ถ้าจะพูดถึงการทำเหมืองแร่ หรือการแต่งแร่ หลายคนก็คงนึกไปถึงภาพการลงไปขุดแร่ในอุโมงค์ใต้ดิน หรือการร่อนแร่กันริมแม่น้ำลำธาร ซึ่งใช้ทั้งเวลาและดูจะลำบากมาก แต่ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนามากขนาดนี้ ภาพที่ทุกคนจำการทำเหมืองแร่และการแต่งแร่ในอดีตอาจไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ปัจจุบันเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเทคโนโลยีส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับชีวิต ไม่เพียงแต่เพิ่มความง่ายในการใช้ชีวิตประจำวัน แม้แต่ในระบบอุตสาหกรรมซึ่งมีขนาดใหญ่และต้องใช้คนจำนวนมากในการทำงาน เทคโนโลยียิ่งมีความจำเป็นอย่างมากเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมรถยนตร์ที่ในอดีตต้องใช้คนจำนวนมากในการประกอบส่วนต่างๆขึ้นมาเป็นรถยนตร์ 1 คัน แต่ในปัจจุบันเพียงแค่ป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบ เครื่องจักรก็จะทำงานโดยใช้เวลาเพียงไม่นานก็สามารถประกอบรถยนต์ที่มีลักษณะเหมือนกันได้อีกหลายคัน ในเมื่อเครื่องจักรสามารถผลิตรถยนต์ออกมาได้จำนวนมาก แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่ารถยนต์ทุกคันนั้นไม่เกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา ในชีวิตประจำวันก็อาจจะมีโอกาสพบเจอกล่องขนมที่ด้านในว่างเปล่าได้บ่อยๆ แล้วจะมีวิธีไหนที่ช่วยตรวจสอบข้อผิดพลาดเหล่านี้ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพกว่าการใช้คนในการตรวจสอบล่ะ? ซึ่งแน่นอนว่ามีเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำสิ่งเหล่านี้ นั่นคือ Image Processing นั่นเองImage Processing คืออะไร ?ทุกคนคงจะเคยใช้กล้องถ่ายรูปกันใช่มั้ย อย่างน้อยก็คงต้องเคยใช้กล้องถ่ายรูปวิวหรืออาหารในโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยี Image Processing ก็เป็นการใช้ประโยชน์จากกล้องถ่ายรูปทั่วไปนี้เช่นกัน แต่เป็นการนำมาใช้ในกระบวนการที่ซับซ้อนขึ้นมามากกว่าถ่ายภาพวิวทั่วไป โดยหลักการของ Image Processing ก็คล้ายกับดวงตาของเรา ที่มองเห็นสิ่งต่างๆ และใช้สมองประมวลผลแยกว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นคืออะไร ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่สิ่งเล็กๆ เช่น แยกสีอาหาร วัดขนาดของจากกล้องโทรศัพท์ ไปจนถึงระดับอุตสาหกรรม โดยเราจะนำภาพหรือวิดีโอที่ได้จากตัวกล้องมาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ และทำการคัดเลือกวัตถุที่เราสนใจจากภาพเป็นการสอนตัวคอมพิวเตอร์ที่เปรียบเหมือนสมองให้จำว่าวัตถุนั้นคืออะไร และนำภาพวัตถุที่ได้นั้นไปวิเคราะห์ต่อว่าขนาด รูปร่าง และทิศทางการเคลื่อนของวัตถุในภาพนั้นเป็นอย่างไร จากนั้นก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ และสร้างเป็นระบบที่เราต้องการได้ โดยสามารถเชื่อมต่อกับโปรแกรมต่างๆ เช่น Python เพื่อประมวลผล หรือจะให้มีการแจ้งเตือนผลผ่านแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์ เช่น Line แบบ real time ก็ได้เช่นกัน จะเห็นว่าสิ่งที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น การตรวจสอบคุณภาพสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม, การวัดขนาดสิ่งของด้วยกล้องโทรศัพท์ หรือกล้องตรวจจับป้ายทะเบียนรถที่ทำผิดกฎจราจรก็ล้วนใช้เทคโนโลยีนี้ในการทำงาน Image Processing มีส่วนช่วยใน Mining Industry ยังไง ?ในงานเหมืองแร่ Image Processing มีส่วนช่วยอย่างมากที่จะช่วยให้การทำงานนั้นง่ายขึ้น อย่างเช่นในงานเหมืองใต้ดินที่สามารถสื่อสารกันได้ยาก กว่าคนด้านล่างจะทำการเก็บข้อมูลและกลับขึ้นไปที่สำนักงานก็ใช้เวลามาก หากมีการใช้กล้องในการจับภาพ หรือวิดีโอแล้วนำมาประมวลผลในสิ่งที่ต้องการ ก็จะสามารถได้ข้อมูลนั้นแบบ real time และในงานแต่งแร่ จะเห็นได้ว่ามีการใช้เทคโนโลยี Image Processing เป็นตัวช่วยในการประมวลผลในหลากหลายรูปแบบ เช่น ในการตรวจสอบพลาสติกที่ปนมากับทองแดงในอุตสาหกรรมรีไซเคิลสายไฟ หรืออย่างประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยได้ลองใช้กล้องในการจับภาพขนาดของหินก่อนเข้าเครื่องย่อย และสามารถนำขนาดของหินที่ได้ไปประมวลผลต่อผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ เพื่อคำนวณและคาดการณ์ปริมาณไปจนถึงคุณภาพของสินค้าได้ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า Image Processing เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเข้าใจได้ง่าย เนื่องจากกล้องถ่ายรูปนั้นถูกใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน แต่สามารถนำไปปรับใช้เป็นตัวช่วยในการทำงานได้ตั้งแต่ระบบเล็กๆไปจนถึงอุตสาหกรรมที่มีระบบซับซ้อนได้อีกมากมาย ผู้เขียนจึงคิดว่า Image Processing จะสามารถพัฒนาและกลายเป็นตัวช่วยที่สำคัญในอุตสาหกรรมเหมืองและการแต่งแร่ได้ในอนาคตภาพที่ 1 : Ilka Val / Pexels ภาพที่ 2 : Public Domain Pictures / Pixabays ภาพที่ 3 : Robert Owen-Wahl / Pixabay ภาพที่ 4 : Tom Fisk / Pixelsภาพปก : ผู้เขียน เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !