่า300ล้าน

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นายณรงค์ ลาภเกิน รองประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ(ส.ท.ช.) พร้อมคณะเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผ่านนายปกครอง สุวรรณดารา ผู้อำนวยการกลุ่มสืบสวนและปฏิบัติกการข่าว 1 ป.ป.ช. เพื่อขอตรวจสอบโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน กลุ่มที่ 2 จำนวน 250 ศูนย์ ภายใต้โครงการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สดช.) ประกวดราคาไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 ที่ผ่านมาเชื่อว่าจะดำเนินการไม่โปร่งใส โดยมีกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์เอื้อประโยชน์ต่อผู้เสนอราคาบางราย ให้นำเอาระบบเก่ามาส่งมอบ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

 

นายณรงค์กล่าวว่า สัญญาเช่าระบบคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ศูนย์ดิจิทัลชุมชน เฟสแรก จำนวน 250 ศูนย์ มูลค่า 270 ล้านบาท มีระยะเวลา 1 ปีสิ้นสุดสัญญาในเดือนกันยายน 2564 โดยมีบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) เป็นคู่สัญญา และให้ช่วงต่องานให้บริษัท สหวิริยาโอเอ จำกัด(มหาชน) เป็นผู้จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์อีกทอด เมื่อหมดสัญญา บริษัทที่ดูแลโครงการจะต้องขนเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์เหล่านี้กลับสำนักงาน แต่ปรากฏว่า สดช. เปิดประกวดราคาจัดหาระบบคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนศูนย์ดิจิทัลชุมชน ในกลุ่มที่ 2 เพิ่มเติมอีก 250 ศูนย์ โดยมีทีโออาร์ กำหนดสเปกที่เอื้อประโยชน์ให้แก่คู่ค้าเดิม และยังเปิดช่องให้มีการนำเอาคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ในโครงการเดิมบางส่วนมาสวมรอยส่งมอบอีกด้วย

นายณรงค์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เคยลงมาตรวจสอบโครงการนี้และเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าไปชี้แจง พร้อมกำชับไม่ให้มีการทุจริต แต่กลับปรากฎว่า มีการกำหนดทีโออาร์ที่ส่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้จัดหาระบบคอมพ์และอุปกรณ์รายเดิม สามารถนำเอาคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ที่ต้องส่งกลับสำนักงานใหญ่ มาส่งมอบได้ โดยกำหนดเงื่อนไขให้พื้นที่ส่งมอบโครงการกลุ่มที่ 1 ที่เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนเดิม ที่จะต้องจัดหาเครื่องคอมพิวเตร์และอุปกรณ์จำนวน 24 รายการมาทดแทนของเดิม แต่คณะกรรมการไม่มีการกำหนดคุณลักษณะของพัสดุที่จะจัดหาต้องเป็นของใหม่ ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ในขณะพื้นที่ส่งมอบกลุ่มที่ 2 ที่เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนใหม่ กลับกำหนดสเปกระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่จะส่งมอบต้องเป็นของใหม่ ส่อให้เห็นว่าเป็นการกำหนดทีโออาร์ที่เปิดโอกาสให้คู่ค้าเดิม สามารถนำอุปกรณ์ที่ต้องส่งกลับสำนักงานใหญ่หลังหมดสัญญากลับมาทำสัญญาเช่าใหม่ได้

 

“แม้ในข้อกำหนดระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ทื่ต้องส่งมอบในพื้นที่จัดหากลุ่มที่ 1 และ 2 จะมีความแตกต่างกัน แต่หากคณะกรรมการจัดซื้อพิจารณาอย่างรอบคอบย่อมต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการอย่างเคร่งครัด เพราะในเอกสารประกวดราคาหน้าที่ 1 อันเป็นข้อกำหนดหลักที่ผู้เสนอราคาทุกรายต้องปฏิบัติตามได้กำหนดข้อความชัดเจนว่า พัสดุที่จะเช่านี้ต้องเป็นของใหม่ ไม่เคยใช้งานมาก่อน ไม่เป็นของเก่าเก็บอยู่ในสภาพใช้งานได้ทันทีอยู่แล้ว”นายณรงค์กล่าว

 

นายณรงค์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าระหว่างประกวดราคาจัดหาโครงการ หลายภาคส่วนที่มีข้อท้วงติงไปยังเลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลฯ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการประกวดราคาให้ตรวจสอบการดำเนินโครงการนี้อย่างเข้มงวด แต่กลับมีการปล่อยปละละเลย จนมีการประกาศผลการประกวดราคาและลงนามในสัญญากันไป ทำให้มีการนำเอาพัสดุระบบคอมพิเตอร์พร้อมอุปกรณ์เดิมมาส่งมอบ ยังความเสียหายให้แก่ทางราชการ เฉพาะที่คำนวณเป็นตัวเงินมากกว่า 326 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง