มช.เผยผลวิจัย ฉีด แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ เข็ม 3 ในผู้สูงอายุ ภูมิขึ้นสูง ยับยั้งเข้าสู่เซลล์มนุษย์
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ฝ่ายวิจัย ,รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. และ ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มช. ร่วมเปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานวิจัยเพื่อทดสอบค่าภูมิคุ้มกันแอนติบอดีที่ยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัสโควิด-19 (neutralizing antibody, NAb) สายพันธุ์ต่างๆ ในอาสาสมัครบุคลากรทางการแพทย์อายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งไม่มีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ได้ จำนวน 46 ท่าน ที่ได้รับวัคซีนสูตร 3 เข็ม ซึ่งได้แก่ วัคซีนมาตรฐาน 2 เข็มของซิโนแวค และได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตราเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ โดยเปรียบเทียบภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด- 19 สายพันธุ์ต่างๆ ในผู้สูงอายุ ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็ม ก่อนและหลังได้รับการกระตุ้น ด้วยวัคซีน แอสตรา เซเนกา เปรียบเทียบกับวัคซีนไฟเซอร์
ข้อแตกต่างของงานวิจัยชิ้นนี้จากงานวิจัยอื่น คือเป็นการศึกษาเฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยงได้แก่ผู้สูงอายุ และเป็นการทดสอบ Neutralizing antibody (NAb) ไม่ใช่การทดสอบแอนติบอดีต่อโปรตีนหนามหรือต่อ RBD ที่ถูกรายงานมาก่อนหน้านี้ NAb เป็นแอนติบอดีที่มีผลยับยั้งเชื้อโควิด-19 ไม่ให้เข้าเซลล์โดยตรง ทำให้ไวรัสไม่สามารถก่อโรคในคนได้ นอกจากนี้ยังเป็นการทดสอบผลต่อเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ต่างๆ ประกอบด้วย สายพันธุ์ดั้งเดิม สายพันธุ์แอลฟา สายพันธ์เบตา รวมทั้งสายพันธุ์เดลตา ซึ่งกำลังระบาดในประเทศไทยอีกด้วย
“ผลการวิจัย พบว่าในประชากรผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค สูตรมาตรฐาน 2 เข็มมาก่อน เมื่อกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตราเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ เพียง 1 เข็ม สามารถกระตุ้นภูมิให้มีระดับ neutralizing antibody อยู่ในระดับสูงมาก ในการยับยั้งการเข้าสู่เซลล์มนุษย์ ของเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม, สายพันธุ์เดลตา, สายพันธุ์แอลฟา, และสายพันธุ์เบตา ทั้ง 2 วัคซีน โดยพบว่าวัคซีน Sinovac เป็น priming vaccine ที่ดี”