รีเซต

4 เสืออาเซียน เปิดศึก ชิงบัลลังก์ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ไทยถอดโมเดลมังกร?

4 เสืออาเซียน เปิดศึก ชิงบัลลังก์ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ไทยถอดโมเดลมังกร?
TNN ช่อง16
11 มิถุนายน 2564 ( 11:11 )
133
4 เสืออาเซียน เปิดศึก ชิงบัลลังก์ “ยานยนต์ไฟฟ้า” ไทยถอดโมเดลมังกร?

เมกะเทรนด์ของโลกขณะนี้ คงไม่มีใครปฎิเสธว่ามี ยานยนต์ไฟฟ้า เป็น 1 ในนั้น เพราะนอกจากจะเป็นเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตแล้ว ยังตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมด้วย 

 

แน่นอนว่า ยุโรป สหรัฐ รวมถึงเอเชีย นำไปมากแล้ว แต่ในอาเซียนตอนนี้ยังขับเคี่ยวกัน เป็นฐานการผลิต EV ในภูมิภาค 4 ประเทศที่ขึ้นมาในลิสของเอเชีย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซียและเวียดนาม ที่กำลังมาแรง ใครจะมาวินในเกมนี้ วันนี้รายการเศรษฐกิจ Insight นำข้อมูลมาให้ผู้ชมคิดร่วมกัน

กราฟฟิค 1 ยอดขาย EV พุ่งสวนทางตลาดรถยนต์โลก

 

เริ่มที่ภาพใหญ่ อย่างความต้องการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV ทั่วโลก มีการเปิดเผยจาก ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA  ระบุว่า ปี 2020 มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าถูกจดทะเบียนใหม่ประมาณ 3 ล้านคัน ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และเพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับปี 2019 ซึ่งสวนทางกับตลาดรถยนต์ของโลก 

 

สวนทางยอดขายรถยนต์ทั่วโลกที่ติดลบถึง 16% มียอดขาย 77.6 ล้านคัน  จากปี 2019 ที่มียอดขายทั่วโลก 91.7 ล้านคัน  เท่ากับสัดส่วนแล้ว ก็ยังค่อนข้างแตกต่างกันมาก ในปี 2019 EV คิดเป็นสัดส่วน 2.29% ของยอดขายรถยนต์รวมในตลาดโลก และปี 2020 เพิ่มขึ้นมาก 3.87% แต่ดูจากเทรนแล้ว แน่นอนว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะมาแทนรถยนต์ที่มาจากการสันดาปภายใน หรือใช้น้ำมันในอนาคตค่อนข้างแน่นอน 

 

 

และ IEA ยังประเมินทิศทาง EV ทั่วโลก ภายในปี 2030 จะมีทั้งรถยนต์นั่ง รถบรรทุก รถตู้ และรถโดยสาร ทั้งหมด 145 ล้านคัน ที่น่าสนใจและอยู่ในโฟกัสของเราวันนี้ คือ รถยนต์นั่ง IEA ประเมิน เอาไว้ 2 กรณี คือ กรณีฐาน อีก 4 ปี หรือ ในปี 2025 ทั่วโลกจะมียอดขายรถยนต์นั่ง EV เพิ่มเป็น 13 ล้านคัน จากปีที่ผ่านมา 3 ล้านคัน คิดเป็นประมาณ 10% ของยอดขายทั้งหมด และปี 2030 จะเพิ่มเป็น 17% อยู่ที่ 25 ล้านคัน 

 

ส่วนกรณีที่ นโยบายของหลายประเทศ ดำเนินตามแนวทางของข้อตกลงปารีส ที่ต้องการลดการปลอ่ยก๊าวเรือนกระจก หรือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ปริมาณยอดขายรถยนต์ EV จะเพิ่มขึ้นจากกรณีฐาน คือ ในปี 2025 ยอดขายแตะ 20 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วน 15% ของยอดขายรวม และเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 45 ล้านคัน ในปี 2030 คิดเป็น 35% 

 

 

เมื่อ EV คือ เมกะเทรนด์ของโลก แน่นอนว่ายุโรป และสหรัฐฯ คืบหน้าไปมากแล้ว รวมไปถึงเอเชีย ซึ่งนำโดยจีนเป็นหัวหอกสำคัญ แน่นอนว่าแบรนด์ EV ระดับโลก ต้องขยายฐานการลงทุนไปเจาะตลาดทั่วโลก รวมถึงในอาเซียน ต้องมีการตั้งฐานการผลิต เพื่อส่งไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมถึงภูมิภาคใกล้เคียง คำถามคือ ประเทศใดที่อยู่ในสปอตไลท์ของการลงทุนครั้งนี้ 

 

4 เสือในอาเซียน ที่ศักยภาพสูง และ Eco System เอื้อให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน หนีไม่พ้น 4 ประเทศนี้ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม รวมถึงประเทศไทย 

 

