รีเซต

16-19 ต.ค. 'เตือน 49 จว.' ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก

16-19 ต.ค. 'เตือน 49 จว.' ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก
มติชน
16 ตุลาคม 2563 ( 10:02 )
59
16-19 ต.ค. 'เตือน 49 จว.' ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า เวลา 09.20 น. วันที่ 16 ตุลาคม ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี ประกาศเตือน 49 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน – น้ำป่าไหลหลากช่วงวันที่ 16 – 19 ตุลาคม ตามการแจ้งของ กอปภ.ก.

 

โดยระบุว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 49 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 16 – 19 ตุลาคม 2563 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

 

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาพอากาศ ปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ และปริมาณฝนสะสมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชัน (ระดับ 2) กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืออย่างช้า ๆ คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน (ระดับ 3) และมีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 17 – 18 ตุลาคม 2563 ประกอบกับร่องมรสุมกำลังแรงที่พาดผ่านภาคกลาง ภาคใต้ตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยยังคงมีกำลังแรง ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่กับมีลมแรง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสาน 49 จังหวัดเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 16 – 19 ตุลาคม 2563 ดังนี้

 

ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ และอุทัยธานี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ

 

ภาคกลางและภาคตะวันออก 25 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ลพบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสงคราม นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

 

ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

รวมถึง สั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน พร้อมวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ริมแม่น้ำลำคลอง และที่ลาดเชิงเขา ที่อาจได้รับผลกระทบ อีกทั้งจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที ตลอดจนประสานหน่วยงานในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์ภัยและแนวทางการปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยผ่านทุกช่องทาง ทั้งสื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอเตือนภัย และหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด เพื่อพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย ที่อาจเกิดขึ้น สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง