ปลัดสธ.แจงเหตุไม่รวมผลตรวจโควิด RT-PCR กับ ATK ชี้มีระบบบริหารจัดการ-รวมกันไม่ได้
ข่าววันนี้ 24 ก.พ.65 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียริตภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวถึงสาเหตุที่ไม่นำตัวเลขผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จากการตรวจ RT-PCR รวมกับ ATK ซึ่งหากรวมกัน วันนี้จะมีผู้ติดเชื้อทะลุ 5 หมื่นราย ว่า การใช้ชุดตรวจทั้ง 2 ชนิด มีระบบการบริหารจัดการรองรับ ดังนั้น หากตรวจแล้วนำตัวเลขมาบวกกัน ก็อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด เนื่องจากคนที่มีผลบวกจาก RT-PCR ก็มักจะมีผลบวกจาก ATK มาแล้ว
“ขณะที่อย่างเมื่อตอนที่เราสำรวจเชิงรุก ใช้การตรวจ RT-PCR เพื่อยืนยัน แต่ปัจจุบันคนที่จะมีผลบวก ATK ก็จะมีผลบวก RT-PCR เช่น หาก ATK บวก 100 ราย อาจจะมี RT-PCR บวก 10 ราย ดังนั้น จะเอามารวมกันไม่ได้ แต่เราก็ดูแลรักษาตามระบบ หากเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องเข้าโรงพยาบาล (รพ.) เราก็ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำการที่เรามีตัวเลขติดเชื้อรายงานเพราะเรากลัวว่า จะรักษาไม่ไหว
แต่ขณะนี้คนที่เรารักษาไหว คนติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ยังได้รับการดูแล แต่คนไข้ที่ใส่ท่อหายใจประมาณ 700 กว่าคน ใส่ท่อหายใจอีกประมาณพันคน เราต้องโฟกัสตรงนี้ให้มีประสิทธิภาพ ให้อัตราตายต่ำ และดูแลผู้ป่วยหนักให้ดี ส่วนที่ป่วยไม่หนักก็ดูแลตามระบบรักษาไม่ให้ป่วยหนัก
ดังนั้นที่เราเข้าสู่โอมิครอน การรายงานผู้ติดเชื้อไม่ได้มีผลดีที่จะสามารถควบคุมโรคได้ แต่หากเรากลัวการระบาด ก็จะรายงานในจังหวัดที่ระบาดสูง เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะเลี่ยงไปในพื้นที่นั้นๆ” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวก แต่ต้องการตรวจ RT-PCR เพิ่มเติมอีกจะทำอย่างไร ว่า สำหรับการตรวจ ATK เป็นบวก เรามีระบบจัดการได้ เพื่อใช้บริการในระบบรักษาที่บ้านและชุมชน (Home and Community Isolation) ยกเว้นกลุ่มที่มีความเสี่ยง คือกลุ่ม 608 ที่ต้องตรวจ RT-PCR ก่อนเข้ารพ. ขณะที่ค่าใช้จ่ายชุดตรวจ ATK ประมาณ 40-50 บาท ส่วน RT-PCR ครั้งละ 1,000 บาท แต่ความแม่นยำใกล้กัน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ
เมื่อถามถึงความจำเป็นเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ในกลุ่มที่ไม่มีอาการ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ปรับการดูแลรักษา โดยหากไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นไปตามลักษณะของทั่วโลก โดยเราจะจ่ายให้กับผู้ที่มีอาการปานกลางขึ้นไป เป็นไกด์ไลน์ใหม่ของกรมการแพทย์
เมื่อถามถึงผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ แต่อยากได้ยาฟาวิพิราเวียร์ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การจ่ายยาขอให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา และทำความเข้าใจกับคนไข้ ยาคือยา ต่างจากขนม ยารับประทานเข้าไปแล้วก็มีผลดี ผลข้างเคียงและผลเสีย จึงต้องรับประทานที่จำเป็นจริงๆ เราน่าจะเป็นการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์มากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะเราใช้หลายสิบล้านเม็ด แต่ต้องพิจารณาข้อดีข้อเสีย
“เรื่องนี้ไม่ใช่ความยากเพราะเราป่วยไข้ ก็ต้องให้ผู้ที่มีความรู้ดูแลรักษา ที่มีมาตรฐานอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ได้งดว่าไม่ให้เลย” ปลัดสธ. กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์