ประเทศอินโดนีเซีย ดูเหมือนจะมีข้อได้เปรียบประเทศอื่นอยู่มาก เนื่องจากครอบครองแร่นิกเกิล 1 ใน 4 ของโลก แร่นิกเกิล  ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นหัวใจของ EV จึงไม่แปลกที่รัฐบาลอินโดนีเซีย ตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ของอาเซียน  ชื่อบิ๊กเนมผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อย่าง เทสล่า ฮุนได และแอลจี เข้าไปลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในอินโดนีเซีย นอกจากวัตถุดิบที่มีรองรับปริมาณการผลิตแล้ว ปริมาณประชากรในอินโดนีเซีย 270 ล้านคน นี่คือตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่สำคัญ รัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนจะจำหน่าย EV ในประเทศให้ได้ 20% ของยอดจำหน่ายทั้งหมด ภายในปี 2025 

 

ประเทศมาเลเซีย แน่นอนนี่คือ ประเทศที่มีรายได้ประชาชาติ หรือ รายได้ต่อหัวของชาวมาเลเซีย สูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์ เท่ากำลังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง พร้อมจะเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม 

 

ประเทศเวียดนาม แม้จะมีฐานการผลิตรถยนต์เทียบกับอีก 3 เสือไม่ได้ แต่เวียดนามมี Vinfast แบรนด์ EV สัญชาติเวียดนามนี่เป็นหัวหอกสำคัญ ที่จะพาเวียดนามลุยตลาด EV โลก ซึ่งทั้งมาเลเซีย และเวียดนาม ยังไม่มีแผน EV แห่งชาติชัดเจนแต่อย่างใด

 

และประเทศไทย ต้องบอกว่า ตอนนี้เรายืนเหนือทั้ง 3 เสือ EV อาเซียนอยู่ แต่ก็ต้องไม่ประมาท สาเหตุที่ยืนเหนือเพราะตลาดในประเทศเรา แม้จะมีประชากรไม่มาก แต่กำลังซื้อถึง 1 ล้านคัน ในภาวะปกติ และปริมาณการส่งออกราวๆ 1 ล้านคัน ทำให้ฐานการผลิตอยู่ที่ราวๆ 2 ล้านคัน แม้ในปีที่ผ่านมา ยอดขายร่วงลงเหลือ 1.4 ล้านคัน แต่ก็ยังเกาะอยู่อันดับ 11 ฐานการผลิตรถยนต์ของโลก นี่ทำให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับผลิตรถยนต์ในระดับโลก

 

 

ลองดูรายชื่อประเทศฐานผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก ทำให้เห็นว่า ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่ 17-31% ยกเว้นประเทศจีน ที่ได้รับผลกระทบ 2% โดยปีที่ผ่านมา จีน ยังยืน 1 ฐานผลิตรถยนต์โลก ด้วยการผลิต 25 ล้านคัน และส่วนใหญ่เป็นการขายในประเทศกว่า 24 ล้านคัน 

 

ตามด้วยอันดับ 2 สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากโควิด ติดลบ 19% ยอดผลิต 8.8 ล้านคัน จากปีที่ผ่านมาผลิต 10 ล้านคัน / อันดับ 3 ประเทศญี่ปุ่น ยอดผลิต 8 ล้านคัน ติดลบไป 17% / อันดับ 4 เยอรมัน 3.7 ล้านคัน ติดลบ 24% และอันดับ 5 อินเดีย 3.3 ล้านคัน ติดลบ 25% โดย 5 อันดับแรกเรียกว่า แม้โควิด-19 ทุบตลาดไปมาก แต่ไม่กระทบอันดับ ยังครองอันดับเดิมได้ทั้งหมด 

 

 

ขณะที่ อันดับ 5-10 น่าสนใจ เพราะมีการเปลี่ยนอันดับกันทั้งหมด อย่าง อันดับ 5 เกาหลีใต้ ขยับขึ้นมาจากอันดับ 7 มีการผลิตอยู่ที่ 3.5 ล้านคัน ในปี 2020 ติดลบ 11%  / เม็กซิโก ถูกเกาหลีใต้แซงขึ้นไป ร่วงลงมาอยู่อันดับ 7 ด้วยยอดการผลิตทั้งหมด 3.1 ล้านคัน ติดลบ 21% / สเปน จากอันดับ 9 ในปี 2019 ขึ้นมาอยู่อันดับ 8 ในปี 2020 ด้วยยอดการผลิต 2.2 ล้านคัน ติดลบไป 20%  / ส่วนบราซิล ถูกสเปนแซง ร่วงลงมาอยู่อันดับ 9 จากอันดับ 8 ในปีที่ผ่านมา ยอดการผลิต 2 ล้านคัน ติดลบไปถึง 32% / อันดับ 10 รัสเซีย ขึ้นมาจากอันดับ 13 ในปี 2019 ด้วยยอดผลิต 1.4 ล้านคัน ติดลบไป 17% และอันดับ ที่ 11 ของโลก ประเทศไทย ยอดผลิตน้อยกว่ารัสเซียไม่ถึง 1 หมื่นคัน อยู่ที่ 1.4 ล้านคัน ติดลบ 29% แต่ต้องบอกว่า นี่คือบุญเก่าที่เรามีความพร้อม อยู่แล้ว จนทำให้ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ เข้ามาตั้งฐานผลิตในบ้านเราเป็นจำนวนมาก

