วันนี้ผู้เขียนมีโอกาสขับรถออกไปชื่นชมธรรมชาติของความงามของชนบท เมื่อขับรถมาสักระยะหนึ่งผู้เขียนพบกับต้นไม้ที่มีดอกสีสวยสะดุดตาของผู้เขียน ทำให้ย้อนระลึกถึงครั้งเมื่อยังเป็นเด็ก ต้นไม้ที่ว่าคือ ต้นงิ้วครับ “ต้นงิ้ว” เป็นต้นไม้ที่มีลักษณะแปลกว่าต้นไม้ชนิดอื่น ๆ คือลำต้นจะมีหนามแหลม แต่บางชนิดลำต้นไม่มีหนาม (ครับอย่าเพิ่งแปลกใจอันนี้ผู้เขียนก็เพิ่งมาทราบเพราะในระหว่างเก็บภาพสังเกตเห็น) สำหรับความสูงของลำต้นจะสูงประมาณ 15-25 เมตรหรือมากกว่านั้น ความกว้างจะเป็นทรงพุ่มประมาณ 15 เมตรหรือมากกว่านั้น ต้นอ่อนจะสีเขียวอ่อน ต้นแก่จะเป็นสีเขียวเข้มปนน้ำตาล ดอกเท่าที่พบจะมีอยู่ 3 สีด้วยกัน คือ สีแดง สีแสด และสีเหลืองทอง (อันนี้ไม่ค่อยเห็นทั่วไปหายากมาก) แต่สีที่พบมากสุดคือสีแดง ลักษณะดอกจะออกเป็นกระจุกหรือเป็นกลุ่ม ๆ ละประมาณ 3-5 ดอก ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วยสีน้ำตาลเขียว ในแถวพื้นถิ่นภาคเหนือ คนจะนิยมนำดอกงิ้ว (ซึ่งมักจะออกในช่วงประมาณเดือน ธันวาคม-กุมภาพันธ์) ที่ล่วงจากต้นคนก็จะไปเก็บโดยกรรมวิธีที่จะนำมาปรุงเป็นอาหาร (คนภาคเหนือนิยมนำดอกงิ้วมาเป็นส่วนผสมในน้ำขนมจีน) สำหรับวิธีเก็บจะต้องนำดอกงิ้วแกะกระจุกและกลีบดอกออกทิ้ง และรูดเมล็ดเกสรซึ่งอยู่บนส่วนปลายก้านดอกออกให้หมด จากนั้นนำมาตากแดดให้แห้งจนได้ที่ สามารถเก็บใส่ถุงไว้ได้นานหลายเดือน เวลาจะใช้ประกอบอาหารจึงนำมาล้างน้ำให้สะอาดและแช่น้ำเพื่อให้มีความเหนียวและรสชาติดีขึ้น สำหรับสรรพคุณของต้นงิ้วนั้นมีมากมาย (ต้น ดอก ราก ใบ) แต่ในที่นี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพียงบางส่วนที่เกี่ยวกับประโยชน์ของดอก เช่น ดอกแห้งใช้ทำเป็นยาดับพิษไข้ ลดความร้อน ช่วยระงับประสาท ช่วยแก้กระหายน้ำ แก้ท้องเสีย ท้องลง แก้บิดมูกเลือด ขับปัสสาวะ แก้อาการตกเลือด ห้ามเลือด รักษาฝีเปื่อย ฝีหนอง แก้อาการคัน ระงับความปวด แก้อาการฟกซ้ำ ใช้ทาแก้น้ำร้อนลวก เห็นไหมละครับว่าต้นงิ้วมีประโยชน์มากมายกวาที่คิด แต่ที่แน่น ๆ หากท่านเดินทางมาภาคเหนือสิ่งแรกที่ควรจะลิ้มลอง คือ ขนมจีนน้ำเงี้ยวครับ อย่าลืมบอกแม่ค้าให้ใส่ดอกงิ้วเยอ ๆ นะครับ....ขอบอกอร่อยมาก...... เครดิตภาพ ทั้งหมดจากผู้เขียน (ดร.อาบแสงจันทร์ ต.)