เวลาคุณยายไปทำบุญจะมีหลานสาวตัวน้อยติดตามด้วยทุกครั้ง มีคนสงสัยเคยถามว่า ทำไมเอาหลานไปด้วย คุณยายก็จะตอบว่า ต้องการให้หลานได้ซึมซับงานประเพณีต่าง ๆ หรือเรียกง่าย ๆ ไปศึกษาเรียนรู้นอกสถานที่จากของจริงนั่นเอง คราวนี้เพื่อนบ้านทำบุญแจกข้าว คุณยายเล่าให้หลานฟังว่า เมื่อบ้านใครมีงานบุญ ก็จะเชิญคนในหมู่บ้านไปร่วมงานทุกครัวเรือน ซึ่งถือเป็นประเพณีสืบทอดกันมาอย่างยาวนานบุญแจกข้าวเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นญาติสนิทในครอบครัวของเรา เช่น บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย เป็นต้น ปกติจะทำบุญอุทิศให้ตามความเหมาะสมของเจ้าภาพ บางทีก็ทำหลังฌาปนกิจศพเลย หรืออาจทำบุญหลังจากถึงแก่กรรมแล้วประมาณ 1-3 ปี หรือมากกว่านั้นเชื่อกันว่าหากบุคคลใดเมื่อตายไปแล้วไม่มีใครทำบุญแจกข้าวให้ บุคคลนั้นจะต้องได้รับความอดอยากและไม่ไปผุดไปเกิด วิญญาณจะคงวนเวียนคอยหาข้าวแจกอยู่นั่นเอง บางครอบครัวถ้ามีผู้ถึงแก่กรรมมากกว่าหนึ่งก็จะทำบุญรวมกันเลย มีลูกหลานอุปสมบทอุทิศส่วนบุญกุศลในคราวเดียวกันเมื่อกำหนดงานบุญแล้ว มีการบอกญาติพี่น้องทุกคนและผู้ที่รักใคร่นับถือในหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อจะได้มาร่วมทำบุญโดยพร้อมเพรียงกัน ก่อนวันงานมีการกางเต้นท์หลายหลังไว้รับรองแขกที่มาร่วมงาน และจัดเตรียมของที่สำหรับทำบุญ เพื่อนบ้านก็มาช่วยห่อข้าวต้มมัด เพื่อไว้เลี้ยงแขกในวันงาน ส่วนกองบุญชาวบ้านจะเอาหมอนและข้าวสารมาร่วมทำบุญด้วยหลังเสร็จงาน ข้าวของทั้งหมดจะเอาไปถวายวัด เราจะจัดเตรียมข้าวของให้ครบ เหมือนขึ้นบ้านใหม่เชื่อว่า ข้าวของพวกนี้จะให้ผู้ตายเอาไปใช้บนสวรรค์พอถึงวันงาน ตอนเช้าจะมีการเลี้ยงญาติพี่น้องที่ได้รับเชิญจนอิ่มหนำสำราญ แต่บางคนติดภารกิจก็จะมาช่วยแบบถือถุงกลับไปกินที่บ้าน ทางเจ้าภาพก็เตรียมอาหารใส่ไว้เป็นชุด ๆ ในการทำบุญแจกข้าวจะแตกต่างจากงานอื่นคือ ถึงแม้ว่าแขกที่มาช่วยงานจะนั่งกินที่งานแล้ว เวลากลับบ้านทางเจ้าภาพก็จัดอาหารเป็นชุด ๆ ไว้ให้ห่อใส่ถุงกลับบ้านอีกด้วย หลังถวายอาหารเพลพระภิกษุแล้วก็นิมนต์พระนักเทศน์ มาเทศนาสั่งสอนญาติโยมที่มาร่วมงาน และเมื่อฟังเทศน์เสร็จก็จะเลี้ยงอาหารกลางวันด้วย ตอนเย็นมีการฟังพระสวดมนต์เย็นอีกครั้งหนึ่ง และเลี้ยงอาหารเย็นผู้มาร่วมงาน จากนั้นเป็นการแสดงของมหรสพสมโภชตลอดคืน ซึ่งเจ้าภาพได้ว่าจ้างมาแสดง เช่น หมอลำ เป็นต้น ผู้ชมต่างสนุกสนาน ดีนะคืนนี้ไม่มีวัยรุ่นตีกัน เพราะมีหน่วยรักษาความปลอดภัยเข้มแข็ง ตอนเช้าถวายภัตตาหารและเครื่องไทยทานแต่พระภิกษุสงฆ์ โดยนิมนต์มาที่บ้านของเจ้าภาพ มีพิธีถวายผ้าบังสุกุลเสร็จแล้วรับพรจากพระ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย ของที่เป็นกองบุญทั้งหมดก็นำไปถวายวัด และเลี้ยงอาหารแก่ผู้มาร่วมงานอีกครั้งหนึ่งเป็นเสร็จพิธี งานนี้อิ่มบุญกันทุกคน จบงานนี้หลานของคุณยายได้เรียนรู้หลายอย่าง และรู้จักช่วยงานด้วยนะ เช่น ช่วยเช็ดโต๊ะ เช็ดใบตอง อะไรพอทำได้ก็จะรีบช่วยโดยไม่มีใครบอก การได้เรียนรู้จากแหล่งปฏิบัติจริงจะทำให้จดจำได้ไม่ลืมเลือน และเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้ลูกหลานด้วย ภาพโดย RatC. (ผู้เขียน)