กราฟฟิก 6 บอร์ด EV แห่งชาติ เคาะแผน 30/30 

 

เราลองไปดูนโยบายแห่งอนาคต EV ของไทย ก็ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างมาก โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน คลอดแผน EV ที่มีชื่อว่า 30/30 หรือ ว่าง่ายๆ คือ เป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก ภายในปี 2030 จะต้องมีการผลิตรถยนต์ EV ในประเทศ 30%

 

โดยแผนดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1 ระยะเร่งด่วน ภายในปีหน้าจะต้องมีการส่งเสริมการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น ระยะนี้ ยังไม่มีตัวเลขชัดเจน 

 

ขณะที่ระยะที่ 2 จะมีเป้าเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ภายในปี 2025 จะต้องมีการใช้ หรือ การจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถยนต์นั่ง และรถกระบะ รวมกัน 225,000 คัน / รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน / รถบัส/บรรทุก 18,000 คัน  

 

และรถยะที่ 3 ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จอย่างแท้จริง คือต้องผลิต EV ให้ได้ 30% ของยอดผลิตทั้งหมด และใช้ในประเทศ หรือ ยอดขายในประเทศต้องถึง 50% โดยเป็นรถยนต์นั่ง/กระบะ 725,000 คัน และ จักรยานยนต์ 675,000 คัน 

 

ระยะที่ 4 คือ เป้าหมายสูงสุด ซึ่งบอร์ด EV ตั้งเอาไว้ก่อนหน้า ภายในปี 2035 จะต้องผลิต EV ให้ได้ 50% และมียอดขายในประเทศ 100% ของรถยนต์ทั้งหมดในตลาด

 

เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้ว หลังจากนี้ต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่จะให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเคลื่อนไปเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลก 

 

 

จึงมีการพูดถึง 2 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่ประเทศจีนใช้ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ระดับโลก ซึ่งจีนทำให้เห็นแล้วในหลายอุตสาหกรรม จีนเริ่มจากการเป็นประเทศรับจ้างผลิต หรือ OEM จากต่างประเทศ สหรัฐ ยุโรป เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศจีน จนเกิดการเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ และเทคโนโลยี และก้าวขึ้นมาสร้างแบรนด์ของตนเอง แข่งขันในเวทีโลก 

 

เช่น อุตสาหกรรม สมาร์ทโฟน จะเห็นว่า Top ของโลก อันดับ 1 คือ ซัมซุง ไม่ต้องสงสัย เพราะครอบคลุมทุกตลาดสมาร์ทโฟน อันดับ 2 โลกที่เคยมีชื่อ Apple ซึ่งชิ้นส่วน และประกอบในประเทศจีน กลับถูกล้มด้วย Huawei และที่สำคัญ ยังมีแบรนด์แกร่งจากจีน ในระดับทอปของโลก อย่าง Xiaomi และ OPPO

 

 

ส่วนอุตสาหกรรม EV จีนเองก็ทยานขึ้นไประดับ TOP 5 ของโลกแล้ว แม้จะเป็นรองอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน ที่มี 3 แบรนด์ โดยค่าย EV สัญชาติจีน 2 แบรนด์ ติด TOP 5 ยอดขายสูงสุดในปี 2020 ไล่ดูอันดับแรกก่อน ไม่ต้องสงสัย Tesla นำโด่งยอดขายเกือบ 5 แสนตัน 

 

ตามมาด้วย Volkswagen สัญชาติเยอรมัน 2.2 แสนคัน อันดับ 3 ถ้าใครไม่ได้ติดตามตลาดรถยนต์ช่วง 1-2 ปีมานี้ อาจไม่คุ้นแบรนด์ BYD ต้องบอกว่านี่คือ แบรนด์จากจีน ที่ขึ้น TOP 3 แบรนด์โลกได้อย่างรวดเร็ว 

 

อันดับ 4  คือ SGMW นี่เป็นค่ายสัญชาติจีนซึ่งร่วมทุน 3 บริษัท คือ S= เซี่ยงไฮ้ ออโตโมบิล อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น , GM เจอเนอรัลมอเตอร์ ค่ายรถยนต์จากสหรัฐ และ W คือ อู่หลิง ออโตโมบิล Wuling Automobile  

 

และอันดับที่ 5 อีก 1 ค่ายรถยนต์เก่าแก่สัญชาติเยอรมัน อย่าง BMW 

การเปลี่ยนผ่านทุกอุตสาหกรรมนับเป็นเรื่องยาก แต่หากรัฐบาลชัดเจนในการผลักดัน และแนวทาง ก็จะทำให้ภาคเอกชนเดินหน้าได้เหมือนมีเข็มทิศ และเมื่อเดินในทิศทางเดียวกันก็จะเกิดพลัง คำถามหลังจากนี้คือ ไทยพร้อมหรือยัง สำหรับการสร้างแบรด์รถยนต์ โดยเฉพาะ EV ไปแข่ง อาจยังไม่ต้องถึงตลาดโลก นำร่องระดับภูมิภาคได้หรือไม่ ยังคงต้องลุ้นต่อไป

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง